xs
xsm
sm
md
lg

ฝันของนักเตะไทยไปลีกยุโรป / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ช่วงนี้ ปรีเมร่า ลีก้า ( Primera Liga ) หรือ ฟุตบอลลีกสูงสุดของสเปนกำลังดัง ก็ด้วยข่าวการย้ายเข้ามาร่วมทีมของ แกเร็ธ เบล ( Gareth Bale ) นักเตะทีมชาติเวลส์ของ ท็อทแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ( Tottenham Hotspur ) ด้วยค่าตัว 84.7 ล้าน พาวน์ด สำหรับระยะเวลา 6 ปี ซึ่งนับเป็นค่าตัวที่สูงที่สุดเป็นสถิติโลก

การมีสภาพร่างกายแข็งแกร่ง ส่วนสูงถึง 1.86 เมตร เล่นเท้าซ้ายคล่องแคล่วสุดยอด หมอนี่เป็นปีกที่มีความเร็วสูง การผ่านบอลไปหน้าประตูก็ทำได้อย่างแม่นยำ เหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ทีมฟุตบอลระดับหัวแถวของโลกควานหา และยอมทุ่มเงินค่าจ้างอย่างไม่ต้องลังเล

ผมอยากจะบอกว่า บรรดานักเตะที่จะมีโอกาสไปขุดทองในลีกของประเทศสเปนนั้น โดยเฉพาะชาติในทวีปยุโรปด้วยกัน โอกาสดูจะเปิดกว้าง หากเป็นนักเตะจากชาติที่อยู่นอกสหภาพยุโรปนั้น เขาค่อนข้างกีดกัน สร้างเงื่อนไขให้เยอะ คล้ายๆ กับชาติยุโรปอื่นๆ ที่มีลีกโด่งดังไปทั่วโลก อันนี้ก็เพื่อสงวนพื้นที่ให้พวกยุโรปด้วยกันเอง ดังนั้น นักเตะจากนอกทวีปที่อาจหาญจะไปเล่นใน ลา ลีก้า ก็จะต้องมีดีเพียงพอ ต้องตามเงื่อนไขมากมาย จึงจะสามารถไปค้าแข้งกับเขาได้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้เงื่อนไขอันยุ่งยากก็ยังมีข้อยกเว้นให้ โดยเฉพาะ นักเตะที่มาจากกลุ่มประเทศในทวีปอัฟริกา แคริบเบี้ยน และแพซิฝิค ซึ่งรวมเรียกว่า กลุ่มประเทศ เอซีพี ( ACP countries ) พวกนี้ไม่ถือว่าถูกจำกัดโดยโควตานอกทวีปยุโรป

โดยที่มีการเซ็นสนธิสัญญาระหว่าง สหภาพยุโรป ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิก 15 ชาติ กับ กลุ่มประเทศในทวีปอัฟริกา แคริบเบี้ยน และแพซิฝิค ซึ่งมี 79 ชาติ ยกเว้น กูบา ( Cuba ) ที่ไม่ได้มาร่วมลงนามกับเขาด้วย สนธิสัญญาดังกล่าวกระทำกันที่ โกโตนู ( Cotonou ) เมืองเศรษฐกิจใหญ่ของ เบแน็ง ( Benin ) เมื่อเดือนมิถุนายน 2000 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีการแก้ไขปรับปรุงอีกบ้าง เช่นในปี 2005 และ 2010

สนธิสัญญาที่ว่านี้เรียกว่า โกโตนู อกรีเมิ่นท์ ( Cotonou Agreement ) โดยหมู่สมาชิกสหภาพยุโรปมีเป้าหมายในการช่วยขจัดความยากจน และช่วยให้ประเทศเหล่านั้นมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันนี้เองจึงเป็นสนธิสัญญาสำคัญที่ยังผลให้คนจากชาติ ACP countries สามารถมาค้าแข้งในชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปได้โดยไม่ถูกกีดกัน

กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับ มาโรส โคลพัค ( Maros Kolpak ) นักกีฬาแฮนด์บอล ชาวสโลวัก ที่ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และถูกจำกัดสิทธิ์ตามโควต้านักกีฬานอกสหภาพยุโรป แต่เนื่องจากชาติของหมอนี่เคยทำสนธิสัญญากับสหภาพยุโรปในเรื่องการให้ความช่วยเหลือพัฒนาประเทศ ซึ่งมีเนื้อความรวมไปถึงเรื่องแรงงานด้วย

ดังนั้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2003 ศาลสหภาพยุโรป ( European Court of Justice ) จึงมีคำตัดสินออกมาและถือเป็นกรณีตัวอย่างให้ถือปฏิบัติว่า พลเมืองของประเทศที่มีข้อตกลงกับ สหภาพยุโรป และผู้ที่ทำงานภายในสหภาพยุโรป ย่อมมีสิทธิ์ที่จะทำงานในฐานะของ พลเมืองของสหภาพยุโรป และต้องไม่ถูกจำกัดสิทธิ์ตามเงื่อนไขของโควต้าชาตินอกทวีปยุโรป อันนี้รวมถึงชาติที่อยู่ในกลุ่ม ACP ด้วย

กฎของ ลา ลีก้า ยังมีอีกทางหนึ่งก็คือ หากนักเตะสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่เป็นชาวสเปน ก็สามารถร้องขอสิทธิ์ในความเป็นพลเมืองสเปนได้ นอกจากนั้นนักเตะที่เคยค้าแข้งในสเปนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็สามารถขอสัญชาติได้ด้วย ซึ่งบางครั้งกฎข้อนี้ก็ยังผลให้นักเตะบางคนมีถึง 3 สัญชาติด้วยซ้ำ อย่างเช่น เลโอ ฟรังโก้ ( Leo Franco ) อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติอารเกนตีนา ที่เล่นในสเปนยุคปี 2000 หมอนี่มีบรรพบุรุษมาจาก อิตาลี ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น