xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมนำร่อง 3 ย่านดัง กทม.เป็นเมืองแห่งการเดิน เร่งออกแบบทางเท้าให้เหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจาก UDDC
เตรียมนำร่อง 3 ย่านดัง กทม. “อารีย์ - ประดิพัทธ์” “ทองหล่อ - เอกมัย” และ “คลองสาน - ท่าดินแดง” เป็นพื้นที่ต้นแบบเอื้อต่อการเดิน เร่งออกแบบทางเท้าให้เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการ พร้อมจ่อขยายผลอีก 5 พื้นที่ในอนาคต

วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่โกดังอเนกประสงค์ริมน้ำ ล้ง 1919 ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “โครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ระยะที่ 3” ภายใต้ธีมกิจกรรมเมืองเดินสนุกของทุกคน โดยมี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “พื้นที่สุขภาวะและการเดิน”

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า แนวทางหนึ่งของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน คือ การส่งเสริมให้คนเดินเท้า เพราะการเดินช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การทำงานของ สสส. โดยแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ที่มีเป้าหมายทำงานส่งเสริม “พื้นที่สุขภาวะ” ที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายด้วยการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับประชาชนไม่อาจประสบความสำเร็จได้ หากขาดการให้ความสำคัญกับการปรับสภาพแวดล้อมให้ผู้อาศัย ให้สอดคล้องกับกิจวัตรตลอดช่วงวัน อาทิ การเดินทาง การทำงาน และ การนันทนาการ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายของประชากร โดยมีหลักฐานจากงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment) ต่อการมีกิจกรรมทางกาย ตั้งแต่ในระดับเมืองไปจนถึงระดับสถานที่

“สสส. และ ศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง (UDDC) จึงได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนการเดินทางด้วยเท้า ในโครงการ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” โดยการวางแผนปรับเปลี่ยนทางเดินเท้าที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การปรับปรุงพื้นที่เมืองหรือบางส่วนให้เป็น “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” จึงเป็นเป้าหมายของการพัฒนาเมือง ซึ่งเมืองต่างๆ ทั่วโลกก็ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ในเชิงการฟื้นฟูเศรษฐกิจประหยัดพลังงาน รักษาสภาพแวดล้อมและการแก้ปัญหาจราจร นอกจากนั้น ยังสามารถส่งเสริมสุขภาวะของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองได้พร้อมๆ กัน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี (Good Walk) กล่าวว่า โครงการฯมีวัตถุประสงค์ในการสร้างกระบวนการและกลไกในการเชื่อมโยง “นโยบาย” เข้ากับ “พื้นที่” โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกิดการเดินของผู้คนในชีวิตประจำวัน ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างการพัฒนาเมืองเดินดีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โครงการนี้มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเมืองเดินดีให้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ปัจจุบันโครงการเมืองเดินได้ - เมืองเดินดี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้ดำเนินโครงการอยู่ในระยะที่ 3 จากระยะเวลาดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 2 ปี โดยระยะที่ 1 เป็นการศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนที่ดัชนีชี้วัดศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการที่ส่งเสริมการเดินเท้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 เป็นการกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์สำหรับใช้เป็นพื้นที่นำร่อง และดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดแนวทางในการออกแบบ

และระยะที่ 3 เป็นการเสนอผังการพัฒนาพื้นที่นำร่องให้เหมาะสมกับการเดินที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จากพื้นที่ยุทธศาสตร์ไว้ 3 พื้นที่ ได้แก่ ย่านอารีย์ - ประดิพัทธ์ ย่านทองหล่อ - เอกมัย และย่านคลองสาน - ท่าดินแดง โดยพิจารณาผลการวิเคราะห์ศักยภาพเชิงพื้นที่ และได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหาความต้องการและบริบทที่แท้จริงของพื้นที่นั้นๆ และนำข้อมูลมาสู่กระบวนการการออกแบบทางเดินเท้าให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้นอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งได้กลายเป็นแบบทางเดินเท้าที่มาจากความต้องการและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ต่างๆ ที่จะเป็นพื้นที่ต้นแบบและสามารถแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเดินเท้าอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ จะขยายผลอีก 5 พื้นที่ในอนาคต ได้แก่ สยาม - ปทุมวัน / ราชประสงค์ - ประตูน้ำ / สีลม - สาทร / อโศก - เพชรบุรี และ พร้อมพงษ์

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาเมืองต้องเดิน : วาทกรรมการเดินในการพัฒนาและฟื้นฟูเมือง จากนักวิชาการ นักคิด นักเขียน ผู้ประกอบการสังคมด้านสิ่งแวดล้อม และผู้สนใจทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมและชุมชน 11 แห่ง เข้าร่วม และปิดท้ายกิจกรรมด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ ชุดจากทางวิบากสู่แคตวอล์ก สะท้อนคุณภาพการเดินทางเท้าก่อนและหลังการพัฒนาฟื้นฟูเมืองเดินได้เมืองเดินดี สามารถดูข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.GoodWalk.org FB : GoodwalkThailand
ภาพจาก UDDC


กำลังโหลดความคิดเห็น