คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
ฝรั่งไม่นิยมนั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ทั้งวันทั้งคืนเหมือนกับเรา ยิ่งในยุคปัจจุบันแทบไม่ดูทีวีกันเลย แต่ในสภาวะที่มีโรคระบาด โคโรนาวายรัส (COVID-19) แพร่กระจายไปทั่วโลก หลายชาติในทวีปยุโรปปิดประเทศและพยายามรณรงค์ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ในประเทศฝรั่งเศสนั้นออกกฎหมายบังคับกันเลย ใครมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านก็ต้องมีเอกสารอนุญาต ที่มุมด้านบนขวาของจอโทรทัศน์ยังติดแฮ้ชแท็ค # RESTEZ À LA MAISON แปลว่า STAY AT HOME คือ ขอให้อยู่กับบ้าน ซึ่งจากผลสำรวจปรากฏว่า มาตรการดังกล่าวทำให้ชาวฝรั่งเศสดูทีวีมากขึ้น เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง 29 นาที นั่นมากแล้วนะครับ ถ้าเป็นคนไทย ตัวเลขคงต้องมากกว่านี้อย่างแน่นอน นี่จึงเป็นโอกาสทองสำหรับรายการดีๆที่จะดึงผู้ชมให้เฝ้าติดตาม ซึ่งรายการที่ผู้คนทั่วโลกไม่ว่าฝรั่งหรือไทยชื่นชอบเหมือนกันก็คือ รายการกีฬา
ผมจึงไม่เคยเห็นด้วยต่อการยกเลิกการแข่งขันกีฬาใดๆ เพราะมันเป็นกิจกรรมบันเทิงที่จะช่วยสร้างความเพลิดเพลินต่อประชากรทั้งโลกได้อย่างดีทีเดียว แม้จำเป็นต้องหยุดการแข่งขันกีฬาชั่วคราวก่อน แต่คงไม่ถึงขนาดต้องยกเลิกการแข่งขันในฤดูกาลนี้และประกาศเป็นโมฆะ ไม่จำเป็นต้องด่วนไล่บุคลากรของตนออก เพราะผมเชื่อว่า โคโรนาวายรัส นั้นจะอาละวาดในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อทั่วโลกสามารถตั้งลำได้แล้วจึงกลับมาว่ากันใหม่ด้วยมาตรการป้องกันที่เหมาะสม นั่นคือ การแข่งขันในระบบปิด โดยมีการถ่ายทอดการแข่งขันให้แฟนกีฬาได้รับชมในเคหสถาน
ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด องคาพยพในวงการนี้มีมูลค่าสูง ซึ่งเมื่อประสบปัญหาต้องหยุดชะงัก มันจึงเกิดผลกระทบมากกว่ากีฬาอื่น หลังจากที่ เอ็มมานูเอ็ล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส แถลงทางโทรทัศน์เรื่องมาตรการการต่อสู่กับ โกโรนาวีรุส (Coronavirus) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา ลีก เอิง จึงประกาศหยุดเตะในวันรุ่งขึ้น นี่ทำให้ กานัล ปลุ๊ส (Canal+) เคเบิ้ลทีวีที่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขัน ลีก เอิง โดยจัดให้ผู้ชมสัปดาห์ละ 3 นัดถือโอกาสส่งจดหมายถึง ลีกฟุตบอลอาชีพของฝรั่งเศส (Ligue de football professionnel - LFP) ขอชักดาบทันที โดยในจดหมายดังกล่าวบอกว่า จะไม่ชำระเงินตามใบแจ้งหนี้งวดหน้าเนื่องจากไม่มีการแข่งขัน ทั้งๆที่เงินที่จะเรียกเก็บจำนวน 35 ล้าน เออโร นั่นมันเป็นส่วนของแม็ทช์ที่แข่งกันไปแล้วต่างหาก
เมื่อไม่มีการแข่งขันก็จะไม่มีรายได้จากตั๋วเข้าชม รายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันก็ขาดหายไป ทำให้หลายสโมสรในยุโรปตกอยู่ในฐานะลำบากและอาจล้มละลายได้เลย จึงต้องเตรียมแผนรองรับเพื่อความอยู่รอด โดยมาตรการสำคัญอันดับแรกก็คือ ลดค่าจ้างนักเตะของตน เพราะนั่นนับเป็นเงินจำนวน 55-65 % ของงบประมาณค่าใช้จ่ายประจำปีเลยทีเดียว เซริเอ อา อิตาลี ประกาศหยุดการแข่งขันถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ หลายสโมสรกำลังมีแผนลดค่าจ้างนักเตะและสต๊าฟโค้ช 30 % โดยเฉพาะ ยูเว็นตุส เป็นสโมสรแรกที่เริ่มแผนการรองรับโดยบอกว่า จะขอไม่จ่ายค่าจ้างนักเตะงวดเดือนมีนาคม-มิถุนายนนี้แล้วไปจ่ายในปีงบประมาณหน้า และหากการแข่งขันจบช้ากว่าปกติ นักเตะก็จะได้รับค่าจ้างเพิ่มเติม
หลายสโมสรใน เจอรมานี ก็มีมาตรการขอลดค่าจ้างนักเตะลง ส่วน ฝรั่งเศส ซึ่งมีระบบรองรับการตกงานบางส่วนที่รัฐจ่ายเงินชดเชยให้ (chômage partiel) สโมสรจึงไม่ต้องชำระภาษีการจ้างงานหลายอย่างและจ่ายค่าจ้างเพียง 70 % ส่วนที่เหลือรัฐจ่ายชดเชยให้ไม่เกินรายละ 4,850 เออโร แต่ใน ลา ลีกา ของ สเปน ที่ค่าจ้างนักเตะสูงที่สุดในโลก บารเซโลนา ขอลดค่าจ้าง 70 % แต่นักเตะยังไม่ยินยอม ยิ่งไปกว่านั้น ในประเทศอื่นๆถือโอกาสปล่อยนักเตะออกให้ว่างงานไปเลย งานนี้ อเล็กซานเดอร์เชเฟริน (Aleksander Čeferin) ประธานสหสมาคมฟุตบอลยุโรป หรือ ยูเอ๊ฟฟ่า (UEFA) นอกจากจะเห็นด้วยที่นักเตะควรยอมลดค่าจ้างลง และมองไปถึงค่าจ้างนักเตะดังที่สูงเว่อร์ว่า ช่วงนี้เป็นโอกาสเหมาะที่จะปรับฐานอัตราค่าจ้างนักเตะลง และกำชับด้วยว่า ไม่มีที่สำหรับ “คนเห็นแก่ตัว”
ไม่ว่าผลการเจรจาลดค่าจ้างนักเตะในแต่ละลีกจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ฟุตบอลยังเป็นรายการบันเทิงที่สร้างงานสร้างอาชีพได้อย่างมากมายและจะต้องไม่ล้มพังลงมา ซึ่งเหล่านักเตะเองนั่นแหละที่จะต้องช่วยกันประคับประคองด้วยการยอมลดค่าจ้างของพวกตนลง