xs
xsm
sm
md
lg

อคาเดมี่ลูกหนังร้อง “ส.บอล” ประสานรัฐขอเปิดกิจการ ชี้ฝึกฟุตบอลไม่เหมือนฟาดแข้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 1 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กลุ่มตัวแทนอคาเดมี่ฟุตบอลได้เข้าพบตัวแทนสมาคมฯ เพื่อนำเสนอแนวทางในการฝึกสอนช่วงวิกฤตโควิด-19 ก่อนนำเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณา โดยสมาคมฯ รับหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างอคาเดมีและหน่วยงานรัฐ ในการประสานแนวทางเรื่องดังกล่าว

สำหรับการหารือครั้งนี้ สมาคมฯ ได้ส่งตัวแทนผู้บริหารด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการแพทย์, ด้านการพัฒนาเทคนิค และด้านกฎหมาย ร่วมพูดคุยกับกลุ่มอคาเดมี นำโดย นายพาทิศ ศุภะพงษ์ รักษาการเลขาธิการสมาคมฯ พร้อมด้วย มร.การ์เลส โรมาโกซา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเทคนิค, นายยงยศ พึ่งธรรม รองเลขาธิการสมาคมฯ ฝ่ายกฎหมาย และ นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมฯ ขณะที่ทางด้านอคาเดมี นำโดย นายสมบัติ ลีกำเนิดไทย ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอินเตอร์ไทยแลนด์ และตัวแทนจากอคาเดมีต่างๆ เข้าร่วม

หลังจากการหารือ นายพาทิศ ศุภะพงษ์ รักษาการเลขาธิการสมาคมฯ กล่าวว่า “ผู้ประกอบการอคาเดมี หรือโรงเรียนสอนฟุตบอลที่เป็นเอกชน ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 ไม่ต่างจากวงการอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถเปิดบริการให้กับนักเรียนหรือเด็กๆ สามารถฝึกซ้อมฟุตบอลได้ จึงได้มีการรวมกลุ่มกันเข้าพบ เพื่อหารือกับสมาคมฯ ในครั้งนี้”

“โดยอคาเดมีได้ส่งตัวแทนมายื่นเรื่องเพื่อให้สมาคมฯ เป็นสื่อกลางนำแนวทางและข้อหารือ รายงานหรือแจ้งไปยังผู้เกี่ยวข้องของรัฐบาล ว่ากิจการหรือโรงเรียนสอนฟุตบอล แตกต่างจากการแข่งขันฟุตบอลที่มีการปะทะกัน มีแฟนบอลเข้าชมจำนวนคนหมู่มากที่เกี่ยวข้อง”

“แต่อคาเดมีฟุตบอลสามารถที่จะฝึกซ้อมแยกได้ เป็นการออกกำลังกายกลางแจ้งชนิดหนึ่ง ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีการปะทะ สามารถที่จะฝึกซ้อม ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณะสุข เรียกว่า Social Distancing ได้เช่นกัน”

“สมาคมฯ เองก็จะทำการรวบรวมข้อมูล ก่อนนำเสนอต่อไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือกัน และทำงานร่วมกันของผู้ประกอบการที่มีการฝึกสอนฟุตบอล เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้ไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ความเดือดร้อนครั้งนี้ไม่ใช่แค่กีฬาฟุตบอล มันคือปากท้องของคนที่ต้องเลี้ยงชีพ กระทบถึงครอบครัวของผู้ประกอบการอย่างมากมาย”

“ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรการการควบคุมของแพทย์ รวมถึงการขออนุมัติหลักการต่างๆ เพื่อให้การกลับมาฝึกซ้อมหรือมีการปรับใช้จริง ต้องเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และ พ.ร.ก. ที่ประกาศจากหน่วยงานของรัฐด้วยเช่นกัน”

“ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สมาคมฯ และ อคาเดมี ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติกัน ในเรื่องของการพัฒนาเยาวชน สมาคมฯ เองก็เตรียมเรื่องการขึ้นทะเบียนอคาเดมี และเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นการเชื่อมต่อกับอคาเดมีทั่วประเทศครับ”

โดยขั้นตอนในการนำเสนอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภาครัฐพิจารณา มีดังนี้

1. ทำหนังสือเสนอเข้าไปที่ ศบค./กรมควบคุมโรค พร้อมนำเสนอแนวทางดำเนินการ หากจะเปิดกิจการ
2. นำเสนอรูปแบบการเรียน ฝึกฟุตบอล ที่สอดคล้องกับมาตรการการป้องกันโรค Covid-19 เป็นเอกสารประกอบ

สำหรับ อคาเดมี ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ไว้มีทั้งสิ้น 188 อคาเดมี แบ่งเป็นภูมิภาคต่าง ๆ ดังนี้ ภาคกลาง จำนวน 79 แห่ง, ภาคอีสาน 44 แห่ง, ภาคเหนือ 29 แห่ง, ภาคใต้ 16 แห่ง, ภาคตะวันออก 13 แห่ง และภาคตะวันตก 7 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น