ASTV ผู้จัดการรรายวัน - ศึกฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย ที่ประเทศบราซิล เป็นเจ้าภาพ เปิดฉากฟาดแข้งไปแล้ว โดยมีดาวเตะชั้นนำของโลกร่วมประชัน ทว่าก็มีแข้งแถวหน้าหลายคนที่ชวดโชว์ฝีเท้า เนื่องจากประสบปัญหาอาการบาดเจ็บไปก่อนหน้านี้ อาทิ มาร์โก รอยส์ กองกลางทีมชาติเยอรมัน จากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, ฟรองค์ ริเบรี ปีกมหากาฬของทีมชาติฝรั่งเศส รวมไปถึง ริคคาร์โด มอนโตลิโว มิดฟิลด์ทีมชาติอิตาลี
สำหรับกีฬาฟุตบอลที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก นอกจากความเร้าใจแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตชนิดมองข้ามไม่ได้ โดย นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานฝ่ายการแพทย์สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการบาดเจ็บกีฬาฟุตบอล ยก 5 ปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในไทยลีกได้ด้วย ดังต่อไปนี้
1. โรคหัวใจ “กีฬาไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิต” แต่จากกรณีการเสียชีวิตของนักกีฬาระหว่างการแข่งขันที่เราได้ยินข่าวหลายต่อหลายครั้งในระยะนี้ กว่าร้อยละ 85 มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจที่ซ่อนเร้นอยู่
วิธีรักษา - เบื้องต้นสามารถใช้เครื่องปั๊มไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษา ด้วยปั้มไฟฟ้าหัวใจให้เร็วที่สุด ในเวลาไม่เกิน 2-3 นาที (ยิ่งทำการรักษาช้าโอกาสการรักษาได้ผลก็จะน้อยลง) โดยไม่ต้องรอการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์
2. ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ คืออาการที่ลิ่มเลือดไปอุดตันในส่วนลึกของเส้นเลือดดำ จะทำให้มีอาการเจ็บปวด และบวม ถ้าไม่ทำการวินิจฉัยสาเหตุและทำการรักษา ลิ่มเลือดจะแตกออกเข้าสู่กระแสไหลเวียนและแพร่กระจายไปที่ปอด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอดในที่สุด โดยกรณีนี้จะเกิดขึ้นหลังจบเกมการแข่งขันที่ร่างกายจะเสียน้ำไปมากทำให้เลือดมีความเข้มข้น และเสี่ยงที่จะมีลิ่มเลือดเพิ่มมากขึ้น
วิธีรักษา - เมื่อตรวจพบอาการจะต้องรีบให้การรักษาโดยรับตัวไว้ในโรงพยาบาล แพทย์จะเลือกให้ heparin หรือ low molecular weight heparin หลังจากนั้นต้องให้ warfarin เพื่อป้องกันลิ่มเลือดอีก 3 เดือน
3. บาดเจ็บข้อเท้า นักฟุตบอลทุกคนต้องเคยประสบพบเจอกับอาการข้อเท้าพลิก แพลง หรือ บิด ในบางช่วงเวลา โดยอาการข้อเท้าแพลงนั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงกับเส้นเอ็นและพังผืดบริเวณข้อเท้า โดยเอ็นส่วนนี้ทำหน้าที่ช่วยสร้างสมดุลย์ในการทรงตัว เมื่อได้รับบาดเจ็บจะเกิดอาการบวมและเจ็บปวด
วิธีรักษา - การปฐมพยาบาลสำหรับอาการข้อเท้าแพลง ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว หรือกิจกรรมต่างๆ ทันที, ประคบน้ำแข็งเพื่อลดความเจ็บปวด, ใช้ผ้าพันห่อข้อเท้าเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวและลดบวม, ยกข้อเท้าขึ้นสูงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เลือดไปเลี้ยง จะทำให้บวมน้อยลงและหายเร็วขึ้น
4. ม้ามแตก อาจเป็นเรื่องตลกที่เห็นเพื่อนร่วมทีมโดนบอลอัดเข้าไปที่อวัยวะสำคัญ แต่อาการที่จะตามมาเมื่อเท้าหรือลูกบอลอัดเข้าไปที่หน้าท้องด้วยความรุนแรงอาจเกิดความกระทบกระเทือนไปที่ตับหรือม้าม และอาจขั้นฉีกแตก จนนำไปสู่การเสียชีวิต
วิธีรักษา - เมื่อผู้เล่นมรอาการจุกให้ออกจากสนามทันที และรีบให้แพทย์วินิจฉัยทันที หากรุนแรงอาจถึงขึ้นต้องผ่าตัดม้ามออก ซึ่งการตัดม้ามออกนั้นจะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น และเหล็กซึ่งเดิมเคยสะสมที่ม้ามได้ด้วยจะไปสะสมในอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ทำให้ตับอ่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นตับเข็ง หรือเบาหวาน
5. เลือดคั่งในสมอง การโหม่งบอลบ่อยๆ อาจเป็นการทำลายสมองในระยะยาวที่น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่มีเพียงน้อยรายที่จะได้ผ่าพิสูจน์ ทำให้ข้อมูลหรือสถิติเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีรายงาน รวมทั้งฝ่ายแพทย์ของสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ยังไม่เคยทำวิจัยเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง
วิธีรักษา – หากมีอาการตาพร่า เบลอ มึนงง ให้พบแพทย์ด่วน เพราะก้อนเลือดในสมองอาจทำให้แรงดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง หรือก้อนเลือดกดเบียดบริเวณสำคัญ เช่น ก้านสมอง ทำให้อาการทรุดลงรวดเร็ว โดยอาจต้องใช้การผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเลือดออก หรือใช้ยาลดแรงดันในโพรงกะโหลกศีรษะ ลดสมองบวม ทั้งนี้สามารถป้องกันอาการดังกล่าว ได้โดยการสวมเฮดการ์ด เพื่อเป็นการช่วยลดการกระแทก หรือสามารถทำการออกกำลังกายที่คอเพียงแค่ 5 นาที 2 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถเพิ่มความแข็งแกร่งและป้องกันการบาดเจ็บจากการโหม่งได้
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *