ผู้จัดการรายวัน 360 - ทัพจักรยานไทยสามารถคว้าตั๋วได้เพียง 1 ที่นั่งในมหกรรมโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล จาก “เจ้าบีช” จุฑาธิป มณีพันธุ์ ในประเภทถนน ขณะที่ อะแมนด้า คาร์ นักปั่น "บีเอ็มเอ็กซ์" ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ความหวังสูงสุดของสมาคมฯ ที่ลงแข่งรายการชิงแชมป์โลกที่โคลัมเบีย เป็นรายการสุดท้ายก่อนจะประกาศตัวในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ จบเพียงอันดับ 5 ของของฮีตร่วงรอบแรก ทำให้ถูก ซารา วอร์คเกอร์ นักปั่นชาวนิวซีแลนด์ ขยับอันดับโลกแซงหน้าไป พร้อมลุยมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ
ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้สมาคมจักรยานแห่งประเทศไทย ต้องกลับมาทบทวนแผนการเก็บตัวและฝึกซ้อมของนักกีฬากันใหม่ โดย พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมฯ เปิดเผยว่า "เราต้องเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของนักปั่นอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามส่งไปแข่งขันและฝึกซ้อมยังต่างประเทศเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับนักกีฬา ซึ่งศูนย์ฝึกที่ไทยส่งนักกีฬาไปฝึกอยู่เป็นประจำคือ ประเทศญี่ปุ่น และ ประเทศเกาหลีใต้"
"สำหรับสาเหตุที่ต้องส่งนักกีฬาไปฝึกฝนและเก็บตัวในต่างประเทศ ก็เนื่องจากมีสนามและลู่ รวมถึงอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ขณะที่สนามในประเทศเรายังไม่พร้อมในหลายส่วน และหากจะจัดสร้างขึ้นมาใหม่ก็ต้องนำงบประมาณจำนวนไม่น้อย ซึ่งต้องยอมรับในเรื่องความไม่พร้อมนี้ อีกทั้งการไปฝึกซ้อมในต่างแดนยังมีผลดีคือทำให้นักกีฬามีความมุ่งมั่น เนื่องจากได้มีสมาธิกับการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง อีกทั้งยังได้เจอกับคู่แข่งที่ไม่คุ้นเคย จึงสามารถนำประสบการณ์แปลกใหม่มาปรับใช้ได้" พล.อ.เดชา กล่าว
ขณะเดียวกันสหพันธ์จักรยานนานาชาติ ได้ทำหนังสือเชิญนักปั่นดาวรุ่งอย่าง “เจ้าบีม” ชนิภรณ์ บัตริยะ ดีกรีนักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองแดงการแข่งขันศึกชิงแชมป์เอเชียที่ผ่านมา ให้ไปฝึกที่ศูนย์ฝึกจักรยานนานาชาติ (UCI) เป็นเวลา 40 วัน ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน - 24 กรกฎาคมนี้ เพื่อเป็นการฝึกซ้อมก่อนที่การแข่งขันจักรยานลู่เยาวชนชิงแชมป์โลก ที่จะมีขึ้น จึงถือเป็นเรื่องดีที่เยาวชนไทยจะได้พัฒนาฝีมือ
“ตอนนี้สมาคมกีฬาจักรยานฯ มีแผนจะทำสัญญากับสหพันธ์จักรยานนานาชาติ เพื่อส่งนักกีฬาไทยไปฝึก เนื่องจากเราได้ส่งนักกีฬาดาวรุ่งไปฝึกทุกปี อย่างปีนี้ส่งไปแล้ว 2 คน คือ ชาครีย์ ครุฑางคะ และ ปฐมภพ พลอาจทัน ล่าสุดเตรียมเสนอแผนส่งนักกีฬาไปฝึกต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง 5 ปี ซึ่งแผนในระยะสั้นคือการเตรียมซีเกมส์ปีหน้า ที่ประเทศมาเลเซีย, ระยะกลาง เตรียมเอเชียนเกมส์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย และแผนระยะยาว คือการเตรียมโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตลอดทั้งแผน 5 ปีจะส่งนักกีฬาไปฝึกและแข่งต่างประเทศให้มากที่สุด” พล.อ.เดชา กล่าว
นอกจากนั้น พล.อ.เดชา ยังได้ติดต่อกับสหพันธ์จักรยานลู่ ของออสเตรเลีย เพื่อส่งนักกีฬาที่มีความหวังไปเก็บตัวฝึกซ้อม สำหรับการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 29 ที่ประเทศมาเลเซีย อีกด้วย "เป็นที่แน่นอนแล้วว่า มาเลเซีย จะตัดกีฬาจักรยานที่ไทยครองความเป็นเลิศ คือ จักรยานเสือภูเขา ครอสคันทรี และดาวน์ฮิล รวมถึง บีเอ็มเอ็กซ์ แล้วจะเน้นเฉพาะจักรยานประเภทลู่ ซึ่งมาเลเซียมีความหวังที่จะคว้าเหรียญทองเป็นกอบเป็นกำ รวมทั้งประเภทถนนด้วย ซึ่งหากเราไม่มีแผนรองรับก็อาจจะทำให้กีฬาจักรยานในซีเกมส์ ที่มาเลเซีย ของไทยพลาดการเป็นเจ้าเหรียญทองในครั้งนี้อย่างแน่นอน"
สำหรับการแข่งขัน 7 รายการที่นักปั่นดาวรุ่งทีมชาติไทยจะเข้าร่วม ประกอบด้วย การแข่งขันจักรยานลู่ 2016 Taiwan Cup Track International Classic I & II (CL1) ระหว่าง 2-4 มิถุนายน 2559 ที่เมืองซิน-ชู ประเทศไต้หวัน, การแข่งขันจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ชิงแชมป์แห่งเอเชีย 2559 “2016 Asian BMX Continental Championships” ทีเมืองไทหยาง ประเทศจีน วันที่ 12 มิถุนายน 2559, การแข่งขันจักรยานลู่ 2016 Japan Track cup I & II (CL1) ระหว่าง 8-10 กรกฎาคม 2559 ที่ อิซู เวโลโดรม เมืองชิชูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น, การแข่งขันจักรยานลู่ เยาวชนชิงแชมป์เอเชีย ระหว่างวันที่ 20 – 24 ก.ค. 59 ที่ สวิสเซอร์แลนด์, การแข่งขันจักรยานในร่มชิงแชมป์แห่งเอเชียครั้งที่ 14 “14th Asian Indoor Cycling Championships 2016 ระหว่าง 2-7 สิงหาคม 2559 ที่ประเทศฮ่องกง, การแข่งขันจักรยานภูเขานานาชาติ “Timor Leste International Mountain Bike Challence” ระหว่าง 10-11 กันยายน 2559 ที่อาเรีย บรังกา ดิลี ติมอร์ เลสเต และ จักรยานภูเขาทัวร์ เดอ ติมอร์ “Tour de Timor” ระหว่าง 13-17 กันยายน 2559 รวมถึงการแข่งขันลู่ยุวชนแปซิฟิก “2016 Pacific Youth Track Tournament” ระหว่าง 26-28 กันยายน 2559 ที่เมืองเพิร์ธ ออสเตรเลียตะวันตก