xs
xsm
sm
md
lg

"เลซอง" อินชอนเกมส์ มดงานสู่ความสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เบญจมาศ (กลาง) และทีมเลซองของไทย
ASTV ผู้จัดการรายวัน – หากทัพนักกีฬาจากนานาชาติ คือองค์ประกอบหลักของทัวร์นาเมนต์ระดับใหญ่อย่าง เอเชียน เกมส์ ณ เมืองอินชอน เกาหลีใต้ ซึ่งเข้าถึงช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว เจ้าหน้าที่ประสานงานหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า เลซอง (Liaison) ก็คืออีกตัวละครสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนดูแลอำนวยความสะดวกทุกเรื่อง แต่น้อยคนนักจะรู้ว่ากว่าจะถูกคัดเลือกมาทำหน้าที่นี้ต้องมีคุณสมบัติหรือเจออุปสรรคใดๆ บ้างระหว่างปฏิบัติงาน

สำหรับทีมนักกีฬาไทย ชุดสู้ศึก “อินชอน เกมส์” ขนทัพมาบุกเมืองกิมจิถึง 518 คน รวมทุกชนิดกีฬาทั้งผู้เล่นและสตาฟฟ์โค้ช ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละสมาคมจะต้องมีผู้ประสานงาน หรือ เลซอง เป็นคนท้องถิ่น คอยดูแลติดต่อเรื่องขอสถานที่ฝึกซ้อม, พานักกีฬาเข้าพักที่หมู่บ้าน, หารถรับส่งไปสนามแข่ง หรือจัดหาอาหารการกินให้ถูกปาก เรียกว่าต้องทำงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะส่งนักกีฬาเข้านอนแล้วถึงค่อยแยกย้ายกลับบ้าน

โดย MGR Sport มีโอกาสพูดคุยกับ เบญจมาศ จอง หญิงไทยวัย 45 ปี ที่ถูกคัดเลือกจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลของเกาหลีใต้ เข้ามาเป็นหนึ่งใน เลซอง ประจำทีมนักกีฬาไทย ซึ่ง เบญจมาศ เล่าว่าปกติแล้วตนมีอาชีพเป็นล่ามและแม่บ้านที่มีสามีเป็นคนท้องถิ่น เนื่องจากมีครอบครัวอยู่ที่นี่ จนเมื่อคณะโอลิมปิกแห่งแดนกิมจิ เปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่ประสานงานจึงลองยื่นใบสมัครเข้ารับการทดสอบเรื่องภาษา ทัศนคติ จนผ่านและบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ประจำทีมไทย

เบญจมาศ พูดถึงการทำงานแต่ละวันว่า “หน้าที่ของพี่คือต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เช็คตารางงานว่าวันนี้นักกีฬาที่เราดูแลอยู่ต้องไปแข่งที่ไหน แข่งเวลากี่โมง แข่งเสร็จก็พาไปทานอาหาร เรียกว่าต้องช่วยเหลือทุกเรื่อง รวมถึงเป็นล่ามแปลภาษาให้ถ้านักกีฬาร้องขออะไรเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่แล้วพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ส่วนเวลาเลิกงานก็ไม่แน่นอน ถ้าแข่งจบส่งพวกเขาเข้านอนเร็วก็จะได้กลับเร็ว แต่ถ้าแข่งเสร็จช้าก็ต้องรอจนกว่านักกีฬาเข้าหมู่บ้านซึ่งดึกสุดคือตี 1”

แม่บ้านชาวไทย เผยต่อว่านอกจากเธอแล้วยังมีเจ้าหน้าที่อีก 13 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ คอยสลับสับเปลี่ยนกันไปประจำตามสมาคมต่างๆ เนื่องจากมีจำนวนไม่เพียงพอ ซึ่ง จาง ฮยอน ซู นักศึกษาหนุ่มวัย 23 ปี อธิบายส่วนนี้ว่าเขาเคยต้องตีรถไปประสานงานให้ทีมวอลเลย์บอลชาย พอเสร็จงานก็ไปดูทีมแบดมินตัน และทีมฟุตบอลแข่งต่อจนจบถึงจะได้กลับบ้านซึ่งก็มืดค่ำพอสมควร

การทำงานกับคนต่างสัญชาติ แน่นอนว่าย่อมเป็นเรื่องยาก โดย จวน ฮา ยอน นักศึกษาสาวอีกคนเผยว่านักกีฬาจากชาติอื่นมักจะมีข้อเรียกร้องส่วนตัวแปลกๆ จนทำให้ เลซอง ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันทำงานแทบหัวหมุนอันเนื่องจากความต่างของวัฒนธรรม ทว่าไม่ใช่กับนักกีฬาไทย ซึ่งเธอระบุว่านักกีฬาจากแดนสยามมีอัธยาศัยที่ดีกว่าชาติต่างๆ ไม่มีเรื่องจุกจิก และให้เกียรติกับชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าสตาฟฟ์โค้ชทีมฟุตบอลของอิหร่าน ถูกส่งตัวกลับบ้านเนื่องจากแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่ออาสาสมัครสาวๆ จวน ฮา ยอน ซึ่งเคยมีประสบการณ์ทำงานกับนักกีฬาต่างชาติในทัวร์นาเมนต์อื่นมาก่อน ระบุยังไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้กับตัวเอง แต่หากเกิดขึ้นก็จะพยายามปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงไม่ขอเข้าทำงานให้กับทีมอีก แล้วนำไปร้องเรียนคณะกรรมการจัดแข่งขันเพื่อนำตัวคนผิดมาลงโทษ

ในส่วนของค่าตอบแทน แม้จะอยู่แค่วันละ 5 หมื่นวอน (ประมาณ 1,850 บาท) เทียบไม่ได้เลยกับงานที่ต้องใช้ไหวพริบและแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าตลอดเวลา แถมสวัสดิการก็มีเพียงแค่นั่งรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรีจนจบทัวร์นาเมนต์ แต่ จาง ฮยอน ซู และ จวน ฮา ยอน ที่กลับบ้านดึกดื่นทุกคืนจนพ่อแม่เป็นห่วง พูดเสียงเดียวกันว่านี่คือประสบการณ์ล้ำค่าที่หาไม่ได้ง่ายๆ และพร้อมทำงานอย่างเต็มที่ไม่ว่าเหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็ตาม

“งาน เลเซอง ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้ การที่จะมาทำงานดูแลนักกีฬาตรงนี้ นอกจากคุณสมบัติเรื่องการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ต้องมีทัศนคติที่ดี สู้งานหนัก มีไหวพริบแก้ปัญหา รู้จักความอดทน ซึ่งเด็กเกาหลีใต้ทุกคนจะได้รับการปลูกฝังให้ทำงานหนักตั้งแต่เรียนหนังสือ เพื่อเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ส่วนพี่เองถ้ามีโอกาสก็อยากจะเข้ามาทำงานนี้อีก เพราะถือเป็นประสบการณ์ที่ดีและไม่ได้เกิดขึ้นตลอดทุกวัน” เบญจมาศ ทิ้งท้าย

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


จวน ฮา ยอน กลับบ้านดึกทุกคืน
งานหนักแต่ จาง ฮยอน ซู ไม่ท้อ
การทำงานของเจ้าหน้าที่ทีมอินเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น