xs
xsm
sm
md
lg

สวิงให้ไกล...แต่ขับรถไม่ไว ไม่ซิ่ง! / พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

สลดใจกับข่าวพาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับเช้านี้ “เสยสิบล้อโปรปาล์มดับ! แม่นั่งคู่เจ็บสาหัส” เนื้อข่าวบอกว่า “โปรกอล์ฟหนุ่มชื่อดัง ทิชากร สวัสดี หรือ โปรปาล์ม ซิ่งฟอร์จูเนอร์ เสยท้ายรถบรรทุก 10 ล้อ...คาดสาเหตุหลับใน”

เราพบสาเหตุของความสูญเสียจากอุบัติเหตุรถยนต์กับคนที่เรารัก และคนที่รักเราอย่างต่อเนื่องอย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่เราสามารถป้องกันได้ด้วยความไม่ประมาท

บางครั้งเพื่อนนักกอล์ฟต้องขับรถด้วยความเร่งรีบ บางครั้งก็ต้องขับยามค่ำคืน แถมบางคนยังมีโรคประจำตัว ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ

วันนี้เราจึงมีคำแนะนำและข้อควรปฎิบัติในการขับรถสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวมาฝากเพื่อนนักกอล์ฟ

- โรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ

1. โรคเกี่ยวกับสายตา ผู้ที่จอประสาทตาเสื่อมจะมองเห็นเส้นทางในเวลากลางคืนไม่ชัดเจน ส่วนผู้ที่เป็นต้อหิน ต้อกระจก จะมีมุมมองเห็นแคบและมองเห็นแสงไฟพร่ามัว เพื่อความปลอดภัยควรหลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงโพล้เพล้ กลางคืน หรือเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี

2. โรคสมองเสื่อม มักพบในผู้สูงอายุ จะมีอาการจำเส้นทางไม่ได้ ทำให้ขาดสมาธิในการขับรถ ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้เส้นทาง และการแก้ไขเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้า

3. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้ไม่มีกำลังแขนในการบังคับพวงมาลัยหรือเปลี่ยนเกียร์ขาไม่มีแรงเหยียบคันเร่งและเบรก แขนและขาทำงานไม่สัมพันธ์กับการสั่งการของสมอง

4. โรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบ ข้อเข่าเสื่อมทำให้ไม่มีแรงในการเหยียบเบรกคันเร่ง ข้อเท้าอักเสบขยับร่างกายลำบากเมื่อต้องหยุดกะทันหันจะไม่สามารถเหยียบเบรกได้ทัน กระดูกคอเสื่อมหันมองเส้นทางโดยรอบไม่ถนัด ถ้ากระดูกหลังเสื่อมไม่สามารถนั่งขับรถเป็นเวลานานได้

5. โรคหัวใจ การขับรถในสภาพการจราจรติดขัดอาจทำให้เกิดอาการเครียดจนโรคหัวใจกำเริบเพื่อความปลอดภัยควรหลีกเลี่ยงการขับรถ หรือไม่ก็นำยาติดตัวไว้เสมอ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที

6. โรคเบาหวาน หากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกะทันหันจะหน้ามืดวิงเวียนศีรษะตาพร่ามัวและหมดสติ หากจำเป็นต้องขับรถควรเตรียมลูกอมหรือน้ำหวานไว้รับประทานเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ

7. โรคลมชัก จะมีอาการชัก เกร็ง กระตุก โดยไม่รู้ตัว ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ หากจำเป็นต้องขับควรมีเพื่อนร่วมทางไปด้วย

- ข้อควรปฎิบัติในการขับรถสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว

1. ให้นำยาและบัตรประจำตัวผู้ช่วยพร้อมวิธีการช่วยเหลือติดตัวไว้เสมอเพื่อผู้ที่พบเห็นจะได้ช่วยเหลือทัน

2. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือทานยาก่อนขับรถ

3. ไม่ขับรถตามลำพังควรมีเพื่อนร่วมทางหรือใช้รถสาธารณะและไม่ขับรถทางไกล

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น