xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่โควิดที่น่ากลัว! เตือนภัย "โรคยอดฮิต" ทำเด็กป่วย-ตายเมื่อเปิดเทอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากแฟ้มข่าว
เปิดเทอมใกล้เข้ามา ความกังวลใจของพ่อแม่ก็มีเพิ่มมากขึ้น หลายคนกลัวโควิด-19 กลับมาระบาดซ้ำ แพนิคไปถึงการใช้ชีวิตของลูกหลานในรั้วโรงเรียนว่าจะมีความเสี่ยงหรือไม่ ด้านผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยาเผย โควิดไม่น่ากังวล โรงเรียนไม่ใช่เชื้อเพลิงโควิด แต่ประมาทไม่ได้ เช่นเดียวกับอีกหลายโรค รวมไปถึงปัญหาสุขภาพของเด็กในช่วงเปิดเทอม พ่อแม่ ครู โรงเรียนต้องช่วยก่อนสายเกินแก้

"ส่วนตัวไม่กังวลเมื่อต้องเปิดเรียน โควิด-19 เป็นเพียงโรคอุบัติใหม่ตัวหนึ่ง ไม่อยากให้คิดแต่การป้องกันโควิดเท่านั้น เด็กไทยยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพอีกหลายอย่าง" นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอดีตนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา เอ่ยขึ้นในงานเสวนา "ทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะบนชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้ ก่อนเผยข้อมูลให้เห็นว่า นอกจากโควิดแล้ว ยังมีอีกหลายโรคที่เด็กไทยต้องเผชิญ

"มิ.ย. ก.ค. ไข้หวัดใหญ่มันมาแน่ สิ่งที่จะเห็นในช่วงเปิดเทอมคือ เด็กมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อย มีน้ำมูก เมื่อเจอแบบนี้ ต้องคิดไว้ก่อนว่าไข้หวัดใหญ่ ในขณะที่โควิดเราไล่ตรวจกันมาตลอด การพบเชื้ออยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าศูนย์ อีกโรคที่เพิ่มขึ้นคือมือเท้าปาก โดยเฉพาะในโรงเรียนเด็กเล็ก ตามมาด้วยอาหารเป็นพิษ แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะมาตรการต่างๆ ที่วางไว้ทั้งการสวมหน้ากาก การล้างมือ มันจะช่วยตัดวงจรไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก และอาหารเป็นพิษไปด้วย

ที่น่าห่วงอีกโรคคือ ไข้เลือดออก ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่าจะรุนแรงเหมือนปีที่แล้วประมาณ 140,000 ราย และมีเด็กวัยเรียนเสียชีวิตประมาณ 60 คน ดังนั้นสวมใส่หน้ากาก ล้างมือสม่้ำเสมอแล้ว อย่าลืมทำลายแหล่งลูกน้ำยุงลายด้วย โดยเฉพาะที่บ้าน ถ้าทำตรงนี้การตายของเด็กก็จะน้อยลง"

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอดีตนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา
นพ.คำนวณ เผยต่อไปว่า การบาดเจ็บบนท้องถนนก็ยังเป็นเรื่องที่น่าห่วงเช่นกัน และมีโอกาสเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดเทอม โดยเฉพาะการซ้อนท้าย หรือขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย จากสถิถิตัวเลขในแต่ละปีพบว่า การตายจากอุบัติบนท้องถนนมีมากถึง 21,000 คน หนึ่งในจำนวนนี้ 3,000 คนเป็นเด็กในช่วง 10-19 ปี ซึ่งมากกว่าโควิดหลายสิบเท่า ถ้าไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เด็กจะตายมากขึ้น ส่วนวงจรสิ่งเสพติด สูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการพนัน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมาตการความเข้มงวดของโรงเรียน

ส่วนคำถามที่หลายคนกังใจว่าโควิดจะกลับมาหรือไม่ นพ.คำนวณ ไม่ได้บอกให้กลัว แต่ให้เตรียมใจ และประมาทไม่ได้ เพราะไม่มีทางที่จะเป็นศูนย์ตลอดไป เนื่องจากในอนาคตจำเป็นต้องเปิดประเทศ ซึ่งต้องมาพร้อมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้หากมีมาตรการจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพ

"การกลับมาของโควิด ไม่น่ากลัว ถ้าไม่มีเชื้อเพลิง โรงเรียนไม่ใช่เชื้อเพลิงของโควิด แต่คือสถานบันเทิง ถ้าสิ่งเหล่านี้มีอยู่ พอมีเชื้อเข้ามามันจะกระจายเพิ่มจำนวนขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้โควิดกลับมาระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ อาจปิดสถานบันเทิงยาว และไปเปิดปลายปีโดยให้ทุกอย่างเปิดก่อน แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนทำงานด้วย รัฐต้องบอกตรงๆ ว่ายังเปิดไม่ได้ และต้องหาทางช่วยให้มีงานอย่างอื่นทำก่อน"


อย่างไรก็ดี ในงานเสวนา ยังเน้นย้ำความสำคัญของกิจกรรมทางกาย จากผลการสำรวจข้อมูลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพของประชากรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย สสส. และสถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เด็กร้อยละ 61.6 มีกิจกรรมทางกายที่ลดลง มีช่วงเวลาของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หน้าจอเพื่อความบันเทิง เพิ่มสูงขึ้น เป็น 4 ชั่วโมงกว่าต่อวัน

ผลสำรวจข้างต้น ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เผยถึงความน่าเป็นห่วง เพราะจากเดิมเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าข้อแนะนำมาตรฐานกว่า 1 ชั่วโมงอยู่แล้ว ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมกันส่งเสริมให้ชีวิตวิถีใหม่ของเด็ก และเยาวชนไทยมีสุขภาวะที่ดีผ่านการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสูงขึ้นอีกร้อยละ 10

"เด็กได้รับผลกระทบไม่แพ้ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพฤติกรรมสุขภาพต่างๆ อย่างกิจกรรมทางกายมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการต่างๆ ทางออกของเด็กส่วนใหญ่ในช่วงโควิดคือช่องทางออนไลน์ ตรงนี้เป็นโจทย์ต้องไปขบคิดกันว่าเด็กยุคโควิดต้องทำอะไรกันบ้าง" ดร.สุปรีดาบอก

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.
แน่นอนว่า การเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ผ่านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และการรับประทานที่เหมาะสม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องร่วมมือกัน แต่ที่ผ่านมา นอกจากพบกลุ่มเด็กมีกิจกรรมทางกายลดลงแล้ว ยังพบปัญหาในการเลือกรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง แต่คุณค่าทางโภชนาการต่ำ เป็นสาเหตุให้เกิดความเสี่ยง เช่น น้ำหนักตัวเกิน โรคอ้วน ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ พัฒนาการล่าช้า ส่งผลต่อการเรียนรู้

รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาแนะนำว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือผู้ดูแลเด็ก ต้องช่วยกันส่งเสริมให้เด็กไทยมีสุขภาวะที่ดี ด้วยการจัดอาหารให้เด็กได้รับประทานอย่างมีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ กินผัก ผลไม้ให้เพียงพอ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และให้ดื่มนมจืดอย่างน้อย 2 กล่องต่อวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตตามช่วงวัย และการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ อย่างน้อย 60 นาทีต่อวันผ่านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 3 รูปแบบคือ 1. การเล่นเพื่อความสนุกสนานและผ่อนคลาย 2.การเล่นเพื่อเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ตามช่วงวัย และ 3.กิจกรรมทางกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง

"เมื่อเด็กขยับร่างกาย จับนู่นจับนี่ ถามนั่นถามนี่ จะเป็นตัวกระตุ้นให้สมอง ปอด หัวใจ กล้ามเนื้อ ข้อต่อๆ ทำงานได้ดีขึ้น เด็กจะเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง ฉลาดขึ้น แต่ถ้าขาดกิจกรรมทางกายเมื่อไร เด็กจะจ๋อย อ่อนล้า ไม่มีแรงบันดาลใจ กลายเป็นเด็กที่โตขึ้นมาแบบขาดคุณภาพ ร่างกายไม่ได้สัดส่วน ดังนั้น 3-4 เดือนในช่วงโควิด พ่อแม่ ครู ต้องเรียกคืนกิจกรรมทางกาย และการกินอาหารที่ดีกลับมา ไม่ปล่อยให้จมอยู่กับหน้าจอมือถือนานๆ" รศ.นพ.ปัญญาฝาก

ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ วราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางกาย โดยออกมาตรการเพื่อให้โรงเรียนนำไปใช้ปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงเพิ่มปัจจัยเสริมให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี รองรับการปรับตัวของเด็ก ๆ ในการเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้

ดังนั้น การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เด็กอย่างเหมาะสม พร้อมกับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายโดยสอดรับกับชีวิตวิถีใหม่ นอกจากจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพ ให้เด็กมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถป้องกันหรือต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค และลดโอกาสการกลับมาระบาดซ้ำของโรคโควิด-19 ในช่วงเปิดเทอมได้เป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น