สสส. จับมือภาคี ระดมสมองเปิดมุมมอง “ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย” ชูกิจกรรมทางกาย 3 รูปแบบ เล่นสนุกผ่อนคลาย-เล่นเสริมทักษะตามวัย-เล่นสร้างความแข็งแรง เสริมโภชนาการสมวัย ช่วยพัฒนาการสมบูรณ์รอบด้าน ร่างกาย-จิตใจ-อารมณ์-สังคม-การเรียนรู้ หลังสำรวจพบเด็กมีกิจกรรมทางกายลดลงกว่า 60%
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าว “New Normal for Thai Children ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย” ภายใต้โครงการกิจกรรมส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายกลุ่มวัยเด็กในสถานศึกษา (Active Play Active School) พร้อมเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะบนชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย”
นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติด้านสุขภาพที่ต้องปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากแนวปฏิบัติที่คุ้นเคย กระทบต่อระบบการศึกษาที่ต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียน “กลุ่มเด็ก” จึงใช้เวลาหน้าจอมากขึ้นทั้งการเรียน และเล่นเกมออนไลน์ ส่งผลให้มีกิจกรรมทางกายเพียงพอในอัตราที่ลดลง เป็นที่ทราบกันดีว่าการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ทำให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อสู้กับ โควิด-19 ทั้งยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันพร้อมรับมือกับการคุกคามของโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการเอง ด้วยความห่วงใยในสุขภาพของเด็กนักเรียน และเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ปกครองจึงออกมาตรการ เพื่อให้โรงเรียนนำไปใช้ปฏิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงเพิ่มปัจจัยเสริมให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี เพื่อรองรับการปรับตัวของเด็ก ๆ ในการเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้ ซึ่งสอดรับกับบทบาทของ สสส. ในการกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพในชีวิตวิถีใหม่
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผลการสำรวจข้อมูลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพของประชากรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย สสส. และสถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย ใน 2 มิติ คือ มิติเชิงบวก พบว่า มีเด็ก ร้อยละ 11.6 ที่มีโอกาสในการเล่น ออกแรงเคลื่อนไหว และมีกิจกรรมทางกายมากขึ้นกว่าในช่วงปกติ ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากการที่ผู้ปกครองได้ทำงานจาก ที่บ้าน ทำให้มีเวลาที่จะร่วมเล่น และ ทำกิจกรรมกับบุตรหลาน มิติเชิงลบพบว่า มีเด็ก ร้อยละ 61.6 มีกิจกรรมทางกายที่ลดลง ขณะที่มีช่วงเวลาของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หน้าจอเพื่อความบันเทิง เพิ่มสูงขึ้น เป็น 4 ชั่วโมงกว่า ต่อวัน จากสถานการณ์ในมิตินี้ มีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะจากเดิมเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าข้อแนะนำมาตรฐานกว่า 1 ชั่วโมงอยู่แล้ว สสส. จึงมุ่งหวังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกันส่งเสริมให้ชีวิตวิถีใหม่ของเด็ก และเยาวชนไทยมีสุขภาวะที่ดี ผ่านการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสูงขึ้นอีกร้อยละ 10
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กล่าวว่า การกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการส่งเสริมกิจกรรม ทางกายอย่างเหมาะสม พร้อมกับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายอย่างมีสุขภาวะในมิติของการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตวิถีใหม่ นอกจากจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพ ให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถป้องกันหรือต่อสู้กับโรคภัยแล้ว ยังเป็นแนวทางการลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคได้เป็นอย่างดี และจะเป็นการลดโอกาสการกลับมาระบาดซ้ำของโรคโควิด-19
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า การมีสุขภาวะที่ดีในช่วงวัยเด็ก ถือเป็นรากฐานสำคัญที่สุดที่จะนำพาอนาคตที่สดใสมาให้พวกเขาได้ การเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ผ่านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ของเด็ก ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องร่วมมือกัน จากสถานการณ์ปัจจุบัน “กลุ่มเด็ก” มีกิจกรรมทางกายลดลง และมีการเลือกรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง แต่คุณค่าทางโภชนาการต่ำ เป็นสาเหตุให้เกิดความเสี่ยง เช่น น้ำหนักตัวเกิน โรคอ้วน ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ พัฒนาการล่าช้า ส่งผลต่อการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือผู้ดูแลเด็ก เพื่อช่วยกันส่งเสริมให้เด็กไทยมีสุขภาวะที่ดี ด้วยการจัดอาหารให้เด็กได้รับประทานอย่างมีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ กินผัก ผลไม้ให้เพียงพอ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และให้ดื่มนมจืดอย่างน้อย 2 กล่องต่อวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตตามช่วงวัย และการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน ผ่านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 3 รูปแบบคือ 1. การเล่นเพื่อความสนุกสนานและผ่อนคลาย 2. การเล่นเพื่อเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ตามช่วงวัย และ 3.กิจกรรมทางกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ดำเนินรายการโดย นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.
ทั้งนี้ ช่วงบ่ายมีการเสวนา “เจาะลึกกิจกรรมทางกายของเด็กไทยบนชีวิตวิถีใหม่” โดย ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของเด็กไทย เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ สร้างความสุขและความสนุกสนานให้กับเด็กๆ บนชีวิตวิถีใหม่ ผ่าน “คู่มือ การเรียนรู้ 3 มิติ เล่น-เรียน-รู้” ที่จะช่วยให้ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็ก จัดกิจกรรมให้เด็กในช่วงอยู่ที่บ้านโดยมี “ตารางการเรียนรู้ 3 มิติ” เป็นเครื่องมือเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ในช่วงเวลาทองของแต่ละวัน โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะไม่ได้จำกัดอยู่ในแง่ของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้เท่านั้น แต่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และการรู้คิดของเด็กอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย
พร้อมกันนี้ยังมีคณะผู้ทรงคุณวุฒินำโดย ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 และประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดี ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวณัฐนรี กระบวนรัตน์ อาจารย์ประจำโรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว และสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน โดยสามารถรับชมการเสวนาผ่าน Live ทาง FB : สสส. : ThaiHealth