ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 - ความสำเร็จของ "น้องเมย์" รัชนก อินทนนท์ กับการผงาดขึ้นเป็นมือ 1 ของโลก หลังเจ้าตัวคว้า 3 แชมป์รวด ในศึกการแข่งขันแบดมินตันระดับซูเปอร์ซีรีส์ คงถือเป็นข่าวดีส่งท้ายเทศกาลแห่งความสุขวันสงกรานต์ให้กับคนไทยทั้งประเทศ แต่กว่าสาวใจแกร่งรายนี้จะก้าวผ่านอุปสรรคจนมาสู่ความสำเร็จในระดับโลกได้นั้นต้องอาศัยความพยายามและตั้งใจฝึกซ้อมตลอดระยะ 365 วัน โดยไม่มีวันหยุดถ้าหากเปรียบเทียบกับเราๆ คงใจฝ่อไปแล้ว กระนั้นก็ตามเธอคงผ่านอะไรต่อมิอะไรหนักหนาสาหัสเกินอายุ 21 ปีไปไม่ได้หากไร้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังโดยเฉพาะโค้ช
สำหรับความสำเร็จของ รัชนก ในวันนี้ต้องยกเครดิตให้แก่ เซียะ จือหัว เทรนเนอร์คู่ใจที่อยู่เคียงข้างกันมากว่า 15 ปี โดยอดีตนักตบลูกขนไก่ทีมชาติจีนปัจจุบันวัย 50 ปี เคยเป็นผู้ฝึกสอนให้กับทีมบ้านเกิดและยังเป็นคู่ฝึกซ้อมให้กับอดีตนักกีฬาชื่อดัง “หลี่หย่งปอ” ซึ่งภายหลังเขากลายมาเป็นโค้ชประจำทีมชาติจีน ทำให้ โค้ชเซียะ หมดความหมายไปโดยปริยาย จึงเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนให้แก่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดตั้งแต่ พ.ศ.2534 เรียกได้ว่าได้เห็นขนไก่มือ 1 โลกป้ายแดงตั้งแต่แบเบาะและเคยมีโอกาสเลี้ยงดูอยู่พักหนึ่งช่วงที่พ่อแม่ของเธอติดงานที่โรงงานทำขนมทองหยอด
"ตอนนั้น เมย์ เป็นเด็กที่ตัวเล็ก ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง พ่อแม่จึงให้มาเล่นแบดมินตัน และผมก็ได้รับหน้าที่ดูแลการซ้อมให้ เมย์ ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ มาจนถึงทุกวันนี้" โค้ชชาวจีน เริ่มกล่าว
แม้หลายครั้งที่ เซียะ จือหัว พา รัชนก เอาชนะนักกีฬาจีน ซึ่งเจ้าตัวก็มองว่าเป็นการทำหน้าที่ในฐานะคนจีนที่พาคนอื่นประสบความสำเร็จได้ตามแบบฉบับของบ้านเกิด "แต่ก่อนผมช่วย หลี่หย่งปอ และ เถียนปิ่งอี้ ให้ได้แชมป์ ผมภูมิใจมาก ตอนนี้ผมทำให้เด็กของผมเป็นแชมป์ และเป็นเบอร์ 1 โลกอีก ก็ภูมิใจนะ ผ่านมาแล้ว 25 ปี ผมก็ยังถือหนังสือเดินทางจีน ยังเป็นคนจีน สอนนักกีฬาก็ถือว่าเป็นการอุทิศตนให้จีนนะ ก็เหมือนกับที่ หลางผิง ที่เป็นอดีตนักกีฬาทีมชาติจีน แต่ปัจจุบันเป็นโค้ชวอลเลย์บอลที่ประเทศสหรัฐอเมริกา" โค้ชเซียะ กล่าวอย่างภูมิใจ
หลังจากพร่ำสอนอยู่พักใหญ่จึงได้เวลาส่ง รัชนก ประเดิมเวทีแข่งขันรายการแรกที่จังหวัดอุดรธานี ปรากฏว่าสาวน้อยวัย 7 ขวบ ณ เวลานั้น คว้าแชมป์มาครองได้ทันที จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้ฝึกสอนจากแดนมังกร เข้าไปคุยกับ กมลา ทองกร ผู้อำนวยการประจำบ้านทองหยอด เพื่อดึงตัวมาซ้อมแบบเต็มเวลา โดยหมายมั่นที่จะปั้นสาวน้อยคนนี้ไปสู่ความสำเร็จ ภายหลังได้รับอนุญาตจาก “แม่ปุก” และครอบครัว “น้องเมย์” ก็ได้กลายเป็นลูกศิษย์ประจำ ร่วมออกเดินทางไปล่ารางวัลด้วยกันในหลายรายการทั่วโลก
โค้ชเซียะ เลือกใช้วิธีการฝึกฝนแบบจีนส่งผลให้ลูกศิษย์คือ น้องเมย์ สามารถกวาดแชมป์แบดมินตันในประเทศไทยได้เกือบทุกรายการ โดยทุกวันนักกีฬาต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 เพื่อออกกำลังและวิดพื้นเสริมสร้างกำลังแขน แล้วปล่อยให้แยกย้ายไปโรงเรียน พอเลิกเรียนก็ต้องกลับมาซ้อมในคอร์ตอีก ซึ่งวันธรรมดาจะซ้อมกัน 5 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าเสาร์-อาทิตย์ ซ้อมหนัก 7 ชั่วโมง เรียกได้ว่า 365 วัน ซ้อมไม่มีวันหยุด
ทั้งนี้ ผู้ฝึกสอนชาวจีน กล่าวเสริมถึงวิธีที่ผลักดันขนไก่สาวไทยทะยานขึ้นสู่มือ 1 โลก เคล็ดลับข้อแรกคือ เก็บชั่วโมงบิน การจะปั้นดินเป็นดาวได้นั้นจะต้องเริ่มปั้นกันตั้งแต่ยังเล็ก น้องเมย์ เองก็เริ่มเล่นแบดมินตันตั้งแต่อายุ 5 ขวบ โรงเรียนฝึกกีฬาทุกแห่งของจีนก็ยึดแนวทางนี้เด็กที่จะเตรียมตัวเล่นกีฬาอาชีพ ต้องเริ่มคุ้นเคยและเก็บชั่วโมงบินยิ่งเร็วยิ่งดี
“ในจีนนักกีฬาเก่งๆ จะถูกดึงตัวเข้าสมาคม แต่การซ้อมของผมแตกต่างจากสมาคมแบดมินตันฯ ไทย เท่าที่ทราบโค้ชที่สมาคมจะเน้นเรื่องพละกำลังมากกว่า ส่วนผมเน้นเรื่องเทคนิคและการอ่านเกมแบบเดียวกับโค้ชที่เมืองจีนสอน ซึ่งการสอนของผมดีกว่า ดังนั้น รัชนก ก็ต้องอยู่กับผม ไม่ใช่อยู่กับสมาคมเหมือนนักกีฬาจีน"
ข้อสองคือ มีระเบียบวินัย พูดง่ายๆ คือต้องมีเป้าหมายชัดเจน ซึ่ง โค้ชเซียะ ยอมรับว่าเขาฝึก น้องเมย์ ก็ฝึกเตรียมเพื่อให้เป็นแชมป์โลก และยังเสริมถึงวิธีสอนนักกีฬาให้รับมือกับความกดดันยามลงสนามด้วย เพราะถือเป็นเรื่องธรรมดาที่นักกีฬาต้องเผชิญกับความกดดันไม่ว่าลงแข่งที่บ้าน หรือต่างประเทศ และย้ำเตือนเสมอว่าเวลาแข่งให้มุ่งสมาธิไปที่คู่แข่งเพียงอย่างเดียว "หลังจาก เมย์ คว้าแชมป์โลกเมื่อปี 2013 ก็ถูกหลายฝ่ายจับตามองจนฟอร์มตกไปช่วงหนึ่ง แต่เมื่อเธอโตขึ้นก็เข้าใจในสิ่งที่ผมสั่งสอน และมีสมาธิมากขึ้น"
นอกจากนี้ รัชนก ยังได้ฝึกนั่งกรรมฐานทุกวันในตอนเช้าและก่อนนอน ครั้งละ 15 นาที ตามคำแนะนำของ "โค้ชเป้" ภัททพล เงินศรีสุข ลูกชายคนโตของผู้อำนวยการบ้านทองหยอด ดีกรีนักแบดมินตันทีมชาติที่เคยฝ่าฟันเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิก 2004 ทำให้ช่วยให้เจ้าตัวมีความนิ่งและมีสมาธิกับเกม จนสามารถกวาดถึง 4 แชมป์ได้ในปี 2016 นี้
ข้อสามคือการฝึกฝนทักษะรอบด้าน โค้ชเซียะ กล่าวว่าโปรแกรมการฝึกจะต้องเน้นทั้งการฝึกความพร้อมของร่างกายฝึกการเคลื่อนไหวฝึกทักษะการเล่นลูกรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะหยอด ตบ ตัด สิ่งสำคัญคือไม่ใช่การฝึกแบบตามมีตามเกิดปล่อยให้เด็กๆ เล่นแข่งขันกันเอาสนุกไปเรื่อยแต่เป็นการเน้นไปทีละทักษะ ทีละลูก ทีละเทคนิค พร้อมตรวจสอบและแนะนำแก้ไขจุดอ่อนของแต่ละคน เสริมลูกที่เป็นจุดแข็งปิดลูกที่เป็นจุดอ่อน
"ที่สำคัญที่สุดคือการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย นอกจากผมและ โค้ชเป้ ที่จะคอยประสานงานกันเรื่องเทคนิก อย่างเช่นในนัดชิงชนะเลิศที่สิงคโปร์ โค้ชเป้ ดูถ่ายทอดสดการแข่งขันอยู่ที่ประเทศไทย และเห็นว่า น้องเมย์ เน้นการหยอดลูกท้ายคอร์ตในขณะที่เราอยู่ท้ายลม ทำให้ลูกไปไม่ถึงจุดที่ตั้งใจไว้ จึงช่วยแนะนำวิธีแก้เกม และผมก็ช่วยกำกับการเล่นตามแบบที่โค้ชเป้แนะนำ ช่วยให้เราประสบความสำเร็จ" โค้ชเซียะ เผย
"เรายังมีทีมงานอื่นๆ เข้ามาช่วยดูแล อาทิ นักกายภาพเข้ามาวิเคราะห์เรื่องร่างกายอย่างละเอียด ดูทุกการเคลื่อนไหว การใส่แรงตีในแต่จังหวะ และยังมี ทีมจิตวิทยา ทีมโภชนาการ คอยควบคุมอาหารเพื่อรักษารูปร่างให้พร้อมสำหรับแข่งขันอยู่ตลอด"
ข้อสุดท้ายที่ถือเป็นความโชคดีของ "น้องเมย์" คือความเข้าใจคู่ต่อสู้ โค้ชเซียะ บอกว่าตนเข้าใจทีมจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญอย่างทะลุปรุโปร่งว่าจุดแข็งจุดอ่อนของนักกีฬาจีนแต่ละคนอยู่ตรงไหน ฝึกฝนมาอย่างไร เทคนิคเป็นอย่างไร ในภาพรวมจุดแข็งของจีนอยู่ที่การฝึกฝนที่หนักและการแข่งขันภายในที่ดุเดือด เพราะนักกีฬาจีนที่เก่งๆ มีมากแต่ก็กลายเป็นจุดอ่อนเช่นกัน คือ ความล้าและความกดดัน น้องเมย์ ได้เปรียบตรงที่ร่างกายมีความพร้อมและยังเติบโตในบรรยากาศของสังคมที่อบอุ่นกว่า
นอกจากนี้ โค้ชเซียะ ยังเผยถึงประสบการณ์ที่ได้ออกทัวร์นาเมนต์ร่วมกับ รัชนก ในฐานะโค้ชประจำตัวว่า คอกีฬาแบดมินตันที่จีนชื่นชอบ รัชนก เป็นอย่างมาก ด้วยกิริยามารยาทที่น่ารัก ยกมือไหว้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ตัดสินหรือเจ้าหน้าที่เช็ดพื้นสนาม ด้วยความที่เป็นนักกีฬาที่ลงเล่นด้วยอารมณ์ยิ้มแย้มแจ่มใส บวกกับผลงานอันยอดเยี่ยม ทำให้แฟนๆ ต้อนรับอบอุ่น และยังตั้งฉายาให้ด้วยว่า “เทียน ฉาย เส้า หลุ่ย” (แปลว่า สาวน้อยมหัศจรรย์)
เรื่องโดยทีมข่าว MGR Sport