คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
‘เฮียเห็นหน้า ‘พญาเสือ’ ของเฮีย ตอนถูกตำรวจจับ แล้วใช่ไหมครับ?’
‘เออ...สงสารมันว่ะ หมดสภาพเลยหมอ’ เฮียถอนหายใจขณะเงยหน้าจากหนังสือพิมพ์
ใครที่ดูข่าวคงจะเห็น สภาพใบหน้าที่อิดโรยของไทเกอร์ ดวงตาสะลึมสะลือของคนง่วงจัดที่อดนอนจนเกือบจำไม่ได้ ดังนั้นใครต่อใครจึงลงความเห็นว่า นั่นเป็นอาการของคนเมาที่ซบอยู่หลังพวงมาลัย ตอนถูกตำรวจรวบตัว แถมยังพูดคุยไม่รู้เรื่องอีกด้วย
อย่างไรก็ตามเขาถูกปล่อยตัว ภายหลังตรวจพบแอลกอฮอล์และสารเสพติด ไทเกอร์แถลง ขอโทษ และยืนยันว่าไม่ได้เมา โดยอาการนั้นเกิดจากการรับประทานยา ที่เขาไม่ได้ศึกษาปริมาณของส่วนผสมดีพอ ดังนั้นจึงมีอาการที่เรียกว่า ง่วงซึม แบบที่แพทย์เตือนว่าห้ามขับรถถ้าทานยาชนิดนี้
‘ยาอะไรบ้างครับพี่หมอ...ที่กินแล้ว ง่วงนอน ห้ามขับรถ ?’ ท่าทางไอ้เก่งอยากรู้จริงๆ
มียาบางประเภท ที่รับประทานแล้ว เกิดอาการง่วงนอน แต่หลายคนละเลย รับประทานไปแล้วก็ยังขับรถ เพิ่มอันตรายจากการประสบอุบัติเหตุมากขึ้น
ยาที่ออกฤทธิ์ แล้วทำให้ง่วง แบ่งเป็นกลุ่มดังนี้
- ยาลดน้ำมูก แก้แพ้
- ยาแก้เวียนศรีษะ แก้เมารถ
- ยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงโดยตรง เช่น กลุ่มยาคลายเครียด ยานอนหลับ ยาแก้แพ้ รุ่นแรกๆ จะมีฤทธิ์ทำให้ง่วงมากกว่ายารุ่นใหม่ๆ ซึ่งยาที่ใช้กันบ่อยๆ และคุ้นเคย ได้แก่ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก เช่น คลอเฟนนิรามีน maxiphed Actifed ยาแก้เวียนศรีษะ เช่น stugeron,Dramamine ส่วนยาแก้แพ้รุ่นใหม่ที่ง่วงน้อยกว่า เช่น Loratadine ,cetirizine
แน่นอนว่า ยาดังกล่าวอาจเกิดอันตรายได้หากขับรถ มีสาเหตุเดียวคือ ง่วงนอน แต่อาการง่วงนั้น จะมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละคน โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1. การเคยได้รับยานี้มาก่อน เช่น ในกลุ่มคนที่เป็นภูมิแพ้ และทานยาแก้แพ้รุ่นใหม่ที่ง่วงน้อยกว่าอยู่เป็นประจำ ก็อาจไม่รู้สึกง่วง สามารถขับรถได้อยู่
2. การพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ ถ้าเราอดนอน พักผ่อนน้อย ก็จะมีอาการง่วงมากกว่าปกติ
3. การดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าดื่อแอลกอฮอล์ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ง่วง จะทำให้อาการเพิ่มมากขึ้น
เมื่อรู้ฤทธิ์ของยา ควรเลือกเวลาทานก่อนขับรถ ยาส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมง และมีฤทธิ์คงอยู่อีกอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องทานยาแก้แพ้ และต้องขับรถ ควรเลือกใช้ยากลุ่มที่มีผลทำให้ง่วงน้อย เช่น ยารุ่นใหม่ กลุ่ม Loratadine
ใครเลยจะรู้นอกจากตัวเราเอง ว่ามีอาการง่วงอ่อนเพลียมากน้อยแค่ไหน ขับรถได้หรือไม่ ถ้าง่วงมาก ไม่ควรฝืนขับรถเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายกับตัวเอง และเพื่อนร่วมทางได้
‘แหม ! ถ้าพญาเสือได้คุยกับพี่หมอก่อน ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์เยี่ยงนี้!’ ไอ้เก่งอดแกว่งปากไม่ได้