คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP
อัดอั้นมาก็หลายเดือนอยู่ สำหรับประเด็นดราม่า วิดีโอช่วยตัดสิน (VAR) กระทั่งช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดข้อถกเถียง กรณี เอฟเวอร์ตัน ถูกริบประตูชัยเนื่องจากล้ำหน้า เสมอ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แบบสุดมัน 1-1 ที่สนามกูดิสัน ปาร์ก ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สาเหตุมาจากแฟนบอลบางทีมเพิ่งแพ้มา แล้วอยากให้สโมสรคู่ปรับแพ้เป็นเพื่อนกัน เพื่อให้รอดพ้นเสียงล้อเลียน
แฟนๆ กีฬาน่าจะทราบกันดีว่า ต้นแบบการรีวิวด้วยภาพรีเพลย์ เริ่มต้นจากศึก อเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล (NFL) ตั้งแต่ปี 1999 แล้วแผ่ขยายเป็นวงกว้างสู่กีฬาประเภทต่างๆ อาทิ เทนนิส, แบดมินตัน , บาสเก็ตบอล , วอลเลย์บอล, เทควันโด และอื่นๆ ส่วน ฟุตบอล เพิ่งจะนำมาใช้อย่างจริงจังในศึก เวิลด์ คัพ 2018 ที่ประเทศรัสเซีย และเกิดเสียงตอบรับแง่บวก จนฟุตบอลลีกอาชีพต้องนำมาใช้ด้วย
สำหรับ พรีเมียร์ ลีก ที่ได้รับความนิยมมากสุดในโลก เพิ่งริเริ่มใช้งาน ฤดูกาล 2019-20 ซึ่งย้อนทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ก็จะพบประเด็นสร้างความหงุดหงิดแก่กองเชียร์อย่าง ถูกจับล้ำหน้าหน่วยมิลลิเมตร แต่ข้อด้อยของการใช้ VAR บนสังเวียนลีกอังกฤษ คือ ไม่นิยมให้ผู้ตัดสิน วิ่งมาดูจอมอนิเตอร์ข้างสนามด้วยตัวเอง จึงดูเหมือนว่าสิทธิ์ขาดการตัดสิน ตกอยู่กับใครก็ไม่รู้บนห้อง VAR
ลองเปรียบกับ NFL หากเกิดการตัดสินน่ากังขา ตามกฎผู้ตัดสินต้องวิ่งมาดูจอมอนิเตอร์ภายในเวลา 60-90 วินาที กรณีไม่พบหลักฐานที่มีน้ำหนักมากพอกลับคำตัดสิน ก็จะยืนยันคำตัดสินเดิม แล้วหันมามอง พรีเมียร์ ลีก เราแทบไม่ได้เห็นผู้ตัดสิน ออกมาดูภาพรีเพลย์ด้วยตัวเอง ด้วยเหตุผลว่า เกมอาจหยุดชะงักนานเกินไป ทำให้ผู้ชมเสียอรรถรส
ความจริงใช่ว่าจะมาอวยการใช้ภาพรีเพลย์ของ ลีกคนชนคน ให้ดูน่าหมั่นไส้ เพราะกฎชาลเลนจ์ หรือ ท้าผู้ตัดสินของเฮดโค้ช ก็มีข้อจำกัดว่า หากฝ่ายตรงข้ามฉวยโอกาสเล่นเร็ว ก็ไม่สามารถย้อนกลับได้ หรือหากเข้าสู่ช่วงเตือน 2 นาทีของควอเตอร์ 2 กับ 4 สิทธิ์การขอดูรีเพลย์ จะขึ้นอยู่กับกรรมการเบื้องบนเท่านั้น
พอนั่งนึกถึงเหตุการณ์เก่าๆ เช่น โรแบร์โต ฟิร์มิโน กองหน้า ลิเวอร์พูล ล้ำหน้าแค่รักแร้ , ผู้เล่น เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ยืนเหลื่อมแค่ปลายสตั๊ด หรือ นักเตะ วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ยืนเลยแนวแบ็กโฟร์แค่ปลายแขน แบบนั้นไม่น่าจะเรียกว่า เป็นการล้ำหน้าอย่างชัดเจนตามหลักปฏิบัติ เรียกว่า เป่าให้ประตู ก็ไม่ได้น่าเกลียด
ผิดกับกรณีเกม เอฟเวอร์ตัน กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ช่วงทดเจ็บ โดมินิค คัลเวิร์ต-เลวิน ยิงแฉลบ แฮร์รี แม็กไกวร์ เปลี่ยนทาง โดยมี กิลฟี ซิเกิร์ดสสัน หดขาหลบ เท่าที่ติดตามความเห็นท่านผู้รู้ของเพจลูกหนังต่างๆ ก็มีคำอธิบายว่า ซิเกิร์ดสสัน อยู่ตำแหน่งล้ำหน้าอยู่แล้ว และยังมีส่วนต่อการเล่น จึงเข้ากฎล้ำหน้า แต่กลับเกิดดราม่าเพียงเพราะอารมณ์ของแฟนบอลผู้ปราชัยแก่ทีมท้ายตาราง ที่อยากให้ “ปิศาจแดง” แพ้เหมือนๆ กันมากกว่า
นอกจากนี้ เรามักเห็นข้อแตกต่างของการเรียก VAR บางเกมก็ตรวจสอบจังหวะเท้าของผู้รักษาประตู อยู่บนเส้นหรือไม่ ขณะเซฟจุดโทษ หรือ มีผู้เล่นฝ่ายใดวิ่งเข้าเขตโทษก่อนสังหารจุดโทษ ซึ่งเรามักเห็นภายหลังจากภาพรีเพลย์ของการถ่ายทอดสด แต่บางเกมก็ปล่อยเลยตามเลย ทำกันแบบนี้ ถ้าจะบอกว่า ยึดกฎ-กติกาตามตำราเป๊ะๆ ก็อาจพูดได้ไม่เต็มปากสักเท่าไร
ธรรมชาติของ ฟุตบอล เป็นเกมไหลลื่น ไม่ได้บุกแบบเพลย์ต่อเพลย์ กินระยะไปเรื่อยๆ แต่ อเมริกันฟุตบอล ก็ยังมีข้อสังเกตสำหรับผู้ตัดสิน กรณีต้องดูภาพรีเพลย์ เช่น การฟัมเบิล บอลต้องหลุดมือก่อนเข่าถึงพื้น และพื้นสนาม ไม่มีสิทธิ์ทำให้เกิดการฟัมเบิล หรือ การขว้างคอมพลีต หรือ อินเทอร์เซ็ปต์ ปีก/ตัวคุมปีกจะต้องครองบอล โดยเท้าทั้ง 2 ข้างอยู่ในพื้นสนาม เป็นต้น
หวังเป็นอย่างยิ่ง พอจบซีซันนี้ ผู้บริหาร พรีเมียร์ ลีก และ ทีมงานผู้ตัดสิน จะต้องไขข้อข้องใจว่า ตกลงว่า การเป่าล้ำหน้า จะขึ้นอยู่กับสายตากับฝีมือการตีเส้นกราฟิก หรือ เช็กตำแหน่งออกตัว แล้วผู้ตัดสินควรดูมอนิเตอร์ด้วยตัวเองหรือไม่ แล้วถ้าจะดูต้องใช้เวลาเท่าไร หากจะเอาแบบเดิมๆ คือ ล้ำหน้าแบบมิลลิเมตร ความเบื่อหน่ายก็คงไม่มีวันจบสิ้น
กติกา เป่าแฮนด์บอล ยังสามารถชี้ชัดได้ หากบอลถูกแขนฝ่ายรุก ถือเป็นการฟาวล์ทุกกรณี ผิดกับกรณีบอลถูกแขนฝ่ายรับ ก็จะต้องวิเคราะห์ต่อว่า เจตนา หรือไม่ แล้วกติกาล้ำหน้า ก็ควรจะเจาะจงว่า ต้องพิจารณาตำแหน่งออกตัว หรือ อวัยวะที่สามารถใช้เพื่อทำประตูกันแน่ หากปล่อยให้เป็นภาระของคนตีเส้น มันก็จะไม่สอดคล้องกับข้ออ้างของ พรีเมียร์ ลีก เกี่ยวกับการหยุดเกม