xs
xsm
sm
md
lg

ทีเด็ด 10 สนาม ยูโร 2016 (2) / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ฝรั่งเศส เป็นชาติที่ได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฟุตบอลชิงแช้มพ์แห่งชาติยุโรป บ่อยกว่าใครเพื่อน เพราะ ยูโร 2016 (Euro 2016) นี้นับเป็นหนที่ 3 แล้ว ครั้งแรกได้เป็นเจ้าภาพรายการที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆซิงๆเลยในปี 1960 และหนที่ 2 ในปี 1984 ที่สามารถคว้าแช้มพ์ไปครองได้ด้วย เรื่องของสนามแข่งขันแต่ละแห่งก็ล้วนมีจุดเด่นทั้งสิ้น วันนี้ผมจะเล่าให้ฟังต่ออีก 3 สนาม

เริ่มด้วย ป๊าก โอแล็งปิ๊ก ลิอ็อนเน (Parc Olympique lyonnais) สนามเหย้าแห่งใหม่ของสโมสร โอแล็งปิ๊ก ลิอ็อนเน ลงมือสร้างในช่วงปี 2012-15 จากแนวความคิดของ ช็อง-มีเชล โอลั๊ส (Jean-Michel Aulas) ประธานสโมสร ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ โอแอ็ล กรุ๊พ (OL Groupe) โดยเขาต้องการให้บริเวณดังกล่าวเป็น สปอร์ท ค็อมเพล็กซ์ มีศูนย์การค้าและแหล่งบันเทิงอื่นๆรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะทำรายได้อย่างน้อยปีละ 100 ล้าน เออโร เพื่อทดแทน สต๊าด เดอ แชรล็อง (Stade de Gerland) สนามเดิมของ เทศบาลเมืองลิอง ที่สโมสรใช้มาตั้งแต่ปี 1950 และมีความสามารถทำรายได้เพียงปีละ 21 ล้าน เออโร เท่านั้น

สนามแห่งนี้บางครั้งก็เรียกกันในชื่อ กร็อง สต๊าด เดอ ลิอง (Grand Stade de Lyon) คงเพราะว่ามันมีขนาดใหญ่โต จุผู้ชมได้ 59,186 ที่นั่ง หรืออีกชื่อหนึ่งคือ สต๊าด เด ลูมิแอร์ (Stade des Lumieres) อันนี้เขาต้องการตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ โอกุสต์ กับ ลุย ลูมิแอร์ (Auguste and Louis Lumiere) สองพี่น้องผู้สร้างภาพยนตร์รายแรกของโลกตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นชาวเมืองลิอง

แต่เดิมนั้นเขามีแผนติดตั้ง โซลาร์เซลล์ บนหลังคาสนาม เพื่อนำกระแสไฟมาใช้ แต่โครงการนี้ถูกยกเลิกไป อย่างไรก็ตาม เรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ยังมีอีกคือ การติดตั้งระบบเก็บกักน้ำฝนเอาไว้เพื่อใช้ในห้องน้ำทุกแห่งภายในสนามและใช้รดน้ำสนามหญ้าอีกด้วย

สต๊าด พิแอร-โมรัว (Stade Pierre-Mauroy) สนามใหม่ล่าสุดของสโมสรกีฬา ลิล (Lille Olympique Sporting Club - LOSC Lille) มีความจุด 50,157 ที่นั่ง นับเป็นเกือบ 3 เท่าของความจุสนามเดิมที่เคยใช้เป็นรังเหย้าซึ่งไม่สามารถตอบสนองความต้องการของแฟนบอลได้อีกต่อไป เนื่องจากนับตั้งแต่ฤดูกาล 2012-13 เป็นต้นมา ลิล มีแฟนบอลซื้อตั๋วปีถึงหลัก 3 หมื่นคน มากเป็นอันดับต้นๆของสโมสรฟุตบอลใน ฝรั่งเศส

อัฒจันทร์มีความสูงถึง 31 เมตร หลังคาปกคลุมอัฒจันทร์ระยะ 7 เมตรและยังสามารถเลื่อนมาปิดคลุมทั้งสนามได้ทึบหมดภายใน 30 นาที มีการติดตั้งแผง โซลาร์ เซลล์ บนหลังคา รวมทั้ง กังหันลม 2 ตัว เพื่อผลิตกระแสไฟใช้ในสนามด้วย ที่สำคัญ ครึ่งหนึ่งของพื้นสนามฟุตบอลนั้นตั้งอยู่บนลิฟท์ฮายดรอลิคและรางขนาดใหญ่ที่สามารถยกและเลื่อนมาซ้อนบนสนามอีกครึ่งหนึ่งภายในเวลา 3 ชั่วโมง อันนี้เพื่อเปิดพื้นที่ส่วนล่างเป็นสนามกีฬาสำหรับ บ๊าสเก้ตบอล เทนนิส หรือ การแสดงคอนเสิร์ท ที่ต้องการความจุผู้ชมระหว่าง 6,500-30,000 ที่นั่ง

สต๊าด มัตมุต-อั๊ตล็องติ๊ก (Stade Matmut-Atlantique) นี่ก็เป็นสนามเหย้าแห่งใหม่ของ สโมสรฟุตบอล ชีรงแด็ง เดอ บอรโด (Girondins de Bordeaux) ตั้งแต่กลางปี 2015 แทน สต๊าด ชาบ็อง-เด็ลมัส (Stade Chaban-Delmas) ที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 1938 มัตมุต นั้นเป็นชื่อของบริษัทประกันของฝรั่งเศสที่มีสัญญาโฆษณาในรูปแบบที่เรียกว่า เนมมิ่ง ไร้ท์ส (Naming rights) โดยจ่ายเงินให้ปีละ 2 ล้าน เออโร เป็นระยะเวลา 10 ปี ให้ใช้เป็นชื่อสนาม ส่วน อั๊ตล็องติ๊ก ก็เป็นมหาสมุทรที่ บอรโด ตั้งอยู่ทางแถบนั้นนั่นเอง

สนามแห่งนี้มีความจุ 42,115 ที่นั่ง ออกแบบโดย 2 สถาปนิกชาวสวิส ชัก แฮร์โซ้ก (Jacques Herzog) กับ พิแอร เดอ เมอรง (Pierre de Meuron) ที่สร้างผลงานระดับโลกอย่าง อาลิอั๊นซ์ อาเรนา (Allianz Arena) ที่ เมืองมึนเชิ่น ประเทศเจอรมานี และ สนามกีฬาแห่งชาติ หรือ สนามรังนก ที่ กรุงเป่ยจิ๊ง ประเทศจีน มาแล้ว รูปลักษณ์ของสนามแห่งนี้ก็จะดูคล้ายๆกับสนามรังนกในเวอร์เชิ่นสี่เหลี่ยมนั่นเอง และที่สำคัญ ตรงบริเวณที่ก่อสร้างนั้น เดิมเป็นบึงใหญ่ เขาจึงออกแบบโดยใช้เสาโลหะที่มีน้ำหนักเบากว่าปูนซีเม็นท์จำนวน 945 ต้นปักลึกลงไป 22 เมตรเพื่อเป็นโครงสร้างรองรับทั้งสนาม


กำลังโหลดความคิดเห็น