xs
xsm
sm
md
lg

นักกอล์ฟรู้ไว้ 2โรคนี้…ห้ามหยุดยา! / พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

ณ ห้องอาหารในคลับเฮาส์

“วันนี้เฮียไม่กินยาหลังอาหารเหรอ?” พี่หมอสังเกตเห็นความผิดปกติ

“อ๋อ ยาหมดไป 2วันแล้ว…ยังไม่ได้ไปรับยาที่รพ.เลย…แต่ช่วงนี้ น้ำตาล ความดันไม่ขึ้นนะ…หยุดยาบ้างได้มั๊ยอ่ะ…เบื่อกินยา…กลัวไตวาย!” คุณชูสง่า ตอบยาว

“อย่าประมาทนะเฮีย…2โรคนี้รักษาไม่หายขาด ขืนหยุดยาอาจทำให้เป็นโรคไต โรคหัวใจเร็วขึ้น!!” หมอเตือน ในขณะที่เฮียทำหน้างงๆ

มีผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ไม่ยอมกินยารักษาต่อเนื่อง เพราะเข้าใจผิดคิดว่ากินยาทุกวันจะทำให้ไตวายเร็ว ตับแข็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะผลดีของการกินยารักษา 2 โรคนี้ต่อเนื่อง จะป้องกันการเกิดโรคไต โรคหัวใจได้

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)รายงานว่า มี 2 เรื่องที่ชาวบ้านมีความเข้าใจผิดจนต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง คือ เรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินยาของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการออกกำลังกายที่ถูกต้อง

เรื่องแรกพบว่าพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่พบมากที่สุดในเขตเมืองและชนบท โดยมีผู้ป่วยหลายคนไม่กล้ากินยารักษาที่แพทย์สั่ง เพราะยามีหลายเม็ด และต้องกินทุกวัน กลัวว่าหากกินไปนานๆแล้วจะทำให้ไตวายเร็ว กลัวตับแข็ง อย่างเช่น บางพื้นที่ในจังหวัดนราธิวาส มีผู้ป่วยไม่ยอมกินยาต่อเนื่องในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 บางคนหยุดยาเองเพราะเห็นว่าอาการปกติดีแล้ว จะกินเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกมึนศีรษะ เป็นต้น พบมากในกลุ่มอายุ 40-60ปี ส่วนอีกร้อยละ 30 ที่เหลือเท่านั้นที่กินยาปฏิบัติตามการรักษาของแพทย์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป

จึงขอย้ำเตือนและสร้างความเข้าใจว่าทั้ง 2 โรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ โดยผู้ป่วยต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 3 เรื่องหลัก ได้แก่การกินยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ออกกำลัง และควบคุมอาหาร ผลของการกินยาต่อเนื่องจะป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือ โรคไตวาย และโรคหัวใจได้ ในทางตรงกันข้าม หากไม่กินยาผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมอาการได้ และจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่กล่าวมาได้เร็วขึ้น ส่งผลให้การดูแลยุ่งยากขึ้น

เรื่องที่สองคือ เรื่องของการออกกำลังกาย ซึ่งผู้ที่ทำงานประเภทต้องใช้แรงงานหนัก หรือเกษตรกร เข้าใจผิดว่าการทำงานหนักเป็นการออกกำลังกายเพียงพอแล้วไม่ต้องหาเวลาออกเพิ่มเติมอีก ซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการนั้น การทำงานหนักไม่จัดว่าเป็นการออกกำลังกาย เนื่องจากในขณะที่ทำงานเป็นช่วงที่สมองมีความเครียดไปด้วย มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา เรียกว่า คอร์ติซอล ไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย แต่มีความเหนื่อยล้าแทน สำหรับการออกกำลังกายนั้น สมองจะอยู่ในช่วงพักผ่อน การออกกำลังกายจะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนที่มี ชื่อ เอ็นโดรฟีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ส่งผลให้รู้สึกสดชื่น อารมณ์ดี นอนหลับสนิท และควรออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคไม่ป่วยง่าย

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น