คอลัมน์ “The Golf Touch” โดย “วันปีย์ สัจจมาร์ค”
คงเป็นที่เห็นพ้องตรงกันนะครับว่า นักกอล์ฟโดยทั่วไปล้วนแล้วแต่ต้องการพัฒนาฝีมือของตัวเองขึ้นอยู่ตลอดเวลา จะต่างกันตรงคนที่ตีช็อตเดินทางได้เป็นที่พอใจแล้วเช่น นักกอล์ฟอาชีพ ก็อาจจะขยับไปซ้อมเรื่องอื่น เรื่องลูกสั้น เรื่องการแก้ไข เรื่องศักยภาพร่างกาย ในขณะที่นักกอล์ฟที่ยังไม่สามารถเคลื่อนบอลไปในตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างสม่ำเสมอ ก็ยังต้องพัฒนาวงสวิงของตัวเองต่อไปหรือที่เรียกว่า "แก้วง” โดยหลักๆแล้วจะประกอบไปด้วย 2 สิ่ง ซึ่งก็คือ "ระยะ" กับ "ทิศทาง" ครั้งนึงเราเคยพูดถึงเหตุผลที่มาที่ไปในเรื่องของ "ระยะ" กันไปแล้ว วันนี้ขอเอาใจคนเน้นทิศทางชนิด "ระยะไม่ต้องขอตรงไว้ก่อน" แล้วกันนะครับ
พวกเราพูดกันติดปากว่า "ต้องการตีตรง" แต่บทเรียนที่เราได้จากคนเก่งๆมักสอนให้เรารู้ว่า การตีตรงนั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก จริงๆแล้วสิ่งที่ควรพึงปรารถนาคือตีลูกให้พุ่งเข้าไปยังเป้าหมายได้ตามสั่งต่างหาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะตรงเข้าไปหรือโค้งเข้าไปหาเป้าหมาย ตราบใดที่เข้าเป้าตลอดเวลานั่นคือวงเรา
นักกอล์ฟอาชีพบางคนถึงขั้นมีมากกว่าหนึ่งวิธีในการสั่งให้บอลเคลื่อนจากจุดเริ่มไปยังเป้าหมาย ตีโด่งได้ ตีต่ำได้ ตีโค้งมากโค้งน้อยได้ ตีตรงก็ยังได้ ทั้งหมดนี้มาจากความเข้าใจในทฏษฏี "ต้องทำอะไรลูกกอล์ฟถึงจะเชื่อฟัง" ตามด้วยไปซ้อมต่อและทำให้ได้ ถ้าเปิดตำรากอล์ฟเรื่องนี้จะอยู่ภายใต้หัวข้อที่มีชื่อว่า “Ball Flight Laws" ฟังดูแล้วเหมือนเป็นหัวข้อที่เข้าใจยาก แต่จริงๆแล้วมีปัจจัยอยู่แค่ 2 เรื่องเท่านั้นเองคือเรื่อง "หน้าไม้” และ ”แนวสวิง”
ยกตัวอย่างสำหรับนักกอล์ฟที่ถนัดมือขวา
แนวสวิง “outside to inside" เมื่อไม้ปะทะลูกโดยทั่วไปแล้วลูกกอล์ฟจะเริ่มต้นขนานแนวสวิงไปทางซ้ายก่อน แล้วค่อยแสดงอิทธิพลของการเลี้ยวตามมา ซึ่งถ้าขนาดปะทะลูก...
1. หน้าไม้ปิด ลูกที่ออกไปจะโค้งซ้ายเพิ่มเติมจากแนวสวิง สรุปคือไปซ้ายแบบสุดๆ "ดึงเข้าซ้ายแล้วยังหักคอซ้ำอีก"
2. หน้าไม้สแควร์ ลูกจะตรงไปทางซ้ายตามแนวสวิง ไม่มีอาการโค้งใดๆทั้งสิ้น "ลูกดึงซ้าย”
3. หน้าไม้เปิด ลูกก็ยังคงเริ่มต้นค่อนช้างซ้ายเมื่อเทียบกับ target line แต่แล้วจะค่อยๆเลี้ยวกลับมาทางขวา และหวังว่าจะเลี้ยวกลับมาเข้าเป้าพอดี เป็นลูกที่นักกอล์ฟอาชีพนิยมเล่นในช็อตแอพโพรช เพราะเมื่อลูกตกแล้วจะวิ่งไม่มากนัก
แนวสวิง “inside to inside" คือแนวสวิงในอุดมคติ หรือแนวสวิงตามตำราทั่วไป ซึ่งส่งผลให้ลูกมักจะออกตัวไปค่อนข้างตรง จะเลี้ยวซ้ายขวามากแค่ไหนขึ้นอยู่กับหน้าไม้ ณ จุดปะทะ ถ้าขณะปะทะลูก...
4. หน้าไม้ปิด ลูกจะเริ่มต้นออกไปค่อนข้างตรงตามแนวสวิง แต่แล้วก็จะมีอาการเลี้ยวซ้ายตามมา
5. หน้าไม้สแควร์ ลูกในความฝันของนักกอล์ฟทั่วโลก "ลูกตรง” แต่ก็เป็นลูกที่ตีได้ยากที่สุดเช่นกัน
6. หน้าไม้เปิด ลูกจะเลี้ยวขวามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอาศาที่เปิดของหน้าไม้แนวสวิง “inside to outside" บอลจะออกตัวไปทางขวาห่างนักกอล์ฟออกไป ส่วนจะกลับมาหรือไม่ขึ้นอยู่กับหน้าไม้ ถ้าขณะปะทะลูก...
7. หน้าไม้ปิด เป็นลูกที่เห็นได้บ่อยๆในการไดร์ฟหัวไม้ 1 ของโปรในทัวร์ ลูกเริ่มต้นออกขวาแล้วโค้งกลับมา ตกแล้ววิ่งอีกพอสมควร เป็นการสวิงที่ทำให้ได้ระยะมากทีเดียว
8. หน้าไม้สแควร์ บางคนเรียก “Block” คือลูกที่ห่างตัวออกไป แล้วตรงไปเรื่อยๆ ว่ากันจริงๆแล้วลูกนี้ก็ไม่ค่อยเสียหายมากนัก โดยทั่วไปสามารถเล่นได้
9. หน้าไม้เปิด เป็นอีก 1 ลูกที่เสียหายมากที่สุด เพราะนอกจากเลี้ยวขวาแล้ว ยังทะลึ่งโค้งขวาห่างจุดที่อยากให้ไปมากขึ้นเรื่อยๆอีกต่างหาก
ดังนั้นการจะตีบอลให้เคลื่อนเข้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องการมีวิธีทำได้ถึง 9 วิธีด้วยกันถ้าเราไม่รวมปัจจัยเพิ่มเติม วิถีความโด่งหรืออัตราการสปินของลูกเข้าไปด้วย สังเกตให้ดีว่า "การตีตรงเป็นเพียงหนึ่งใน 9 ทางเลือกเท่านั้น” บางครั้งสถานการณ์บังคับให้เราตีอ้อมต้นไม้ บังคับให้เราตีเลี้ยวตาม dog leg ของหลุม ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีกว่าในการเคลื่อนบอลจากจุด A ไปจุด B ดังนั้นนักกอล์ฟอาชีพส่วนมากมักจะทำได้ทั้ง 9 วิธี เพียงแต่อาจจะมีวิธีที่โปรดปรานที่สุดซักหนึ่งวิธีที่เอามาเป็นวงประจำของตัวเอง