เจน ปิยะทัต ประธานสโมสรแบดมินตันแกรนนูลาร์ เผย 23 นโยบาย ชิงตำแหน่งนายกสมาคมแบดมินตันฯ เน้นแก้ไขกฎระเบียบการจัดแข่งขัน และขจัดการแบ่งฝ่ายในสมาคมฯ
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายเจน ปิยะทัต ประธานสโมสรแบดมินตันแกรนนูลาร์ หนึ่งในผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ค ใช้ชื่อ Jane Piyatat เผยนโยบายการบริหารงานของสมาคมฯ 23 ข้อ เพื่อตำแหน่งนายกสมาคมแบดมินตันฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคมนี้
โดยนโยบายมีดังนี้
1. แก้ไขการเลือกตั้ง ให้เกิดความเป็นธรรม โดยไม่ให้คณะกรรมการสมาคมออกเสียงเลือกตั้ง จะให้เฉพาะสมาชิกสามัญ และสมาชิกที่มีการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง
2. จัดหาสถานศึกษาให้กับนักกีฬาทุกระดับตั้งแต่มัธยมไปจนถึงระดับปริญญาเพื่อแบ่งเบาและเป็นการเพิ่มความมั่นคงทางการศึกษา
3. จัดหาสถานที่ฝึกซ้อมใหม่ ให้กับนักกีฬาทีมชาติปัจจุบัน และเยาวชนทีมชาติปัจจุบัน
4. สร้างนักกีฬาชุด A, B, C และจัดหาผู้ฝึกสอนระดับโลกควบคู่กับโค้ชไทยมาพัฒนานักกีฬาชุด A, B, C
5. ปรับปรุงแก้ไข กฎระเบียบการแข่งขันภายในประเทศ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปฏิทินการแข่งขันภายในประเทศเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกัน และจัดโปรแกรมการแข่งขันให้มีความกระชับขึ้น เพื่อไม่ให้นักกีฬาต้องเสียการเรียน รวมถึงปรับเงินรางวัลจากการแข่งขันให้สมเหตุสมผลมากขึ้น
6. ส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาแบดมินตันให้เป็นอาชีพ โดยพัฒนาแบดมินตันไทยแลนด์ลีกให้ทันสมัยเทียบเท่ากับระดับนานาชาติเพื่อให้เกิดความมั่นคงในวงการแบดมินตันไทย และพัฒนาต่อให้เป็นอาชีพที่มั่นคง
7. ส่งเสริมและสนับสนุน สมาชิกสโมสรต่างๆที่สร้างนักกีฬาสู่ทีมชาติ และมีส่วนร่วมในการแข่งขันระดับชาติอย่างต่อเนื่อง เช่น สนับสนุนลูกขนไก่เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของแต่ละสโมสร
8. จัดการแข่งขันแบบ ดิวิชัน 1, 2, 3 เพื่อให้โอกาสนักกีฬาใหม่ๆ ได้มีโอกาสพัฒนาฝีมืออย่างแท้จริง และเพิ่มเงินรางวัล โดยจะมีการปรับเงินรางวัลเพื่อสนับสนุนการฝึกซ้อมให้มากขึ้น
9. จัดทำสวัสดิการให้อดีตนักกีฬาทีมชาติและปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนหรือโบนัสต่างๆจากการแข่งขันเพื่อให้มีกำลังใจและจะยกย่องเชิดชูให้ความสำคัญกับคุณค่าของปูชนียบุคคลและสโมสรที่เคยสร้างผลงานดีเด่นในอดีต
10. เมื่อเยาวชนได้ก้าวขึ้นสู่ทีมชาติทางสมาคมจะจัดหาอาชีพที่มั่นคงให้ เช่น ทหาร ตำรวจ และรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น เพื่อรองรับหลังจากการเลิกเป็นนักกีฬา
11. การจัดสรรหาตัวนักกีฬาชุด A, B, C อย่างยุติธรรม ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก และเพื่อความบริสุทธิ์ยุติธรรม
12. ออกระเบียบเรื่องการย้ายสโมสรของนักกีฬาที่เก่งและมีความสามารถ โดยต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 3 ฝ่าย ดังนี้ 1) สโมสรแรกของนักกีฬา 2) สโมสรใหม่ที่จะย้ายไปอยู่ โดย 3) สมาคมจะเป็นสักขีพยานในการเจรจาตกลง ทั้งนี้รวมถึงการเจรจาตกลงกันด้วยมูลค่าของเงินเพี่อรองรับการทำเป็นอาชีพ เพื่อป้องกันความขัดแย้งกันเหมือนที่มีตัวอย่างให้เห็นในปัจจุบัน
13. ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาองค์กรในสมาคมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อความอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานให้กับสมาชิกที่ต้องที่มาติดต่อกับสมาคม
14. จัดระบบทีมงานแมวมอง หรือโค๊ชที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อคัดเลือกหาตัวนักกีฬาดาวรุ่ง ทั้งจากกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อหาช้างเผือกตามรายการแข่งขันต่างๆ เพื่อนำเยาวชนเหล่านั้นมาพัฒนาสู่เยาวชนทีมชาติและทีมชาติในอนาคต
15. การจัดทีมงานหรือโค้ชที่มีประสิทธิภาพเปิดอบรม และให้ความรู้วิธีการฝึกซ้อมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อสมาชิกสโมสรจะได้นำไปพัฒนานักกีฬาได้จริง รวมทั้งวิทยาศาสตร์ทางกีฬาด้วย
16. จัดโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพให้อดีตทีมชาติและทีมชาติปัจจุบัน เพื่อนำบุคลากรเหล่านี้มาพัฒนาเยาวชนทั้งกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อเข้าถึงสมาชิกที่ไม่สะดวกในการเดินทางมาที่กรุงเทพมหานคร
17. ส่งเสริมให้มีการแข่งขันในรุ่นอายุ 18 - 20 ปีมากขึ้น เพราะปัญหาปัจจุบันในนักกีฬารุ่นนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ทำให้นักกีฬาเหล่านี้มีความรู้สึกท้อและเลิกเล่นในที่สุด
18. ปรับโครงสร้างเงินเดือนของบุคลากรและโค้ชให้มากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน
19. สนับสนุนและส่งเสริมแก่นักกีฬาสูงอายุแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมรวมถึงนักกีฬาคนพิการอย่างมีประสิทธิภาพ
20. ดึงรายการแข่งขันนานาชาติให้มาแข่งในประเทศไทยมากขึ้นเพื่อให้วงการแบดมินตันบ้านเราได้เห็นเทคนิคและใกล้ชิดระดับโลกมากขึ้น
21. พัฒนาแบดมินตันเว็บไซด์ให้เปลี่ยนเป็นการแข่งขันระดับประชาชนทั่วไป โดยสมาคมเข้าไปกำกับดูแลและเข้าช่วยเหลือเรื่องเทคนิคต่างๆเช่นเรื่องผู้ตัดสินและจัดอันดับมือระดับประชาชนทั่วไปพร้อมประกาศอันดับมือทุกๆ3เดือน
22. พัฒนาความสัมพันธ์กับสมาคมแบดมินตันไทยกับสมาคมแบดมินตันของต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการส่งผู้ฝึกสอน นักกีฬา เพื่อศึกษาเทคนิคและเข้าร่วมฝึกซ้อม หรือผู้บริหารและพนักงานของสมาคมให้เข้ารับการอบรมศึกษาระเบียบกติกาองค์กรที่กำกับดูแลแบดมินตันในต่างประเทศ เช่น BWF, BAC ให้ทันสมัย
23. ส่งเสริมสนับสนุนผู้ตัดสินไทยเข้ารับการฝึกอบรม สอบเลื่อนชั้น เพื่อจะได้มีผู้ตัดสินของไทยสามารถตัดสินงานแข่งขันระดับนานาชาติมากขึ้น
นอกจากนี้ นายเจน ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมสัญญาว่าจะบริหารจัดการ ระบบการบริหารงานแบบธรรมาภิบาล และโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา การพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรในองค์กรให้มีคุณภาพ มีความก้าวหน้าเป็นสากล และการให้สโมสรสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานองค์กร เพื่อให้วงการแบดมินตันไทยก้าวไกลและมีชื่อเสียงเทียบเท่ากับต่างประเทศ ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ความพอเพียง ส่งเสริมกีฬาของชาติ เพื่อความสามัคคี เปิดโอกาสให้คนด้อยโอกาส ส่งเสริมคนดีคนเก่งของสังคม ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยความทุ่มเท พร้อมที่จะพัฒนาให้ทันต่อยุคปัจจุบัน”