รายงานพิเศษ ‘เวียงจันทน์เกมส์’ (ตอนที่ 1)
‘เวียงจันทน์ เกมส์’ ถือเป็นความภาคภูมิใจของหมู่เฮาชาวลาวที่จะได้เปิดบ้านต้อนรับมิตรประเทศในซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 9-18 ธันวาคม 2552 ด้วยความเป็นมือใหม่หัดเป็นเจ้าภาพ หลายประเทศจากทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี ทว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปิดประเทศเพื่อการกีฬาครั้งนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต้องนำ ‘สิทธิประโยชน์’ ต่างๆ แลกให้ไป
ทีมข่าว MGR Sport มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษเป็นการส่วนตัวกับ “เสธ.โต” พลเรือเอก สุรวุฒิ มหารมณ์ ประธานบริหารองค์กรดูแลการช่วยเหลือลาว ทั้งในส่วนการบริหารการจัดการแข่งขันและพัฒนาบุคลากรที่จะใช้งานในซีเกมส์ครั้งนี้ ถึงประเด็นที่ว่า “เวียงจันทน์เกมส์” กีฬาควบสิทธิประโยชน์
ด้วยปัญหาเศรษฐกิจโลกที่แทรกซึมไปทั่วมุมโลก กอปรกับการไม่มีสนามกีฬาที่พร้อมสำหรับการแข่งขันกีฬาระดับชาติ รวมถึง ความไม่พร้อมทางด้านวิทยาการในหลายภาคส่วนสำหรับการเป็นเจ้าภาพ ทำให้หลายประเทศทั้ง จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, เวียดนาม และ ไทย ต้องหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่ทางการลาว
โดย จีน ขนเงิน 80 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 3 พันล้านบาท) พร้อมคนงานก่อสร้างของตนเองมาจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติใหม่ที่หลักกิโลเมตรที่ 16 อยู่ห่างจากสถานีรถไฟท่านาแล้งราว 20 กิโลเมตร โดยเม็ดเงินที่หว่านลงไปนั้นแปรเปลี่ยนเป็นคอมเพลกซ์ (Complex) ประกอบด้วยสนามกีฬาแห่งชาติ, โรงยิมเนเซียม 2 โรง, สระว่ายน้ำ, สนามเทนนิส, สนามยิงธนู และสนามยิงปืน เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬา 9 ชนิด
พลเรือเอก สุรวุฒิ เผยกับทีมข่าว MGR Sport ว่า “แต่เดิมนั้นจีนไม่ได้เรียกร้องอะไรกับทางการลาว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจีนอยากร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับลาวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากลาวมีทรัพยากรที่พร้อมพรั่ง เขตป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีเหมืองแร่เหมืองทอง บ่อน้ำมันที่รอขุด ดังนั้น จีนจึงมีความพยายามอยากจัดตั้งเขตเศรษฐกิจจพิเศษ ตอนนี้ดูเหมือนคนจีนเริ่มแทรกซึมลงมาจากคุนหมิง เนื่องจากลาวเองก็มีพลเมืองแค่ 4-5 ล้านคนเท่านั้น”
ด้าน เกาหลีใต้ สร้างสนามกอล์ฟอยู่ติดกับสนามกีฬาแห่งชาติใหม่เพื่อใช้ในการแข่งขันซีเกมส์ ซึ่ง พลเรือเอก สุรวุฒิ เผยข้อเท็จจริงดังนี้ “เกาหลีมาสร้างสนามกอล์ฟในลาว 45 หลุม พร้อมใช้งานปลายปีนี้ทันที 18 หลุม โดยเกาหลีได้ผลประโยชน์เป็นสัมปทาน 30 ปี เรียกว่าคุ้มสุดคุ้ม เพราะลงทุนไม่กี่ร้อยล้านบาท ทั้งช่วงหน้าหนาวหิมะตกเกาหลีไม่มีสนามฝึกซ้อมในประเทศก็จะให้นักกอล์ฟอาชีพหรือสมัครเล่นของตัวเองมาฝึกซ้อมในลาว ความสะดวกสบายเหลือเฟือ มีที่พัก คลับเฮาส์ ให้ใช้บริการเบ็ดเสร็จ”
นอกจากนี้ เกาหลีใต้ ยังสร้างโรงยิมเนเซียมบูยัง ซึ่งจะใช้ทำการแข่งขันเทควันโด และ มวยปล้ำ ขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติหรือที่ชาวลาวคุ้นในชื่อ “วิทยาลัยดงโดก” พร้อมกันนี้ยังขยายถนนจากเดิม 2 เลนเป็น 4 เลน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คอกีฬาในการเดินทางไปชมการแข่งขันที่ กม.16 อีกด้วย
ส่วน ญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนลาวด้วยการสร้างโรงยิมเนเซียมจัดแข่ง คาราเต และ ยูโด โดย “เสธ.โต” ยอมรับว่า ญี่ปุ่น เป็นเพียงชาติเดียวเห็นจะได้ที่ไม่เรียกร้องสิ่งใดตอบแทน “ตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับลาวถือว่าดี เพราะลาวไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหายจากสงครามกับทางญี่ปุ่นเลย”
ทางด้านของ เวียดนาม ช่วยเหลือลาวด้วยการสร้าง “หมู่บ้านนักกีฬา” 3,960 เตียงนอนอยู่ภายในมหาวิทยาลัยแห่งชาติ มูลค่า 14 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 475 ล้านบาท) เป็นเงินให้เปล่าเพียง 4 ล้านเหรียญฯ ส่วนอีก 10 ล้านเหรียญฯ ทางการลาวมีกำหนดผ่อนส่งระยะเวลา 30 ปี ซึ่งสิ่งที่เวียดนามได้กลับมาถือว่าคุ้มค่ามากทีเดียว เนื่องจากรัฐบาลลาวไฟเขียวให้พื้นที่ต่อเนื่องกับสถานีรถไฟท่านาแล้งให้เวียดนามไปพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตการค้าเสรี และศูนย์ธุรกิจกว้างขวางถึง 3 พันไร่เศษ
สำหรับความช่วยเหลือจากไทยนั้น ทางรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการสร้างสนามกีฬาเอนกประสงค์ให้แก่ลาวที่บึงขะหยองหนึ่งหลัง ปรับปรุงให้อีกหนึ่งหลังเพื่อใช้แข่งขันมวยสากลสมัครเล่นและกีฬาเดาะลูกขนไก่ ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ “เสธ.โต” เผย “ในฐานะที่ไทยกับลาวเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน เราจึงไม่ได้หวังอะไรมาก ทว่าการที่มีพรมแดนติดกันเราต้องคงความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเอาไว้”
“แต่ที่ผมอยากแนะนำคือ ไทย-ลาว น่าจับมือกันได้ในเรื่องของการท่องเที่ยว โดยใช้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ แล้วค่อยส่งนักท่องเที่ยวไปยังลาวหรือเขมร ซึ่งการที่เรามาช่วยลาวในซีเกมส์ทั้งเรื่องของสนามและการจัดการต่างๆ ยิ่งทำให้สามารถประสานอะไรๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งผมอยากแนะนำให้ ไทย, ลาว รวมถึง เวียดนาม ร่วมมือกันเป็นครัวอาหารโลก จับมือกันผลิตข้าว กำหนดราคา คุมตลาดให้เหมือนกับที่โอเปคดำเนินการเรื่องของน้ำมัน ตอนนี้ลาวไม่มีการส่งออกข้าว แต่พวกเขากำลังพัฒนาคุณภาพข้าวโดยศึกษาจากเรา ไทยอาจให้ลาวเป็นผู้ร่วมผลิตโดยที่เราให้การสนับสนุนด้านการตลาด”
ไล่เรียงมานี้ดูเหมือนลาวต้องให้ “สิทธิประโยชน์” ต่างๆ แก่ชาติที่ใช้กลยุทธ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือ แต่คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งนี้ลาวก็ได้ประโยชน์กลับมาเช่นกันไม่ว่าจะเป็นเงินที่ไหลเข้าประเทศ สภาพเศรษฐกิจเฟื่องฟูขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการประกาศให้ชาวโลกเห็นว่าลาวพร้อมแล้วสำหรับการพัฒนาด้านการกีฬาระดับนานาชาติ จึงเรียกได้ว่าต่างฝ่ายต่างก็ “วิน วิน” กันถ้วนหน้า