xs
xsm
sm
md
lg

หลักสูตรกิมจิ / วันปีย์ สัจจมาร์ค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ “The Golf Touch” โดย “วันปีย์ สัจจมาร์ค”

อีก 4 ปีข้างหน้าก็จะถึงโอลิมปิกแล้ว! ทั้งๆ ที่ครั้งล่าสุดเพิ่งจะผ่านมาไม่กี่วันนี้เอง แต่ที่ผมมีอาการตื่นเต้นและดูตั้งหน้าตั้งตารอมากขนาดนี้เพราะจะมีกีฬากอล์ฟบรรจุอยู่ในมหกรรมกีฬาโลกเป็นครั้งแรกที่นคร ริโอ เดอ จาเนโร และแน่นอนว่าผมก็เป็นหนึ่งในคนไทยที่อยากเห็นนักกอล์ฟเรายืนร้องเพลงชาติอยู่บนแท่นโพเดียม โดยเราควรจะต้องเตรียมตัวกันตั้งแต่วันนี้

ถ้าสังเกตในโอลิมปิกครั้งหลังๆ มา นอกจากมวยที่เราสามารถคาดหวังเหรียญรางวัลได้แล้ว ยังมีเทควันโดเพิ่มเข้ามาอีก เพราะตั้งแต่โค้ช เช ยอง ซอก เอาระบบเกาหลีเข้ามาดูแลนักกีฬาทีมชาติไทย ผลงานในโอลิมปิกก็ได้เหรียญมาตลอดทั้ง 3 ครั้งล่าสุด นี่ยังไม่รวมเอเชียนเกมส์อีก 8 เหรียญนะครับ ดูแล้วเป็นหลักสูตรที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก กีฬากอล์ฟก็เช่นกัน เคยสังเกตกันไหมครับว่าโปรที่เป็นเชื้อสายเกาหลีนั้นประสบความสำเร็จในหลายๆ ทัวร์ ไม่ว่าจะเป็น เค.เจ. ชอย, วาย.อี. หยาง, คิม คยุง- แต และ โนห์ ซุง-ยุล หรือถ้าจะให้ชัดเจนที่สุดก็คงหนีไม่พ้น แอลพีจีเอทัวร์ ที่แทบจะกลายเป็นทัวร์เกาหลีอยู่แล้ว เพราะต่อให้เวลาผ่านไปแค่ไหนก็มีสายเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่ตลอดไม่เคยขาดหายตั้งแต่ เซรี ปัค, เกรซ ปาร์ค, ชิน จีไย ล่าสุดก็ ชอย นายอน คำถามคือเพราะอะไร? เพราะกว่าที่เขาจะสำเร็จไปถึงระดับนั้นได้ อยากให้ลองย้อนกลับมาในสมัยยังเป็นเด็ก เรื่องที่ได้เราคุ้นหูกันในวงการกอล์ฟก็คือ หลักสูตรการฝึกซ้อมของเกาหลีมักจะให้ความสำคัญกับพัฒนาการอย่างมาก และเป็นไปอย่างเข้มงวดกวดขันอีกด้วย พูดง่ายๆ คือ "โหด” นั่นเอง ผมได้มีโอกาสพบเห็นบ่อยจนแทบจะจำกิจวัตรประจำวันของพวกเขาได้ เช่น เริ่มต้นวันด้วยการออกวิ่งในตอนเช้า หลังอาหารก็ออกรอบ 18 หลุม ขึ้นมากินมื้อเที่ยง จากนั้นก็แยกไปซ้อมข้อบกพร่องของตัวเองตลอดช่วงบ่ายจนถึงเย็น ปิดท้ายวันด้วยการวิ่งอีกครั้งก่อนทานอาหารเย็น เป็นอย่างนี้ซ้ำๆ ทั้งเดือน หรือตลอดระยะเวลาที่พวกเขาหนีหนาวมาที่เมืองไทย

ไม่ต้องตกใจถ้าหากเหลือบไปเห็นการลงโทษบริเวณสนามซ้อม เห็นเด็กยืนร้องไห้เพราะทำไม่ได้อย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้สักที หรือหากเดินขึ้นกรีนซ้อมแล้วเห็นรอยเท้าที่ยืนอยู่ที่เดิมนานมากจนทำให้พื้นดินยุบเป็นรูปเท้าอยู่บนกรีน แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่าผลพลอยได้ที่พวกเขาแลกมาด้วยน้ำตาและความเหน็ดเหนื่อยนั้นก็คือแนวทางสู่ความสำเร็จ เพราะมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้เห็นเป็นตัวเป็นตน บางคนก็ไปได้ไกลกว่าที่คาดหวัง แต่ก็คงจะมีบางคนที่อกหัก แต่พวกเขาก็ยังอยู่ในมาตรฐานที่ถือว่าสูงอยู่ดี แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบการฝึกซ้อม ความเอาจริงเอาจังและความดูแลเอาใจใส่

กว่าจะถึงโอลิมปิกคราวหน้า เรามีเวลาเตรียมตัวกันตั้ง 4 ปี นอกจากที่นักกีฬาจะก้าวเดินไปบนขั้นบันไดแห่งพัฒนาการทีละขั้นอย่างมั่นคงแล้ว หลักสูตรนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าจะได้รับการพิจารณาเพื่อความพร้อมที่สูงที่สุดของทีมชาติไทยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น