เศรษฐกิจปีนี้มีเสียงเตือนมาก่อนแล้วว่า "เผาจริง" ใครมีเงินให้เก็บ ชอบเที่ยวให้ลด กระทั่งไวรัสระบาดเข้ามาแบบไม่คาดคิด ทำให้เสียงเตือนดังขึ้น และชัดขึ้น เพราะเมื่อโควิด-19 ลุกลามและคร่าชีวิตไปกว่าแสนคนทั่วโลก กระทบทั้งเศรษฐกิจ การงาน การใช้ชีวิต ทำเอาหลายคนโซซัดโซเซ หลายประเทศต้องเหน็ดเหนื่อยป้องกัน หาทางแก้ไขควบคู่กับการเยียวยาต่างๆ
"ว่างงาน สงครามการค้า วิกฤตราคาน้ำมัน ตลาดทุน ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ" คือสถานการณ์ที่โลกต้องเผชิญหลังวิกฤตไวรัสร้าย ผ่านเสียงเตือนของ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หนึ่งในวิทยากรจากงานเสวนาทิศทางประเทศไทย : ฝ่าวิกฤตโควิด-19 สู่ชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้
แน่นอนว่า ทุกประเทศต้องเร่งแก้ปัญหาจากผลกระทบโดยทุ่มใช้เงินอย่างมหาศาล การทุ่มเงินแก้ปัญหาจะก่อให้เกิดหนี้สาธารณะ นั่นหมายความว่า ภาระรายจ่ายทางการคลังจะมากขึ้น และการเก็บภาษีอาจจะมากขึ้นตามไปด้วย แต่ที่น่ากังวลคือ ถ้าวิกฤตยิ่งแย่ มีการติดเชื้อรอบ 2 อาจทำให้เศรษฐกิจต้องปิดตัวนานขึ้น และต้องใช้งบประมาณเยียวยามากขึ้น
"มีพยากรณ์หลายแหล่งคาดว่าประเทศไทยจะกลับมาสู่ภาวะปกติในไตรมาสแรกของปี 64 ส่วนการว่างงานคาดว่า ไทยจะมีคนว่างงานถึง 7 ล้านคน ตอนนี้เราว่างงานกันอยู่ 3 แสนคน ไม่เคยมีการว่างงานแบบนี้มาก่อน" ดร.วรากรณ์เผยสิ่งที่อาจต้องเจอหลังวิกฤต ก่อนชี้ทางรอด ไม่อดตาย หากเข้าใจชีวิตวิถีใหม่ มีสติการใช้จ่าย เก็บออม ไม่หยุดพัฒนาทักษะความรู้ใหม่ๆ
"เราต้องปรับแนวคิดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ยอมรับปรากฎการณ์ว่า ความเจ็บป่วยนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ดังนั้นเราจะอยู่ในโลกใหม่ได้ ต้องพัฒนาทักษะของตัวเอง เช่น ผมขับรถบรรทุก ตอนนี้มันเป็นระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าผมไม่พยายามข้ามช่องวางดิจิทัลออกมา ผมก็ไม่สามารถขับได้ หรือผมขับแท็กซี่ แต่ผมไม่สามารถอ่านภาษาอังกฤษ หรือดูแผนที่ได้ ผมก็ไม่สามารถเป็นสมาชิกของแกร็บ หรืออูเบอร์ได้ ซึ่งเราต้องบูรณาการเทคโนโลยีให้เข้ากับชีวิต ทั้งเรื่องการทำงาน การใช้ชีวิต
นอกจากนั้น ค่านิยมที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ การดำเนินชีวิตด้วยความรอบคอบมากขึ้น เห็นความสำคัญของเงินออม และที่สำคัญคือ การดูแลสุขภาพของตัวเอง เรื่องหน้ากากยังเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวัน" ดร.วรากรณ์ บอก และเผยถึงก้าวต่อไปที่ภาครัฐต้องแก้วิกฤตคือ ไม่มุ่งเฉพาะการเยียวยา ควรปรับคุณภาพแรงงานให้มีการพัฒนาทักษะพร้อมกับโลกยุคใหม่ด้วย
ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกกว่า 5 ล้านคนแล้ว แม้ตัวเลขในไทยลดลงจนบางวันพบเป็นศูนย์ แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะการระบาดของโรคนี้ไม่ใช่หนังสั้นที่จะจบกันง่ายๆ แต่เป็นหนังยาวที่ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าจะกินเวลา 12-18 เดือนเป็นอย่างน้อย หรือจนกว่าจะมีวัคซีนและภูมิต้านทานธรรมชาติ
ดังนั้น การสร้างบรรทัดฐานใหม่ "New Normal" จะต้องเปลี่ยนค่านิยมระยะยาว โดยคำนึงถึง 5 S เริ่มจาก 1. Safety ความปลอดภัยต้องมาก่อน อย่าหยุดปฏิบัติ ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่ช่วยชะลอการระบาดของโรคโควิด-19 แต่รวมถึงไข้หวัดใหญ่ที่จะระบาดในช่วงหน้าฝนนี้ด้วย 2. Small ทำให้เล็กลง เช่น งานแต่งงาน งานวัดเกิด จัดให้พอดี เชิญคนให้น้อย ซึ่งภาครัฐต้องเป็นตัวอย่างที่ดี 3. Save resources ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 4. Social justice คำนึงถึงส่วนรวม และลดความเหลื่อมล้ำ และ 5.Spiritual dimension คุณค่าด้านจิตวิญญาณ
"ตอนนี้เรากำลังผ่อนปรน มีคนถามผมว่า เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวกังวลไหม ไม่กังวล เปิดห้างสรรพสินค้ากังวลไหม ไม่กังวล ผมกังวลอยู่อย่างเดียวคือ การผ่อนปรนระยะที่ 4 ในกลุ่มสีแดงคือ สถานบันเทิงต่างๆ รัฐบาลต้องคิดให้หนัก ส่วนตัวมองว่าเราต้องคุย และหาทางช่วยเหลือคนที่อยู่ในธุรกิจสถานบันเทิง บอกเขาตรงๆ ว่าเปิดให้คุณไม่ได้ คุณต้องยอมรับ เพราะถ้าเปิด ผมมองว่าเราจะเจอเหตุการณ์แบบเกาหลีอย่างแน่นอน เพราะสถานที่ดังกล่าวไม่สามารถเว้นระยะห่าง หรือใส่หน้ากากอนามัย ส่วนโรงเรียน เราจะเปิดต้นก.ค. กังวลไหม กังวล แต่ต้องเปิดเพื่อให้เด็กได้เรียนหนังสือ" นพ.คำนวณเผย
อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งทางรอดจากวิกฤต คือ การพึ่งตัวเอง หรือ พึ่งตนเพื่อชาติ ความสำคัญนี้ วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า เมื่อเกิดวิกฤติ อย่าไปรอการช่วยเหลือจากใคร เราต้องเป็นคนกำหนดแผนชีวิตของตัวเอง ต้องพึ่งพาตัวเอง รู้จักนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ได้ รู้จักผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงตัวเอง ครอบครัว ส่วนในระดับชุมชน หมู่บ้าน ควรมีคลังพันธุ์พืชของตนเอง และหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ นอกจากนั้นควรจัดตั้งองค์กรเกษตรกรเข้มแข็ง สร้างเครือข่ายช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน มีโรงเรียนเกษตรกร มีศูนย์ฝึกหมู่บ้าน เพื่อลดการพึ่งพาของรัฐ ส่วนสังคมเมืองควรปรับพื้นที่ที่จำกัดให้สามารถปลูกพืชผักที่สามารถนำมาพึ่งพาตัวเองได้ด้วย
สอดรับกับความตื่นตัวของคนทุกวันนี้ หลายบ้าน หลายชุมชน ตระหนักถึงความสำคัญของการกลับมาพึ่งตนเองมากขึ้น เช่น ปลูกผักสำรอง สร้างอาหารสำรอง โดยใช้พื้นที่ว่างไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า ระเบียง สวนหลังบ้าน ข้างบ้าน หรือที่ว่างในพื้นที่ชุมชน สำนักงานต่างๆ ซึ่งนอกจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในยุคข้าวยากหมากแพงแล้ว ยังป้องกันปัญหาความหิวโหยในช่วงวิกฤตสงครามอีกด้วย อย่างน้อยๆ หากวันหนึ่งสินค้าในระบบอุตสาหกรรมขาดแคลน ก็ยังมีแหล่งอาหารเพียงพอไว้กินในบ้าน หรือชุมชนของตัวเอง
ส่วนทางรอดด้านสุขภาพ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เน้นย้ำการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อการป้องกันในอนาคตเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการป้องกันโรคระบาด เริ่มจากระดับบุคคล เน้นรักษาความสะอาดร่างกาย การกิน การสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง และลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า รวมถึงการมีกิจกรรมทางกาย การบริโภคอาหาร และพฤติกรรมเพื่อสุขภาพอื่นๆ
เช่นเดียวกับสุขภาพใจ ขอนำ 4 หลักปฏิบัติจาก พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ มาฝากทิ้งท้ายเพื่อเป็นแนวทางสู่ชีวิตวิถีใหม่ เริ่มจาก 1. ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ตระหนักว่าความเครียด วิตก กลัว มันบั่นทอนทำร้ายจิตใจ 2. พยายามอย่าอยู่นิ่ง หากิจกรรมทำคลายเครียด 3. ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น ผลิตหน้ากากผ้าแบ่งปันตามกำลังที่พอทำได้ และ 4. ปรับตัว รายได้ทางเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป ควรหาช่องทางเพิ่มรายได้ เช่น การขายผ่านออนไลน์
"ตอนนี้ถ้าเราวางจิตไม่เป็น มันจะมีแต่พลังลบเข้ามาในจิตใจ แต่ถ้าเราได้ทำอะไรที่มีประโยชน์ สร้างสรรค์ เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนก็จะเกิดความภาคภูมิใจ ปลอดโปร่ง แจ่มใส รู้สึกว่าไม่ได้เป็นคนสิ้นเรี่ยวสิ้นแรงในสถานการณ์แบบนี้ และจะดียิ่งขึ้นหากสิ่งที่เราทำมันประโยชน์ต่อส่วนรวม" พระไพศาลฝากไว้ให้คิด และมีสติในทุกๆ วิกฤตที่เข้ามา