xs
xsm
sm
md
lg

ผู้กำกับเส้น กระตุก / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

โรล็อง การโรส ( Roland-Garros ) หรือ เฟร็นช์ โอเพิน ( French Open ) เทนนิสระดับ แกรนด์ สแลม รายการที่ 2 ของปี ซึ่งเป็นการแข่งขันเทนนิสบนคอร์ทดินที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ณ สตาด โรล็อง การโรส ใน กรุงปารี แม้ว่าจะเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 1925 และเริ่มจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 1928 ก็ตาม แต่เขาถือว่า รายการนี้จัดขึ้นแทนการแข่งขันเทนนิสชิงแชมป์แห่งประเทศฝรั่งเศส ที่เรียกว่า ช็องปิอ็อนนา เดอ ฟร็องซ์ ( Championnat de France ) ที่มีขึ้นตั้งแต่ปี 1891 ดังนั้น โรล็อง การโรส หนล่าสุดนี้จึงนับเป็นครั้งที่ 110 แล้ว ผมอยากจะเล่าเรื่อง ผู้กำกับเส้น ของรายการนี้ที่บางครั้งตะโกนส่งเสียงหลงให้เป็นที่ขบขันต่อผู้ชมในสนาม เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักตัวตนของพวกเขาบ้างเล็กๆน้อยๆครับ

หลายท่านคงนึกไม่ถึงว่า การแข่งขันรายการนี้ต้องใช้ผู้กำกับเส้นถึง 270 คนเลยทีเดียว ซึ่งแต่ละคนมีอายุตั้งแต่ 15 ถึง 65 ปี เป็นผู้ที่ฝึกตัดสินอยู่เป็นประจำในแต่ละสโมสรอยู่แล้ว พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ในระดับต่างๆกันคือ บางคนได้ตัดสินในระดับจังหวัด ระดับภาค หรือระดับชาติ ซึ่งในรายการ แกรนด์ สแลม ของฝรั่งเศสนี้ ระดับจังหวัดจะมีน้อยมาก ใครสนใจมาตัดสินใน โรล็อง การโรส ก็สามารถส่งใบสมัครมายังคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้นราวครึ่งปี โดยมี ฟร็องก์ ซาบาติเอ ( Franck Sabatier ) หัวหน้าผู้ตัดสินของ โรล็อง การโรส เป็นผู้ควบคุมดูแล สำหรับปีนี้ มีผู้สมัครทั้งสิ้น 565 คน เป็นชาวฝรั่งเศสเอง 360 คน ส่วนชาวต่างชาติจากทั่วโลกสมัครเข้ามา 205 คน

หลักเกณฑ์ที่สำคัญในการพิจารณาคัดเลือกผู้กำกับเส้นก็คือ ประการแรก ต้องเป็นผู้มีสายตาดี มองเห็นชัดแจ๋ว 10/10 จะสวมแว่นก็ได้ ไม่มีปัญหาครับ ประการต่อมา ต้องสามารถออกเสียงขานบอลได้ดี ถูกต้อง ชัดเจน ไม่ใช่หลงๆ ขานผิดขานถูก ข้อสุดท้าย ต้องเป็นคนมีสมาธิดี มั่นคง เพราะพวกเขาจะต้องทำหน้าที่ 1 ชั่วโมงเต็ม ก่อนที่จะได้พักโดยให้ผู้กำกับเส้นอีกชุดเข้ามาแทน เมื่อครบ 1 ชั่วโมงก็กลับมาเปลี่ยนผลัดกันอีก ทำอย่างนี้ตลอดทั้งวัน

ในขณะที่ผู้ตัดสิน ( chair umpire ) มักจะเป็นคนที่ประกอบอาชีพนี้เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพเลย แต่ผู้กำกับเส้นล้วนเป็นคนที่มีอาชีพอื่นๆอยู่แล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นครู หมอฟัน ตำรวจ ฯลฯ ซึ่งจะได้รับค่าเหนื่อยเป็นรายวันเพียงวันละราว 80 เออโร หรือประมาณ 3 พันกว่าบาทเท่านั้นเอง รวมถึงที่พักที่ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันจัดให้ ซึ่งแน่นอนย่อมไม่ใช่โรงแรมหรูอะไร และอันนี้ให้เฉพาะผู้ที่ไม่ได้อยู่ใน กรุงปารีและปริมณฑล เท่านั้น ถ้าอยู่ละแวกนี้อยู่แล้วก็บ้านใครบ้านมันครับ

ข้อดีของการแข่งขันเทนนิสบนคอร์ทดินก็คือ เวลาลูกตกพื้นมันจะมีรอยให้เห็นค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น การโต้แย้งจากผู้เล่นจึงมีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องอื่นเสียมากกว่า เช่น ผู้กำกับเส้นมาสายเสมอ แต่งกายไม่เรียบร้อย อันนี้เขาแก้ปัญหาด้วยการไล่ออกไปเลย หรือบางครั้งผู้กำกับเส้นดันไปโพสท์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานาในอินเทอร์เน็ท ซึ่งในปัจจุบันมีการสั่งห้ามอย่างเด็ดขาดแล้วครับ

นอกเหนือจากการฝึกอบรมผู้กำกับเส้นที่ต้องมีขึ้นก่อนเทศกาลเทนนิสบนคอร์ทดินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกจะเริ่มขึ้น เขายังมีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอดเวลา โดยมีที่ปรึกษาทางด้านเทคนิค 9 คนนั่งดูการตัดสินอยู่ตามจุดต่างๆบนอัฒจันทร์ และ แชร์ อัมพายเออร์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่คอยจับตาดูการตัดสินของผู้กำกับเส้นด้วย แล้วทั้ง 10 คนก็จะนำการประเมินมาหารือกัน ซึ่งมาจากด้านต่างๆคือ สายตา เสียงขาน ความประพฤติ การเคลื่อนไหว และเทคนิค ทั้งหมดนี้ให้ออกมาเป็นคะแนนโดยมีคะแนนเต็ม 7 คะแนน

ข้อพิจารณาที่กล่าวมา ท่านผู้อ่านคงนึกภาพออก แต่สำหรับทางด้านเทคนิคนั้น ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า เขาดูที่กึ๋นของผู้กำกับเส้น เช่น เพ่งสายตาจับจ้องไปที่เส้น ไม่ใช่คอยมองตามที่ลูกบอล หรือคอยหลีกทางให้ผู้เล่นที่เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ เป็นต้น การเป็นผู้กำกับเส้นใน โรล็อง การโรส นั้นไม่ใช่ของหมูๆ ต้องมีการฝึกฝน คนไทยก็สามารถสมัครเข้าไปได้เช่นกัน แล้วถ้าใครได้คะแนนเต็มหรือหย่อนไปหน่อยในการประเมินก็ถือว่าผ่าน ตกลงใช้งานผูกข้ามปีได้เลย แต่ถ้าใครอ่อนมากก็คงไม่เหมาะกับงานนี้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น