xs
xsm
sm
md
lg

เราะมะฎอน กับ ลอนเดิ้น 2012 / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

ตอนที่ สหภาพโซเวียต เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โอลิมปิค เกมส์ ครั้งที่ 22 ในปี 1980 นั้น พิธีเปิดการแข่งขันเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม และไปสิ้นสุดในวันที่ 3 สิงหาคม นั่นเผอิญเป็นช่วงถือศีลอดพอดี แล้วนี่ ลอนเดิ้น ทเว็นตี้ ทแว้ลฟ โอลิมปิค เกมส์ ครั้งที่ 30 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในอีก 2 วัน มันก็เป็นช่วง เดือนเราะมะฎอน อีกครั้ง เมื่อการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ มาตรงกับเดือนถือศีลอดเต็มๆ นักกีฬาซึ่งต้องใช้พลังงานเป็นต้นทุนแต่ต้องอดอาหารและน้ำ ย่อมเสียเปรียบคู่แข่งอย่างแน่นอน

อัสรี สะอีดี ทีมงานผลิตรายการโทรทัศน์ของผมที่นับถือศาสนาอิสลาม เล่าให้ฟังว่า เราะมะฎอน คือ เดือนที่ 9 ของ ปฏิทินอิสลาม ที่เรียกว่า ปฏิทินฮิจญ์เราะฮ์ เป็นเดือนที่ชายหญิงมุสลิมที่บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติจะถือศีลอดทั้งเดือน คือ อดอาหาร อดเครื่องดื่ม รวมทั้งไม่เสพกาม ในช่วงตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า อันนี้ก็เพื่อฝึกให้พวกเขามีความรู้สึกถึงคนยากคนจน คนที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม ว่า ชีวิตมันยากลำบากขนาดไหน

ลอนเดิ้น ทเว็นตี้ ทแว้ลฟ จะมีนักกีฬามุสลิมจากชาติต่างๆ ได้รับผลกระทบราว 3,500 คน ผมอยากเรียนท่านผู้อ่านว่า ระยะกลางปีอย่างนี้ ดวงอาทิตย์กำลังอยู่ตรงซีกโลกเหนือเสียด้วย ตี 4 กว่าๆ ก็สว่างแล้ว ดังนั้น ปัญหาสำคัญของพวกเขา ก็คือ ต้องนอนไม่เป็นเวลา เพราะต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืด ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ราวตี 3 กว่าๆ ลุกขึ้นมาทานอาหารให้หนักๆ ซะก่อน แล้วพลังงานที่ได้รับต้องอยู่ยาวไปจนกว่าพระอาทิตย์ตกดิน จึงจะทานได้อีกครั้ง

แม้กระนั้น นักกีฬามุสลิมบางคนก็บอกว่า ไม่เห็นจะมีอะไรแปลกเลย เขาก็ปฏิบัติตนตามปกติอย่างที่ทำเป็นประจำ เคยชินแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของเขา ยิ่งไปกว่านั้น บางคนยังว่า การถือศีลอดยิ่งให้เขามีพลังมากขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ

เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้นักกีฬาที่ถือศีลอด ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้จัดเตรียมอาหาร เครื่องดื่มไว้ทุกสนามแข่งขัน โดยเฉพาะ โอลิมปิค เกมส์ คราวนี้ ห้องอาหารนั้นเปิดยิงยาวตลอดคืน งานนี้ความจริงไปเกี่ยวข้องกับผู้คนอีกจำนวนมากมาย ทั้งนักกีฬา ผู้ชม และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน รวมแล้วหลายหมื่นคน ซึ่งมัสยิดต่างๆ ก็เข้ามาร่วมกันจัดหาอาหารและเครื่องดื่มเตรียมพร้อมไว้บริการ

อย่างไรก็ตาม ดร.อาหะเหม็ด อัล ฮาดัด (Dr.Ahmed al Haddad) ผู้นำศาสนาของ ดูไบ ออกมาประกาศว่า นักกีฬาคนใดที่ไม่ได้ถือศีลอดในช่วง ลอนเดิ้น ทเว็นตี้ ทแว้ลฟ ก็สามารถมาถือศีลอดชดเชยภายหลังการแข่งขันได้ ซึ่งก็มีบางคนจะเลือกใช้วิธีนี้ และเผยว่าพวกเขามีเวลา 1 ปี ในการถือศีลอดชดเชยภายหลัง ในขณะที่บางคนใช้วิธีมอบเงินเพื่อเลี้ยงอาหารเป็นทานทดแทนการถือศีลอด แต่ก็มีบางคนเลือกที่จะปฏิบัติตามข้อบัญญัติอย่างเคร่งครัด พวกเขาตัดสินใจถอนตัวออกจากการแข่งขันไปเลย และเลือกเดินทางไปแสวงบุญที่ มักกะฮ์ แทน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกที่ปฏิทินศาสนาเผอิญไปตรงกับช่วงการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆ แม้ศาสนาอื่นก็ตามเถอะ ย้อนกลับไปใน โอลิมปิค เกมส์ 1924 ที่ กรุงปารี ตอนนั้น อีหริค ลิดเดล (Eric Liddell) นักรักบี้ชาวสก็อต ผู้เคร่งศาสนา ซึ่งเข้าร่วมการแข่งขันกรีฑา โดยรายการที่ ลิดเดล นอนมาแน่ๆ คือ วิ่ง 100 เมตร ชาย แต่เจ้าภาพเผอิญจัดการแข่งขันในรอบคัดเลือกตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งทางคริสเตียนถือว่า เป็นวันสะบาโต คือ วันหยุดพัก ตารางการแข่งขันถูกเผยแพร่ออกมาก่อนการแข่งขันนานเป็นเดือน เมื่อได้ทราบเช่นนั้น ลิดเดล ตัดสินใจถอนตัวออกจากรายการนี้ แล้วหันไปเตรียมเนื้อเตรียมตัวสำหรับระยะ 400 เมตรแทน ซึ่งรายการดังกล่าว ผลงานของเขาอยู่ในขั้นห่วยเหลือเกิน แต่เหมือนพระเจ้าเอาใจช่วย ในที่สุดเขาก็ได้เหรียญทองในรายการวิ่ง 400 เมตร ชาย
กำลังโหลดความคิดเห็น