xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “คาซูมิกะเซกิ” สังเวียนสวิงอลป. 2020

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลับเฮาส์ของ คาซูมิกะเซกิ
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากที่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของแดนดินอาทิตย์อุทัยได้รับเลือกจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2556 ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิก ครั้งที่ 32 ในปี 2020 คล้อยหลังไม่ทันพ้นวัน คณะกรรมการโอลิมปิกของญี่ปุ่น (เจโอซี) จัดการประกาศเลือกสนามกอล์ฟ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถานที่ประชันวงสวิงชิงชัยเหรียญทองในอีก 7 ปีข้างหน้าคือ “คาซูมิกะเซกิ คันทรี คลับ” สนามกอล์ฟเก่าแก่กว่า 80 ปี

เดิมทีเดียวจากการประชุมแผนงานของคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2011 ที่ว่าด้วยเรื่องการเสนอชื่อขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก ครั้งที่ 32 โดยมี ฮิโรชิม่า และ โตเกียว เป็น 2 เมืองใหญ่ที่เข้าชิง ก่อนได้บทสรุปส่งชื่อนครหลวงแห่งแดนปลาดิบเป็นตัวแทน ซึ่งจากแผนเดิมทางญี่ปุ่นได้วาง “วากาซู กอล์ฟ ลิงค์” สนามกอล์ฟสุดหรูติดทะเล ขนาด 18 หลุม ที่ตั้งอยู่บนเกาะวากาซู ห่างจากโตเกียวเพียง 3 กิโล และได้รับความนิยมสูงที่สุดในเมืองนี้ ถูกเสนอเป็นสถานที่รองรับโอลิมปิกของพวกเขา

อย่างไรก็ดี อาจด้วยเสียงวิจารณ์ว่าสภาพกรีนและการปักหลุมดูง่ายเกินไปสำหรับการชิงชัยเหรียญทอง และบริเวณลักษณะที่ตั้งไม่เอื้ออำนวยให้ดัดแปลงหรือปรับแต่งสนามใหม่ ทำให้ เจโอซี ต้องเปลี่ยนใจและมาเลือกสนามเก่าแก่อย่าง “คาซูมิกะเซกิ คันทรี คลับ” ที่อยู่ห่างจากโตเกียว 8 กิโลเมตรในที่สุด

“คาซูมิกะเซกิ คันทรี คลับ” ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโตเกียว สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1929 ได้รับการออกแบบโดย คินยะ ฟูจินะ, ชิโร อัคโบชิ และ เซชิ อิโนยูอิ สนามแห่งนี้เป็นสนามกอล์ฟขนาดใหญ่มีทั้งหมด 36 หลุม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน รวมถึงคลับเฮาส์และโรงแรมที่พัก แบ่งออกเป็น เวสต์คอร์ส และ อีสต์คอร์ส

สำหรับเหตุผลที่ทาง เจโอซี เปลี่ยนใจมาเลือกใช้สนามแห่งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ อยู่บริเวณใกล้เคียงกับย่านที่ทางคณะโอลิมปิกของญี่ปุ่นวางแผนจะไปสร้างหมู่บ้านนักกีฬาหรือ โอลิมปิก ปาร์ค ที่มีสนามแข่งขันกีฬาชนิดอื่นๆ รวมอยู่ด้วยในบริเวณนั้น โดยไฮไลต์อีกอย่างของสนามแห่งนี้ตามรายงานระบุว่า ฝั่งอีสต์ คอร์ส ถูกสร้างและเปิดใช้ก่อนตั้งแต่ปี 1929 ก่อนได้รับการออกแบบใหม่อีกครั้งในปีถัดมา โดย ชาลีส์ อลิสัน ทำให้สนามฝั่งตะวันออกมีจุดเด่นและความยากมากขึ้น เนื่องจากหลังจากการปรับปรุงครั้งนี้จะมีบังเกอร์เป็นอุปสรรคถึง 129 หลุมด้วยกัน

นอกจากนี้อีกเหตุผลที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้เป็นอย่างดีว่า “คาซูมิกะเซกิ คันทรี คลับ” จะรองรับมหกรรมกีฬาระดับโอลิมปิกได้แน่นอน เพราะสนามแห่งนี้เคยมีเกียรติประวัติว่าผ่านการแข่งขันแมตช์ใหญ่ๆ มาแล้วทั้งสิ้น อาทิ เคยรับหน้าเสื่อจัดศึกเวิลด์คัพ ในปี 1957 หรือที่รู้เรียกอีกชื่อในศึก แคนาดา คัพ โดยมี นักกอล์ฟชื่อดังอย่าง โทรากิชิ นากามูระ และ โคอิชิ โอโนะ ของญี่ปุ่นประชันฝีมือกับดาราดังอย่าง จิมมี เดมาเร็ต และ แซม สนีด ของทีมเมืองลุงแซม และล่าสุดในปี 2010 สังเวียนแห่งนี้ยังได้รับโอกาสจัดศึก “เอเชียน อเมเจอร์” ซึ่งผู้ชนะตกเป็นของ ฮิเดกิ มัตซึยามา ขวัญใจคนใหม่ของญี่ปุ่น โดยในแต่ละปีสนามนี้ยังเป็นสถานที่จัด เจแปน โอเพน ถึง 4 ครั้ง และจัดแข่ง เจแปน วีเมนส์ โอเพน มาแล้ว 1 ครั้งด้วย

หลังจากนี้เวลาที่เหลืออีกกว่า 7 ปี กับเทคโนโลยีของประเทศพัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่น เชื่อว่าทางคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งแดนปลาดิบคงมีแผนเดินหน้าพัฒนาสนามแห่งนี้ให้ก้าวสู่ระดับโลกได้ไม่ยาก เพื่อรองรับบรรดานักกอล์ฟชื่อดังอย่าง รอรีย์ แม็คอิลรอย ดาวรุ่งไอร์แลนด์เหนือ จัสติน โรส ความหวังของเมืองผู้ดี หรืออาจจะได้เห็น ไทเกอร์ วูดส์ พกความเก๋าเดินทางไปร่วมชิงชัยเป็นหนที่ 2

แต่ก่อนที่จะข้ามไปถึงวันนั้น โอลิมปิก 2016 ในอีก 3 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นยังมีเวลาเหลือเฟือเพื่อศึกษาความผิดพลาดจากการจัดแข่งกอล์ฟครั้งแรกรอบ 112 ปี ใน “ริโอเกมส์” ซึ่งเป็นสนามที่ได้รับการสร้างใหม่ออกแบบโดย “ฮานส์ กอล์ฟดีไซน์” บริษัทของ กิล ฮานส์ และนำมาปรับแก้ไขในสมัยของตัวเองต่อไป เรียกว่างานนี้พี่ยุ่นตื่นตัวเต็มที่หวังให้สวิง 5 ห่วงออกมาระดับ 5 ดาว

เรื่องโดย : ปภังกรณ์ นิลวรกุล
ฮิเดกิ มัสซึยามา เคยเป็นแชมป์ที่นี่แล้ว
ต้นแบบหมู่บ้านนักกีฬาในโตเกียว
โตเกียว 2020
วากาซู กอล์ฟ ลิงค์ แผนเดิมของญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น