xs
xsm
sm
md
lg

จมรัฟ ยูเอส โอเพ่น / วันปีย์ สัจจมาร์ค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ “The Golf Touch” โดย “วันปีย์ สัจจมาร์ค”

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ติตตามชมการแข่งขัน ยูเอส โอเพ่น ทำให้นึกถึงเรื่องการเล่นลูกให้ออกจากรัฟ (Rough) เรื่องเล่นลูกในรัฟเป็นปัจจัยที่เราจะต้องเห็นเป็นประจำในการแข่งขัน ยูเอส โอเพ่น ทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเปลี่ยนสนามไปที่ไหนก็ตาม และก็แน่นอนในกรณีของนักกอล์ฟอาชีพที่แข่งขันรายการใหญ่นั้น สภาพความยากของรัฟ ของหญ้ายาว มักจะมากกว่าที่พวกเราเผชิญโดยทั่วไป แต่ความยากเหล่านั้นก็ทำให้ยากขึ้นมาเพื่อความเหมาะสมกับระดับฝีมือของคนที่เก่งที่สุดในโลก อย่างเราๆ เจอรัฟลักษณะทั่วไปที่สนามเลี้ยงกันก็อาจจะถือว่ายากเพียงพอแล้ว แต่ถ้าวันไหนที่เราไปเจอรัฟที่หนา แน่น หรือเหนียวผิดปกติ สภาพของลูกนั้นเทียบเท่ากับ ยูเอส โอเพ่น ของเรา

ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเล่นลูกนี้ออกจากรัฟอย่างไร ผมอยากให้ตัดสินใจก่อนว่าลูกนี้ควรเล่นหรือไม่ หมายความว่า เวลาลูกจมรัฟลงไปลึกๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฟที่หนา แน่น ยาว เหนียว ปริมาณหญ้าด้านหลังของลูกและรอบๆ ลูก คือแรงต้านที่เกิดขึ้น เมื่อเราเข้าอิมแพ็ค (Impact) ลูกนั้น สวิงปกติของเราทั่วไป สวิงผ่านบอลไปเลยโดยสบายไม่มีปัญหา แต่สวิงที่มีแรงต้าน รอกระแทกเราอยู่ เป็นลักษณะการเล่นที่อาจจะทำให้เราบาดเจ็บได้ง่าย ดังนั้นถ้าเจอลูกที่จมรัฟลึกๆ จริง ก่อนเล่นดูก่อนว่า เล่นแล้วจะเจ็บไหม เล่นแล้วคุ้มมั้ย แน่นอนถ้าเล่นลูกนี้ออกไปดีแล้วทำสกอร์ได้ และได้บ้านพร้อมที่ดินรวมทั้งค่าส่งเสียบุตรหลานเรียนจนจบมหาวิทยาลัย มันก็น่าเล่นอยู่ แต่ถ้าได้แค่ความสะใจในการกินเพื่อน หนึ่งหลุมเปรียบเทียบกับโอกาสเจ็บตัวหาหมอเลิกเล่นกอล์ฟไป 6 เดือนอาจจะไม่คุ้มกัน

ตำแหน่งที่มีโอกาสบาดเจ็บได้มากที่สุด ก็คือข้อต่อของแขนด้านหน้า หมายความว่าคนที่ถนัดขวาอาจจะเจ็บข้อมือซ้ายกับข้อศอกซ้าย คนที่เล่นกอล์ฟมือซ้ายเปอร์เซ็นต์ที่จะเจ็บก็คือข้อมือขวากับศอกขวา ถ้ามีความจำเป็นต้องเล่นจริงๆ ควรจะใช้อุปกรณ์ตัวที่เล่นจากสภาพรัฟนั้นให้ออกมาให้ง่ายที่สุด ซึ่งก็จะไม่พ้นจำพวกเวดจ์ต่างๆ เราอาจจะมีเวดจ์ในกระเป๋าสองถึงสี่ชิ้น ลองเลือกชิ้นที่คิดว่าหนักและผ่านหญ้าได้ง่ายที่สุดสำหรับเรา ทีนี้เลือกแล้วว่าจะเล่น เวลาเล่นแล้วยังคิดว่า อาจจะต้องพยายามเซฟตัวเองเสียเล็กน้อย หลายคนจะยอมให้ข้อศอกงอตอนจุดปะทะได้นิดหน่อย การที่แขนเราขึงตึงเต็มที่ แล้วสวิงไปลูกกอล์ฟเหมือนลูกปกติ ทำให้ข้อศอกมีโอกาสบาดเจ็บได้มากขึ้น แต่ถ้ายอมให้ข้อศอกงอสไตล์คล้ายๆ ปีกไก่ (chicken wing) แต่ไม่ต้องงอมาก จะทำให้เป็นกล้ามเนื้อที่รับแรงกระแทกมากกว่าที่เป็นข้อต่อของศอก ดังนั้นโอกาสบาดเจ็บของข้อศอกจะน้อยลง แต่ข้อมือยังอาจจะบาดเจ็บได้อยู่

เทคนิคที่จะต้องใช้ในการตีลูกนี้ให้ออกมาได้ง่ายที่สุด ก็คือการผ่านหญ้าให้น้อยที่สุด ถ้าตีปกติ ไม้ลงมาต่ำ ไม้จะเข้าสู่โคนหญ้าหลังลูก เจอกับแรงต้านมหาศาล ซึ่งอาจจะทำให้เสียระยะ หรืออาจจะทำให้ตีไม่ออก และก็แน่นอน ที่เราคุยกันมาว่าอาจจะมีโอกาสบาดเจ็บตามมา แต่ถ้าเราเอาใบเหล็กลงเข้าหา มาปะทะลูกจากแนวบนลงมา เราจะข้ามยอดหญ้าไปได้ปริมาณพอสมควร แล้วเหมือนสับเข้าลงไปหาลูกในมุมที่ชันกว่า ผมอาจจะใช้คำว่าสับแต่หมายความว่าสวิงผ่าน ไม่ใช่สับลงไปฝังอยู่ในดินนะครับ การสวิงจึงจำเป็นต้องมีการพับข้อมือขึ้นมากกว่าปกติ อาจจะรู้สึกว่ายกไม้ขึ้นด้วยซ้ำไปสำหรับบางคน ขาลงก็คือลงจากมุมบนลงมาหาลูกแล้วก็พยายามผ่านลูกกอล์ฟให้ได้เท่าที่เรามีพลังแล้วก็มีแรงในการผ่านรัฟ

ลูกลักษณะนี้โดยทั่วไปแล้วเราไม่ได้หวังผลว่าจะต้องออกมายอดเยี่ยมไปอยู่ริมธง ปกติแล้วแค่ขอให้ออกมาจากสภาพที่อยู่ในรัฟลึก มาอยู่ในพื้นที่ที่เล่นงายกว่าเดิมก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากพอแล้ว ส่วนถ้าจะพบว่าตัวเองจับกริพแน่นกว่าช็อตปกติทั่วไป เรื่องนี้ถือว่าไม่ผิดนะครับ เพราะว่าเรากำลังจะเจอแรงต้านที่มากขึ้น การจับกริพที่แน่นขึ้นจริงๆ แล้วจะมีผลช่วยให้เราควบคุมหนัาไม้ไม่ให้บิดตัวและผ่านรัฟได้อย่างเที่ยงตรงได้มากขึ้นด้วยซ้ำ หวังว่าเราคงจะเจอลูกประเภทนี้กันไม่บ่อยนัก และถ้าเจอ เลือกเล่นให้ถูกวิธีเพื่อผลงานที่ดี แต่เหนืออื่นใดอย่าเอาความเจ็บปวดของร่างกายเราไปแลกครับ ช็อตเดียวแล้วเจ็บไม่คุ้มกันแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสนามที่เลิศเลอมาจากไหนก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น