xs
xsm
sm
md
lg

อาอีตี สั่นสะเทือนมาตั้งแต่บอลโลก 74 / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

แต่ก่อนนี้ ชาร์ลส ฟรานซิส ริคเตอร์ ( Charles Francis Richter ) นักฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์ด้านแผ่นดินไหวชาวอเมริกา ร่วมกับ เบโน กูเทนแบร์ก ( Beno Gutenberg ) เพื่อนร่วมงานชาวเจอรมานี ได้ช่วยกันนำเสนอ มาตรวัดขนาดแผ่นดินไหวที่เรียกว่า มาตราริคเตอร์ ตั้งแต่ปี 1935 โดยวัดพลังงานจลน์ที่เกิดขึ้นในขณะเกิดแผ่นดินไหว แต่วิธีการของ ริคเตอร์ ยังไม่แม่นยำในเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะใช้ได้ดีเฉพาะในช่วงความถี่และระยะทางหนึ่งเท่านั้น ต่อมา ฮิโรโอะ กานาโมริ ( Hiroo Kanamori ) นักฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์ด้านแผ่นดินไหวชาวญี่ปุ่นได้เสนอวิธีวัดพลังงานโดยตรงจากการวัดการเคลื่อนที่ของรอยเลื่อน มาตรวัดขนาดของ กานาโมริ เรียกว่า มาตราขนาดโมเมนต์ ( Moment Magnitude Scale) ทำให้สมัยนี้ เวลาเกิดแผ่นดินไหว เรามักจะได้ยินฝรั่งเรียกกันว่า 7.0 แม็กนีทูด ( Magnitude ) แทนที่จะเป็น 7.0 ริคเตอร์ อันนี้เขาใช้กันมาตั้งแต่ปี 1979 ครับ

จากเหตุแผ่นดินไหวที่ ประเทศ อาอีตี ( Haiti ) เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา วัดความแรงได้ 7.0 แม็กนีทูด มีผู้เสียชีวิตราว 200,000 คน ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายทั่วโลกกำลังระดมความช่วยเหลือไปยัง อาอีตี นั่นก็ทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องราวอะไรต่างๆหลายเรื่อง

ผมจำได้ว่า อาอีตี เคยไปเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ครั้งหนึ่งด้วย มันเป็นครั้งที่ เจอรมานี ตะวันตก เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 1974 ปีนั้นมีการทำถ้วยใบใหม่ที่ชื่อ ฟีฟา เวิร์ล คัพ โทรฟี ( FIFA World Cup Trophy ) เพื่อมอบให้ทีมแชมป์โดยฝีมือของ ซิลวิโอ กัสซานีกา ( Silvio Gazzaniga ) นักประติมากรรมชาวอิตาลี แทน ชุล ริเม โทรฟี ( Jules Rimet Trophy ) ที่ บราซิว ได้ไปเป็นกรรมสิทธิ์ หลังจากคว้าแชมป์โลกครบ 3 ครั้งในปี 1970

แม้ว่านั่นจะเป็น ฟุตบอลโลก หนเดียวในประวัติศาสตร์ของ อาอีตี เพราะมีหลายครั้งที่ อาอีตี ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขัน โดยเฉพาะปี 1930 1938 1950 1958 1952 1966 และ 1990 ส่วนปีอื่นๆที่เข้าร่วมนั้น อาอีตี ไม่ผ่านรอบคัดเลือก แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ ขนาดชาติที่ยากจนจากเกาะในทะเลแคริบเบียน พื้นที่เล็กกว่าประเทศไทย 20 เท่า มีประชากรราว 10 ล้านคน มักมีปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ถึงขนาดถูกจัดเข้าเป็นชาติที่ยากจนที่สุดในโลกชาติหนึ่ง นอกจากนั้น บริเวณสลัมที่มีชื่อว่า ซีเต โซแล็ย ( Cite Soleil ) ซึ่งตั้งอยู่ใน ปอร์ โอ แปร็งซ์ ( Port-au-Prince ) เมืองหลวงของ อาอีตี มีผู้คนอาศัยเบียดเสียดกันอยู่ร่วม 300,000 คน และได้รับการจัดอันดับจาก องค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นแหล่งที่อันตรายที่สุดบนโลกใบนี้ เต็มไปด้วย อาชญากรรม ยาเสพติด ลักพาตัว ปล้น ฆ่า ข่มขืน เขาไม่เคยพร้อมสำหรับฟุตบอลโลก ยังสามารถกรุยทางนำธงชาติของตนไปโบกสะบัดในเวทีแห่งนี้ได้

ผมเรียกชื่อประเทศนี้ว่า “ อาอีตี ” เพราะใน อาอีตี เขาใช้ 2 ภาษาคือ อาอีเซียน เคร-โอล ( Haitian Creole ) กับ ภาษาฝรั่งเศส แล้วเขาเรียกชื่อประเทศของเขาเองว่า อาอีตี อันนี้เป็นภาษาฝรั่งเศส ส่วนภาษา เคร-โอล ยิ่งไปกันใหญ่ เขาเรียกว่า อายีตี ( Ayiti ) ส่วน “ เฮติ ” นั่นมันสำเนียงอเมริกันที่มักจะสุ่มสี่สุ่มห้าเรียกชื่อใครตามอักขระวิธีในภาษาของตนเอง โดยไม่เคารพประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เอาซะเลย

สำหรับเกมการแข่งขัน เวิลด์ คัพ 74 รอบแรก อาอีตี ถูกจัดเข้าอยู่ในกลุ่ม 4 ร่วมกับ โปแลนด์ อารเกนตินา และอิตาลี แข็งๆทั้งนั้น นัดแรกของกลุ่มนี้ ที่ โอลึมเพียชตาดิออน ( Olympiastadion ) ในเมืองมิวนิค ต่อหน้าสายตาแฟนบอล 51,100 คน อาอีตา ต้องเจอกับ อิตาลี รองแชมป์เก่าเมื่อปี 1970 ที่มี ดีโน ซอฟ ( Dino Zoff ) เป็นผู้รักษาประตู หมอนี่พกสถิติไม่เสียประตูมาถึง 1,142 นาทีติดตัวมาด้วย นอกจากนั้น ในเกมระดับนานาชาติ ทีมชาติอิตาลียังไม่แพ้ใครมา 12 นัดแล้ว แต่นัดนี้ อาอีตี ช็อคสายตาแฟนบอลทั่วโลกด้วยการเปิดสกอร์ขึ้นนำก่อน 1-0 ในนาทีที่ 46 จากการทำประตูของ เอ็มมานูเอล ซานง ( Emmanuel Sanon ) อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น อิตาลี ยิง 3 ประตูซ้อน เอาชนะ ตาอีตี ไป 3-1

นัดที่สอง อาอีตี โดน เกรอเซกอร์ซ ลาโต ( Grzegorz Lato ) ยอดดาวยิง โปแลนด์ นำทัพ ถล่มเละ 7 ประตู แล้วนัดสุดท้ายไปแพ้ อารเกนตินา 1-4 โดย ซานง คนเดิมทำประตู แม้ว่า อาอีตี จะจบ เวิลด์ คัพ 74 ด้วยความปราชัยทั้ง 3 นัด ตกรอบแรก แต่ทีมเล็กๆนี้ก็ได้มีโอกาสไปฟุตบอลโลกมาแล้ว แถมยังแผลงฤทธิ์ทะลวงประตูทั้ง อิตาลี และอารเกนตินา ได้ด้วยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น