xs
xsm
sm
md
lg

บูรณาการกีฬาไทย อุ้มแกนนำเชียร์ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มแกนนำเชียร์ระดับชาติ
ASTVผู้จัดการรายวัน - การที่นักกีฬาคนหนึ่งจะก้าวมาสร้างชื่อให้กับประเทศไทย นอกจากการฝึกซ้อม พัฒนาฝีมือตัวเอง ยังต้องมีแรงหนุนหลังจากทั้งผู้ฝึกสอน, สมาคมกีฬา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่ยื่นมือช่วยเหลือเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “กองเชียร์ ระดับชาติ” เป็นอีกหนึ่งพลังที่มีส่วนช่วยผลักดันไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งด้วยเอกลักษณ์การแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ กอรปกับลีลาการเชียร์ที่สร้างสีสันในสนามยามนักกีฬาไปแข่งขันยังต่างประเทศมีส่วนช่วยเรียกเสียงเชียร์จากผู้ชมรอบสนามให้หันมาส่งกำลังใจให้นักกีฬาจากสยามประเทศเป็นจำนวนมาก

ซึ่งกว่าจะมาเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนนี้ พวกเขาเหล่านั้นต้องผ่านอุปสรรคนานาชนิดในการเดินทางไปร่วมเชียร์ โดยนาย ไทยแลนด์ คำทอง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ท้าวดักแด้” นักแสดงตลกที่นอกจากจะเป็นแกนนำเชียร์ระดับประเทศแล้ว เขายังเป็นผู้นำกลุ่มกองเชียร์ เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอร่วมเดินทางไปเชียร์นักกีฬาไทยในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนถือเป็นส่วนหนึ่งของการประสบความสำเร็จของนักกีฬา โดยเจ้าตัวเล่าถึงอุปสรรคในการเดินทางไปให้กำลังใจนักกีฬาในแต่ละครั้ง “ในการแข่งขันเอเชียนบีชเกมส์ ปี 2008 ที่จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ตอนนั้นถือเป็นครั้งแรกที่ไปเชียร์กีฬาในระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งลำบากมาก เพราะผมต้องหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางเอง และอาศัยที่พักพิงจากทีมของโรงครัวนั่นเอง หลังจากนั้นการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2010 และเอเชียนพาราเกมส์ 2010 ก็ต้องหาเงินสำหรับเป็นงบประมาณในการเดินทางไปอีก ตอนนั้นจึงได้ออกผลงานเพลงอัลบั้มชุด “สีมัคคา สามัคคี” เพื่อหาทุนเดินทางร่วมเชียร์นักกีฬาทีมชาติไทยที่ประเทศจีนด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ “ท้าวดักแด้” ยังแอ่นอกยอมรับว่าสาเหตุที่ตัดสินใจมาเป็น “กองเชียร์ ระดับชาติ” ก็เพราะว่าตัวเขาอยากดัง “ยอมรับว่าใครๆ ก็อยากดังกันทั้งนั้น แต่ถ้าดังแล้วได้ประโยชน์กับส่วนรวม ไม่ได้ไปสร้างความเสียหายอะไรก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่มาทำตรงนี้ไม่ใช่เพียงแค่เป็นคนตลก แต่ต้องมีความอดทนสูงด้วย เพราะในการเดินทางแต่ละครั้งไม่ได้สะดวกสบาย แถมยังต้องยืนเชียร์ตลอดเวลา ถ้าไม่มีใจรักกีฬาก็คงทำไม่ได้ อีกอย่างเราไม่ได้มีค่าตอบแทนอะไรเลย ทำทุกอย่างก็ด้วยใจรักจริงๆ”

ขณะที่นายสามารถ คุณสวัสดิ์ หรือ “สามารถ แขนควง” ซึ่งมีลีลาการเชียร์ด้วยการเต้นท่าควงแขนแบบไร้กระดูกจนเป็นที่จดจำไปทั่วโลก เผยถึงจุดเริ่มต้นของตนเองว่า “ก่อนหน้านี้ทำมาหลายอาชีพ ทั้งร้องเพลง เล่นตลก แต่ช่วงที่เกิดภาวะฟองสบู่แตกเมื่อ ปี พ.ศ.2540 ช่วงเวลานั้นมีนักแสดงตลกตกงานเยอะ และตนเองได้มีโอกาสไปเชียร์การเดาะลูกฟุตบอลที่นานที่สุดในโลก บันทึกลงในกินเนสส์บุ๊ก ตอนนั้นดูไปก็เชียร์ไป ออกลีลาไป มันก็สนุกดี กลายมาเป็นจุดเริ่มให้ผันตัวเองมาสู่เส้นทางนี้ และเริ่มเชียร์ระดับชาติครั้งแรกในกีฬาซีเกมส์ ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2544”

แม้อดีตตลกวัย 54 ปีจะผ่านการทัวร์นาเมนต์ใหญ่ระดับโลกอย่างโอลิมปิกมาแล้ว 3 สมัย แต่นั่นไม่ใช่ความภาคภูมิใจของเจ้าตัวเลย เพราะครั้งที่ประทับใจที่สุดคือการได้เชียร์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณวรีนารีรัตน์ฯ ในซีเกมส์ เมื่อปี 2548 “จำได้ว่าในครั้งนั้นพระองค์หญิงฯ ทรงแข่งแบดมินตันในซีเกมส์ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ พระองค์ฯ บอกเลยว่าให้เชียร์ดังๆ และสุดท้ายพระองค์ฯ ก็คว้าเหรียญทอง ซึ่งนับว่าเป็นความประทับใจที่สุดเท่าที่เคยเชียร์”

นอกจากนี้ สามารถ ยังได้กล่าววิงวอนให้ผู้ใหญ่ในวงการกีฬามองเห็นคุณค่าเหมือนกับสมัยที่ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านกีฬา “ผมทราบว่า เสธ.หนั่น เคยกล่าวกับพลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ให้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาดูแลกลุ่มกองเชียร์อย่างพวกเรา เนื่องจากสร้างชื่อเสียงไประดับโลกแล้ว แต่ก็เข้าใจว่าท่านประธานโอลิมปิกเองก็หนักใจ เพราะท่านไม่สามารถตัดสินใจเพียงลำพัง การที่เรามาให้กำลังใจนักกีฬา เราต้องไม่ลืมให้กำลังตัวเองด้วย เพราะเราไม่ได้มีเงินเดือน บางทีกลับจากเชียร์กีฬาไปก็ไม่รู้จะกินอะไร จึงอยากให้มีคนสนับสนุนเราในเรื่องนี้ ถ้ายังเห็นว่าพวกเราสำคัญอยู่”

จากความตั้งใจของเหล่ากองเชียร์ได้ถ่ายทอดให้ทุกฝ่ายได้เห็นจนการกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ เตรียมผลักดันกลุ่มคนเหล่านี้เข้ารับความคุ้มครองไม่ต่างนักกีฬาหรือบุคลากรทางการกีฬาด้านอื่น ที่ได้รับการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ทั้งในด้านค่าตอบแทน หรือความช่วยเหลือในด้านการเดินทางร่วมเชียร์กีฬา อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวไม่สามารถเป็นจริงได้เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมิได้ครอบคลุมกลุ่มแกนนำเชียร์กีฬาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม นายสกล วรรณพงษ์ รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ (กกท.) ยืนยันพร้อมให้ความช่วยเหลือกลุ่มแกนนำเชียร์กลุ่มนี้ว่า “การบรรจุบุคคลกลุ่มนี้เข้ารับความดูแลภายใต้ พ.ร.บ.กีฬาอาชีพ อาจจะเป็นเรื่องยากเพราะกฏหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อคุ้มครองบุคลากรในส่วนของกีฬาอาชีพเท่านั้น แต่เราต้องให้ความเป็นธรรมกับคนกลุ่มนี้ ผมคิดว่าหากนำกลุ่มกองเชียร์เข้าสู่ความคุ้มครองในส่วนของการพัฒนากีฬาเพื่อเป็นเลิศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานของ กกท.อยู่แล้วน่าจะพอทำได้ โดยจะดูแลในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่มาจากกองทุนของนักกีฬา, ค่ารักษาพยาบาลหากเกิดอุบัติเหตุ, ค่าที่พักต่างๆ เป็นต้น เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าคนกลุ่มนี้มีส่วนในการสร้างความสำเร็จให้นักกีฬาเช่นเดียวกัน เราจึงควรตอบแทนอย่างเหมาะสมกับการเสียสละของเขา”

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


ท้าวดักแด้ เชียร์ครั้งแรกปี 2008
สามารถ แขนควง เชียร์กว่า 17 ปี
รองฯสกล กรุยทางสู่แผนดูแลกองเชียร์
กำลังโหลดความคิดเห็น