มหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 27 หรือ “ซีเกมส์” เตรียมเปิดฉากอย่างเป็นทางการวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2556 หนนี้ถือเป็นการกลับมาเป็นเจ้าภาพครั้งแรกของพม่าในรอบ 44 ปี ต่อจากปี 2512 ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ของประวัติศาสตร์ชาติ พร้อมกันนี้ยังถือเป็นการเปิดประเทศครั้งแรก โดยมุ่งหวังใช้กีฬาเป็นสื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
พม่า ตกอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการทหาร ซึ่งที่ผ่านมามีสหประชาชาติและองค์กรต่างๆ มากมายพยายามต่อสู้เรื่องเสรีภาพ จนผู้นำได้ผ่อนปรนให้กับบรรดานักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยมีสิทธิมีเสียงรวมถึงบทบาทมากขึ้น เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้พยายามที่จะปรองดองจนนำมาสู่การปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญ จากนี้เตรียมต้อนรับนักกีฬาหลายพันคนจากทั้งหมด 10 ชาติที่จะมาเยือน แน่นอนว่ารัฐบาลได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังได้ทุ่มงบสร้างสนามกีฬาความจุ 30,000 ที่นั่ง ณ เมืองหลวงเนปิดอว์ ที่จะมีการเกณฑ์บรรดานักเรียนท้องถิ่น รวมถึงแจกตั๋วฟรี ให้เข้ามาชมกันแบบแน่นขนัดด้วย
หลังจากก่อนหน้า 2 ครั้งใช้ ย่างกุ้ง เป็นสถานที่หลักจัดแข่งขัน แต่หนนี้ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายเมืองย่านการค้าที่คราคร่ำไปด้วยรถติด การเดินทางต้องอาศัยแท็กซี่เพียงอย่างเดียวสำหรับไปสนามแข่งขันต่างๆ แต่ก็ยังต้องใช้ทำศึกรอบแรกของกีฬาสากลอย่างฟุตบอล, เพาะกาย, ยกน้ำหนัก และ เคมโป (ศิลปะป้องกันตัว) โดยห่างจาก เนปิดอว์ 300 กิโลเมตร ขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางมีรถทัวร์ชั้นดีหน่อยอยู่ที่ 50,000 จ๊าด (ประมาณ 1,642 บาท) ใช้เวลา 6 ชั่วโมงและเครื่องบินอยู่ที่ 160 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5,200 บาท)
สำหรับ ซีเกมส์ จัดแข่งขันทุก 2 ปี จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ พม่า จะได้เปิดตัวประเทศรอบ 4 ทศวรรษ ดังนั้นหนนี้จึงมีการบรรจุกีฬาพื้นบ้านเข้าไปชิงเหรียญรางวัลมากเป็นพิเศษ ที่ไม่คุ้นหูอย่างยิ่งก็คือ ชินลง ที่ประเดิมแข่งเป็นรายการแรก ซึ่งเจ้าภาพก็กวาดเหรียญทองไปตามคาดชนิดไร้คู่แข่ง เพราะตัดสินให้คะแนนกันด้วยสายตา ที่เหลือก็มี โชรินจิ-เคมโป และ โววีนัม
พร้อมหั่นกีฬาสากลอย่าง เทนนิส, เทเบิลเทนนิส, ยิมนาสติก เป็นต้น ซึ่งก็แน่นอนว่ามีประเทศสมาชิกนั้นไม่เห็นด้วย เพราะถือเป็นการตัดโอกาสลุ้นเหรียญรางวัลอันจะส่งผลกระทบต่อการชิงเจ้าเหรียญทอง ขณะที่ก็มีหลายประเทศที่เห็นดีเห็นงามด้วยอย่าง เวียดนาม เพราะไหนๆ จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยกันแล้ว ก็ควรจะเน้นกีฬาพื้นบ้านเป็นหลัก
พม่า ขึ้นนำหัวตารางเหรียญรางวัลตามความคาดหมาย ทั้งที่พิธีเปิดยังไม่เริ่มขึ้น ท่ามกลางข้อครหามากมาย อย่างไรก็ตามคนท้องถิ่นมองว่าวิธีนี้คือการง่ายที่สุดที่เหมือนเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้มาเยือนและเปิดประเทศให้ทุกคนเข้าถึงและเข้าใจกันมากขึ้น โมห์ โมห์ เนย์ วานน์ วัย 20 ปีในฐานะอาชีพไกด์นำเที่ยว เผยว่า “เป็นเรื่องดีและน่าตื่นเต้นสำหรับพม่า เพราะนานมากแล้วที่คนในประเทศไม่ได้เห็นการแข่งขันกีฬาเหมือนชาติเพื่อนบ้าน เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงและลบภาพที่ผ่านๆ มา”
ก่อนหน้านี้ พม่า เหมือนตกอยู่ภายใต้เงามืดมานานหลายปี เพราะว่าสื่อท้องถิ่นถูกควบคุมเบ็ดเสร็จ ซึ่งถึงตอนนี้ทุกอย่างอยู่ภายใต้บรรทัดฐานที่กฎหมายวางเอาไว้เป็นหลักการ ธิฮา ซอว์ หนึ่งในนักข่าวที่คร่ำหวดอยู่ในวงการมานานก็ได้รับประโยชน์จากการที่รัฐบาลผ่อนผันให้สิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวสารมากขึ้น กล่าวว่า “การแข่งขัน ซีเกมส์ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสถานะของประเทศ เราไม่ได้รับหน้าเสื่อมานานถึง 44 ปี ดังนั้นจึงถือเป็นชื่อเสียงของชาติและแสดงให้เห็นว่าเติบโตไปแค่ไหน คือสิ่งที่พม่ากำลังต้องการอย่างยิ่ง”