ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 - กอล์ฟถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมลำดับต้นๆ ของโลก กระนั้นก็ตามสำหรับ โอลิมปิก เกมส์ ปี 2016 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 5-21 สิงหาคมนี้ คือการบรรจุเข้ามาชิงชัยเหรียญทองครั้งแรกรอบ 112 ปีต่อจากที่ เซนต์ หลุยส์ เกมส์ เมื่อปี 1904
จั่วหัวแบบนี้แล้วแน่นอนว่าไม่มีผู้เล่นคนไหนในโลกนี้ที่จะปัดโอกาสที่เรียกได้ว่าชาติหนึ่งจะมีสักครั้ง สำหรับฝ่ายชายนั้นต่างยกย่องว่าเป็นเมเจอร์ลำดับที่ 5 เลยทีเดียว กระนั้นก็ตามเชื่อว่าบรรดาซูเปอร์สตาร์ของวงการต่างกังวลถึงโปรแกรมการแข่งขันที่ประดังเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น ไรเดอร์ คัพ, เฟดเอ็กซ์ คัพ ไปจนกระทั่ง เรซ ทู ดูไบ
นักกอล์ฟอาชีพเหล่านี้ปีหนึ่งทำเงินระดับร้อยล้านบาท แต่การมาแข่ง โอลิมปิก เกมส์ ต้องเคารพกฎระเบียบยิบย่อยเฉกเช่นผู้เล่นคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำอันดับเพื่อให้ผ่านควอลิฟาย ตรวจหาสารกระตุ้น ไปจนกระทั่งการพักที่หมู่บ้านนักกีฬาที่ความสะดวกสบายไม่เหมือนโรงแรมระดับ 5 ดาว ไลฟ์สไตล์ อาทิ การดื่มไวน์หรือสูบบุหรี่นั้นไม่ควรมีให้เห็น ทุกอย่างท้าทายและถือเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมด
อดัม สกอตต์ นักกอล์ฟหนุ่มชาวออสซีอดีตมือ 1 ของโลกและแชมป์เมเจอร์ เดอะ มาสเตอร์ส ปี 2013 ปัจจุบันวัย 35 ปี ถือเป็นคนหนึ่งที่ไม่พิสมัยการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ โดยมองว่าเป็นแค่การแสดงนิทรรศการเท่านั้น ส่วนหนึ่งเพราะช่วงเวลาไม่เอื้ออำนวยด้วย “ขอบอกเลยว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เป้าหมายลำดับต้นๆ แต่หมายความว่าผมขอตัดสินใจอีกครั้งเมื่อถึงเวลาว่าเหมาะสมจะไปเล่นหรือไม่ เพราะทั้งฤดูกาลเราไม่ได้มีแค่เป้าหมายเดียว ผมไม่ได้กำหนดโปรแกรมเพื่อไป ริโอ เดอ จาเนโร เท่านั้น อีกทั้งถ้าร่างกายฟิตพอก็เล่น แต่ถ้าไม่ก็คือไม่"
ต่างกับ จอร์แดน สปีธ วัย 22 ปีมือ 1 ของโลกคนปัจจุบันชาวอเมริกันที่ปี 2015 ระเบิดฟอร์มซิว 2 แชมป์ระดับเมเจอร์ โดยกล่าวว่า "การได้ไปแข่ง โอลิมปิก ร่วมพิธีเปิด นอนในหมู่บ้านนักกีฬา รวมถึงพบปะกับนักกีฬามากหน้าหลายตาจากทั่วทุกมุมโลก ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ผมหวังว่าจะได้รับช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ผมต้องการไปที่นั่นเพื่อเหรียญทอง เปรียบเสมือนเมเจอร์ที่ 5 ก็ว่าได้ เหนืออื่นใดคุณต้องมีความพร้อมที่สุด"
ด้วยฟอร์มการเล่น สปีธ จะเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติสหรัฐอเมริกาอย่างไม่ต้องสงสัย โดยการควอลิฟายจะมีเดดไลน์จนถึงวันที่ 11 กรกฎาคมนี้จากนั้นก็จะประกาศอย่างเป็นทางการว่าใครจะได้ไปบ้าง โดยท็อป 60 ของโลก ณ เวลานั้นจะได้สิทธิ์ แต่ว่าก็มีข้อแม้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ ท็อป 15 ของโลกหากมีผู้เล่นชาติเดียวกันติดเข้ามาเกินกว่า 4 คนเป็นอันว่าที่เหลือจะหลุดออกไป เพราะโควตาของแต่ละชาติชายกับหญิงนั้นมีแค่ชาติละ 4 คนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองก็เพื่อผู้เล่นจาก 5 พื้นที่หลักของโลกตามหลักภูมิศาสตร์คือ ยุโรป, อเมริกา, เอเชีย, โอเชียเนีย และแอฟริกา จะได้มีส่วนร่วมกับมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่นี้
เหนืออื่นใดเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้เล่นระดับ จัสติน โรส ชาวอังกฤษ ยินดีที่จะทบทวนและวางปฎิทินแข่งขันช่วง โอลิมปิก ที่เกิดขึ้นต่อจาก 2 เมเจอร์สุดท้ายที่แข่งใกล้ๆ กันคือที่ รอยัล ทรูน กับที่ บัลตัสโรล ตอนเดือนกรกฎาคม "สำหรับผมถือเป็นโอกาสดี เคท ภรรยาเป็นอดีตนักยิมนาสติกแชมป์ยุโรปประเภทผาดโผน แต่ไม่ได้ถูกยอมรับใน โอลิมปิก ดังนั้นเธอหวังว่าผมจะได้มีส่วนร่วมช่วยทำฝันให้เป็นจริงความเหรียญใดเหรียญหนึ่งให้สหราชอาณาจักรก็ได้"
ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมายขนาดนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่เราอาจจะไม่ได้เห็นผู้เล่นระดับซุปตาร์ สปีธ, รอรีย์ แม็คอิลรอย (ไอร์แลนด์เหนือ) หรือ ริคกี ฟาวเลอร์ (สหรัฐอเมริกา) คว้าเหรียญทอง โอลิมปิก ซึ่งไม่แน่สิ่งนี้อาจจะเป็นผลกระทบถึงการแข่งขันทัวร์นาเมนต์หลักของกอล์ฟส่งให้ตำแหน่งแชมป์เปิดกว้างมากขึ้น
ส่วนการแข่งขันนั้นก็แบบโตรกเพลย์ 72 หลุมมีเหรียญให้ชิงชัยกันประเภททีม, บุคคลชายและบุคคลหญิง เหนืออื่นใดก็มีหลายฝ่ายพยายามที่จะเสนอความคิดไปยัง สหพันธ์กอล์ฟนานาชาติ เพื่อช่วยกันปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สนุกและน่าสนใจมากขึ้น อาทิ เมื่อผ่าน 2 รอบแรกไปแล้วผู้เล่นที่ผ่านควอลิฟายจะต้องแข่งกันแบบแมตช์เพลย์ 16 คนเป็นต้น
ต้องยอมรับว่าทุกอย่างตะกุกตะกักมากกับการที่กอล์ฟถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬารอบมากกว่า 1 ศตวรรษ ไม่เว้นแม้กระทั่งสนามที่ ริโอ เดอ จาเนโร ก็ต้องสร้างขึ้นใหม่ จากนั้นพอจบการแข่งขันที่ บราซิล ก็ต้องกลับมานั่งทบทวนถึงปรากฎการณ์ครั้งนี้ว่าควรจะรักษาสถานะให้มีต่อไปในปี 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หรือไม่ โดยจะมีการลงคะแนนเสียงโหวตกันในปี 2017 พินิจพิเคราะห์ถึงผลดีและผลเสียกันในท้ายที่สุด
เรื่อง สรเดช เพชรแสงใสกุล