xs
xsm
sm
md
lg

นักกอล์ฟ…คอหัก!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กีฬากอล์ฟนี่โครตแปลก!...คนที่วงสวิงสุดห่วยแตก…ก็ยังแดกเพื่อนทั้งก๊วน!!”

“เฮียชู” โพล่งขึ้นเมื่อเห็นพี่แขกวาดวงสวิงสุดประหลาดราวกับรำลิเก…แต่ส่งลูกออกไปทั้งตรงและทั้งไกลอย่างเหลือเชื่อ “อ๋อ…วงของพี่แขกแกใช้ความจำของกล้ามเนื้อล้วนๆเลยครับเฮีย” “เออ…กูก็ว่างั้น” เฮียรับคำอย่างงงๆ

โธมัส แทมี นักกอล์ฟวัย 60 เป็ผู้มีวงสวิงผิดปกติไม่เหมือนคนอื่น เขาสวิงโดยไม่ได้มองไปที่ลูกเลย สกอร์ที่ดีที่สุดของเขาในการเล่น 18 หลุมคือ 76 ที่สนามไฮด์พาร์ค กอล์ฟ แอนด์คันทรี คลับ และเขาสามารถที่จะลดแต้มต่อจาก 14 ลงมาอยู่ที่ 8 หรือ 9 ได้ แม้ว่าจะใช้เวลานานตลอดฤดูใบไม้ผลิ เพื่อนเขาตอบข้อกังขาของเราว่า… “อ๋อ…ทอมเขาเคยคอหักมาก่อน” ….นักกอล์ฟคอหัก…จริงดิ!!! “จริงครับ” แทมี สารภาพ “ตอนนั้นผมเป็นนักกระโดดน้ำของทีมว่ายน้ำในระดับไฮสคูล มีครั้งหนึ่งผมกระโดดพลาดจากบอร์ดที่มีความสูง 3 เมตร ศีรษะไปกระแทกกับพื้นสระที่มีลักษณะตื้นเกินไป ซึ่งทำให้ผมขยับตัวไม่ได้อยู่ระยะหนึ่ง หมอบอกว่าถ้ามีกระดูกหักแล้วไปกดเส้นประสาทไขสันหลังส่วนคออาจทำให้เป็นอัมพาตได้”

เขาได้รับการผ่าตัดเชื่อมต่อกระดูกสันหลังส่วนคอ 4 ชิ้นแรกเข้าด้วยกัน เพื่อยึดให้ศีรษะตั้งอยู่ได้ ซึ่งแน่นอนการเคลื่อนไหวของคอและศีรษะจะถูกจำกัดลงมาก “ผมมองไม่เห็นลูกกอล์ฟในจังหวะปะทะ” แต่ด้วยความรักที่จะเล่นกอล์ฟ “ผมไปซื้อไม้กอล์ฟใช้แล้วมาชุดหนึ่ง แล้วบอกกับโปรของสนามว่า ผมต้องการเรียนกอล์ฟ แต่ว่าหมุนศีรษะไม่ได้ ซึ่งโปรก็บอกกับผมว่า ไม่มีปัญหา เขาหลับตาแล้วเริ่มตีลูกให้ผมดู ผมบอกเขาว่า “นี่แหละคือสิ่งที่ผมต้องการทำ”

แทมีต้องใช้เวลาอยู่นานเพียงเพื่อเรียนรู้การปะทะ “เมื่อผมขึ้นไม้ผมจะมองไม่เห็นลูกแล้วก็ตีไม่เคยโดนลูกเลย…ผมจึงต้องอาศัยการเพ่งไปที่การจดจำของกล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว เมื่อผมเล่นได้ดี มันก็จะเป็นเพราะว่าผมสร้างจินตนาการถึงวงสวิงของผมว่าควรจะมีลักษณะเช่นไร” แต่การเล่นของเขาก็ไม่ได้เข้าที่เข้าทางมากนัก จนกระทั่งเขามีอายุ 40 กว่าปี และมีเวลาที่จะเข้าไปฝึกซ้อมในสนามซ้อมได้อย่างเพียงพอ “ผมรักกอล์ฟ” เขาบอก “ผมหมายถึง ผมรักที่จะเล่น ซึ่งถ้าหากมีอะไรเกิดขึ้นจนทำให้ผมต้อหยุดเล่น ผมคงจะเสียใจไปอีกนาน”

ในกรณีของแทมี…ชัดเจนว่าเขาอาศัยความจำของกล้ามเนื้อ (Muscle Memory) เพื่อการตีให้ถูกลูกในลักษณะเดิมทุกครั้งซ้ำๆกัน เหมือนการทำงานของเครื่องจักร ส่วนการปรับแต่งทั้งทิศทางและระยะเกิดจากประสบการณ์ที่เรียนรู้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวในแต่ละรูปแบบ พูดง่ายๆคือ เขาต้องเรียนรู้ที่จะจดจำว่า ถ้าจะตีให้ได้ผลอย่างนี้ต้อบังคับให้กล้ามเนื้อตีในลักษณะไหน? แล้วต้องฝึกตีในลักษณะนั้นซ้ำๆจนเข้าฝักหรือเคยชิน (เพื่อให้ได้ผลซ้ำอย่างที่ต้องการ)ซึ่งต้องอาศัยจินตนาการและสมาธิเป็นอย่างมาก

แต่นักกอล์ฟที่ร่างกายปกติอย่างพวกเราก็อย่าทะนงว่าจะได้เปรียบแทมีเขานะ…ถ้าเรายังเอาชนะสัญชาตญาณในการอยากชมผลงานของตัวเอง (ยกหัวมองตามลูก) หลังการปะทะไม่ได้!

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น