EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
ในยุคก่อน การแข่งขันฟุตบอลแต่ละเกม เขาให้มีผู้ตัดสินเพียง 3 คนก็พอ คนหนึ่งทำหน้าที่ตัดสินเกมในสนาม ส่วนอีก 2 คนยืนอยู่บนเส้นข้างสนามฝั่งรุกแต่ละข้าง เรียกว่า ผู้กำกับเส้น (Linesman / Lineswoman) แล้วมาเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ผู้ช่วยผู้ตัดสิน (Assistant Referee - AR) ตั้งแต่ปี 1996 ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ตัดสิน ดูลูกบอลออกนอกสนามหรือไม่ ทีมไหนได้ทุ่ม คอยจับการล้ำหน้า และช่วยส่งสัญญาณบอกในกรณีผู้ตัดสินอาจมองไม่เห็นเมื่อมีนักเตะทำผิดกติกา
ยิ่งเป็นเกมระดับเล็กๆ ผู้ช่วยผู้ตัดสินยังต้องดูแลเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้เล่น ตรวจความเรียบร้อยของนักเตะด้วย และอาจลงไปทำหน้าที่ตัดสินแทนหากผู้ตัดสินทำหน้าที่ต่อไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยผู้ตัดสินถือเป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาเท่านั้น สิ่งที่ชี้บ่งมานั้นอาจถูกผู้ตัดสินกลับคำตัดสินก็ได้ เพราะผู้ตัดสินต่างหากที่มีอำนาจสิทธิ์ขาด
ในเกมระดับสูงจะมีผู้ช่วยผู้ตัดสินอีกคนหนึ่งเรียกว่า เจ้าหน้าที่คนที่ 4 (fourth official) หรือบางทีก็เรียกว่า ผู้ตัดสินสำรอง (Reserve Referee, Replacement Referee - RR) คราวนี้หน้าที่ดูแลการเปลี่ยนตัวผู้เล่นก็มาอยู่กับคนนี้ นอกจากนั้นยังดูแลเขตเท้คนิค จดบันทึกการทำประตู การให้ใบเหลือง ใบแดง และแสดงข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้เล่นและการทดเวลาการแข่งขันแก่ผู้ชมในสนาม และหากผู้ตัดสินหรือผู้ช่วยผู้ตัดสินไม่สามารถทำหน้าที่ต่อได้ หมอนี่แหละที่จะลงไปทำหน้าที่แทน
ความจริงก็ยังมี เจ้าหน้าที่คนที่ 5 (Reserve Assistant Referee, or RAR) อีก ที่คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่คนที่ 4 และอาจถูกเปลี่ยนตัวลงไปทำหน้าที่แทนผู้ช่วยผู้ตัดสิน ส่วนเจ้าหน้าที่คนที่ 4 ก็ระบุให้เป็นคนทำหน้าที่แทนผู้ตัดสิน คือมีการกำหนดตัวตายตัวแทนเอาไว้เลย เพราะ ฟีฟ่า มองว่า ผู้ตัดสิน กับ ผู้ช่วยผู้ตัดสิน มีหน้าที่ต่างกัน
คราวนี้ก็มาถึง ผู้ช่วยผู้ตัดสินเพิ่มเติม (Additional Assistant Referee system - AAR) ที่ต้องยืนทำหน้าที่ช่วยผู้ตัดสินตรงหลังเส้นประตูทั้ง 2 ข้าง คอยเฝ้าดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณกรอบเขตโทษและรอบๆนั้น โดยเฉพาะลูกปัญหาเข้าหรือไม่เข้าประตูที่เรียกว่า ประตูผีหลอก (Ghost goal) เพราะ AAR อาจอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดกว่าผู้ตัดสินว่า ลูกบอลผ่านเข้าประตูไปแล้วหรือยัง ซึ่งทางฝั่งยุโรปเขาเริ่มใช้กันมานานเกือบ 10 ปีแล้ว
การนำระบบ AAR เข้ามาใช้นั้นได้รับการรับรองจาก คณะกรรมการผู้ตัดสิน ของ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย ไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2016 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้การตัดสินถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจังหวะที่น่าจะเป็นลูกโทษที่จุดโทษหรือไม่ หรือลูกบอลผ่านข้ามเส้นประตูไปแล้วทั้งใบหรือไม่ เป็นการขยับมาตรฐานการตัดสินในทวีปเอเชียให้เป็นที่ยอมรับในระดับสูง
แน่นอนครับ การใช้ AAR ย่อมต้องมีการฝึกอบรมเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ตัดสินของทวีปเอเชียได้รับทราบกฎ กติกาใหม่ๆที่เกี่ยวข้องด้วย อันนี้ ทาง AFC ได้จัดค้อร์สฝึกอบรม AAR ไปแล้ว ตลอด 5 วันเต็ม ที่ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นำโดย ม้าสซีโม บูซัคกา (Massimo Busacca) หัวหน้าผู้ตัดสินของ ฟีฟ่า
สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย เตรียมนำระบบผู้ช่วยผู้ตัดสินเพิ่มเติม เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกในเอเชีย โดยมีกำหนดเริ่มใช้ในการแข่งขัน เอเอ๊ฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ 8 ทีม นัดแรก ในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ และถ้าการใช้ AAR ได้รับผลที่ดี ก้าวต่อไป ทาง AFC ก็จะใช้ AAR ในการแข่งขัน เอเอ๊ฟซี คัพ ฤดูกาล 2018 ฟุตบอลชิงแช้มพ์แห่งชาติ U-23 (2018 AFC U-23 Championship) ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพในเดือนมกราคมปีหน้า และรายการสำคัญ ฟุตบอลชิงแช้มพ์แห่งชาติเอเชีย 2019 (2019 AFC Asian Cup) ที่ สหรัฐ อาหรับ เอมีเรทส์ จะเป็นเจ้าภาพตอนต้นปี 2019 ด้วยครับ
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *