ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นข่าวฮือฮา สำหรับ แฟรงค์ มาโลนีย์ อดีตโปรโมเตอร์มวยคนดังที่ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น เคลลี มาโลนีย์ แบบเสร็จสรรพจนสร้างความตื่นตะลึงไปทั้งวงการ หลังใช้ชีวิตในฐานะเพศชายมาตลอด 62 ปี ทว่าสำหรับแวดวงกีฬา มาโลนีย์ ไม่ใช่เพียงคนเดียวที่ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนตัวเอง เพราะในอดีตก็มีนักกีฬากระโดดขึ้นเขียงให้หมอลงมีดเพื่อเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงซึ่งเก็บซ่อนต่อหน้าผู้คนในสังคมมาแล้วหลายราย
เรนี ริชาร์ดส์ (เทนนิส)
ย้อนกลับไปปี 1975 เรนี หรือชื่อตามใบเกิดคือ ริชาร์ด แรสกินด์ สร้างประเด็นร้อนเมื่อเขา (หรือเธอ) เป็นนักเทนนิสคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ผ่าตัดแปลงเพศเพื่อลงแข่งขันในฐานะนักหวดหญิงชาวเมริกัน ภายใต้การลงทะเบียนของสหพันธ์เทนนิสอาชีพหญิง (WTA) ทว่าปีต่อมากลับถูกสหพันธ์เทนนิสที่บ้านเกิดสั่งแบนห้ามร่วมศึก แกรนด์ สแลม ยูเอส โอเพน โดยอ้างนโยบายว่าต้องเป็นผู้เล่นที่เป็นเพศหญิงแต่กำเนิดเท่านั้น เล่นเอา เรนี ไม่พอใจยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมจากศาลฎีกาในกรุงนิวยอร์ก จนในที่สุดก็เป็นฝ่ายชนะและได้ลงเล่นที่ ฟลัชชิง เมโดว์ส สมใจในปี 1977 แถมได้ตำแหน่งรองแชมป์ประเภทหญิงคู่ร่วมกับ เบ็ตตี-แอนน์ สจวร์ต มาเป็นของฝากถึง USTA ก่อนประกาศเลิกเล่นปี 1981 เพื่อผันตัวมาเป็นจักษุแพทย์
มิแอนน์ แบ็กเกอร์ (กอล์ฟ)
แม้จะไม่ได้ลงเล่นในทัวร์ของแอลพีจีเอ โดยแข่งเพียงรายการเล็กๆ ที่ออสเตรเลีย กับ เลดีส์ ยูโรเปียน ทัวร์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านักกอล์ฟสาวประเภทสองคนนี้ เคยเป็นที่ฮือฮาในวงการมาก่อนหลังลุกขึ้นมาร่วมประชันวงสวิงกับสาวแท้ โดย มิแอนน์ เริ่มจับเหล็กไล่หวดลูกกอล์ฟครั้งแรกเมื่ออายุ 8 ขวบ ซึ่งมี เกร็ก นอร์แมน ตำนานชาวออสซีเป็นฮีโร่ในดวงใจ แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็เริ่มค้นพบว่าตัวเองมีรสนิยมเบี่ยงเบนไปทางหญิง จึงได้ตัดสินใจขึ้นเขียงในปี 1995 และตระเวนออกรอบชิงเงินรางวัลมาตลอดโดยที่สหพันธ์กอล์ฟหญิงของออสเตรเลีย ก็ไม่ได้รู้สึกขัดข้องหรือห้ามเธอลงแข่งแต่อย่างใด
มิเชลล์ ดูมาเรสก์ (จักรยานเสือภูเขา)
มิเชลล์ หรือ ไมเคิล เริ่มค้นพบความผิดปกติในฮอร์โมนเพศเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น จนกระทั่งปี 1996 ก็ตัดสินใจครั้งสำคัญ นั่นคือเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนตัวเองจากผู้ชายเป็นผู้หญิงและเข้าร่วมการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาในปี 2001 โดยประเดิมที่แคนาดาในรุ่นผู้หญิง ก่อนคว้าชัยชนะมาได้โดยไม่มีใครโต้แย้งเรื่องสรีระหรือการแปลงเพศของเธอ เนื่องจากไม่ละเมิดกฏของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ที่ห้ามนักกีฬาแปลงเพศลงแข่งหากผ่าตัดไม่เกิน 2 ปี และนั่นก็ทำให้ ดูมาเรสก์ ยังคงลงควบเสือภูเขาคู่กายลงแข่งมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
มิเชลล์ ดัฟฟ์ (รถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก)
วงการชิงแชมป์โลกสองล้อตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไม่เคยปิดกั้นโอกาสสุภาพสตรีลงประชันความเร็วร่วมกับหนุ่มๆ บนแทร็ก ทว่า มิเชลล์ (ชื่อเดิม ไมเคิล) นักซิ่งชาวแคนาเดียนกลับเหนือชั้นยิ่งกว่านั่นคือผ่าตัดเป็นผู้หญิงแล้วลงแข่งขันรายการระดับ โรด เรเซอร์ ให้กับทีมยามาฮ่า ปี 1964 และมีผลงานยอดเยี่ยมคือได้รองแชมป์รุ่น 250 ซีซี ปีถัดมา ชนิดที่หนุ่มนักบิดหลายทีมที่ลงแข่งถึงกับอึ้ง ซึ่งจากนั้นเธอก็ได้เขียนหนังสือเปิดใจเรื่องชีวิตตัวเองแบบหมดเปลือกรวมถึงการแปลงเพศ และใช้ชีวิตกับครอบครัวที่บ้านเกิดหลังเลิกแข่ง
ปริญญา เจริญผล (มวยสากล)
เชื่อว่าแฟนกีฬาชาวไทยคงไม่มีใครไม่รู้จักกำปั้นสาวเจ้าของฉายา “นักมวยนะยะ” หากนึกถึงกรณีนักกีฬาแปลงเพศที่โด่งดังที่สุดในบ้านเราเมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยมีการเปิดเผยว่าขณะนั้น “น้องตุ้ม” ที่แต่งหน้าทาปากขึ้นเวทีโชว์เพลงหมัดสู้กับหนุ่มๆ บนสังเวียน ได้นำเงินค่าชกที่เก็บหอมรอมริบมาตลอดในการชกอาชีพ นำไปผ่าตัดแปลงจากเพศชายเป็นเพศหญิงจนสร้างความฮือฮาไปทั่วทั้งในทีวีและหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็ได้รับความสนใจถึงขนาดมีการนำเรื่องราวของเธอมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เรื่อง Beautiful Boxer ฉายในไทยและต่างประเทศมาแล้ว ก่อนที่ปัจจุบันเธอจะผันตัวมาเข้าสู่วงการบันเทิงรวมถึงเป็นครูสอนชกมวยให้กับเด็กๆ
เรื่องโดย : วัลลภ สวัสดี
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *