xs
xsm
sm
md
lg

"แบลตเตอร์" แนะออกกฎคุมนายทุนนอกฮุบทีมลูกหนัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เสนอให้มีการออกกฎควบคุมนักธุรกิจจากต่างชาติที่หวังเข้ามาทุ่มซื้อกิจการสโมสรลูกหนังในยุโรปอย่างเข้มงวด หลังเกิดการแพร่ระบาดในระยะหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเวทีพรีเมียร์ชิป อังกฤษ
โรบินโญ ผลพวงจากการเทกโอเวอร์ที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้
สืบเนื่องจาก อาบู ดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าเทกโอเวอร์ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้ประเด็นการหว่านเงินซื้อทีมฟุตบอลโดยบรรดานายทุนถูกจับตามองมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ 3 สโมสรหัวแถวของพรีเมียร์ลีกอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี และ ลิเวอร์พูล ล้วนอยู่ในมือของเศรษฐีต่างชาติ

ทำให้ แบลตเตอร์ เกิดความกังวลต่ออนาคตของวงการลูกหนังโดยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ในที่ประชุมของสหภาพยุโรป เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า “เราควรทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเจ้าของสโมสรที่เป็นเศรษฐีพันล้านจากต่างชาติ ซึ่งทุกวันนี้สามารถซื้อสโมสรได้อย่างง่ายดายราวกับซื้อเสื้อทีมฟุตบอล”

“บางสิ่งบางอย่างในปัจจุบันเกิดความผิดเพี้ยนขึ้น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงเสนอให้สหภาพยุโรปเข้ามาดำเนินการ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นสำหรับในอังกฤษเพียงที่เดียว แต่ยังครอบคลุมไปทั่วทั้งทวีปยุโรปด้วย เจ้าของสโมสรชาวต่างชาติบางส่วนเริ่มต้นจากการชื่นชอบกีฬาม้าแข่ง อีกส่วนหนึ่งก็นิยมในการซื้อทีมรถแข่งฟอร์มูล่า วัน มาตอนนี้การซื้อสโมสรฟุตบอลกลายเป็นที่สนใจของคนกลุ่มดังกล่าวอย่างแพร่หลาย”

ขณะเดียวกัน บิ๊กบอสแห่งองค์กรลูกหนังโลกยังได้กล่าวเสริมว่าควรมีการออกกฎควบคุมบรรดามหาเศรษฐี โดยเสนอให้ดูกฎหมายของ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นแนวทางว่า “ที่นั่นมีกฎหมายระดับชาติที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือลงทุนในธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณจะต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับละแวกที่ตั้งของธุรกิจนั้นๆ”

ท้ายสุด แบลตเตอร์ ออกโรงกระตุ้นว่า “เราพยายามศึกษาว่าอะไรคือแรงจูงใจของนักลงทุนเหล่านั้น และพวกเขาสนใจในกีฬาฟุตบอลอย่างจริงจังหรือไม่ หรือต้องการแค่แสวงหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว ซึ่งมันคงจะดีกว่าหากมีการออกกฎมาควบคุมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว”

“ผมขอให้สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ประสานงานร่วมกับ สหภาพยุโรป (อียู) ในการวางมาตรการอย่างเข้มงวด มิฉะนั้นจะเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสภาวะทางการเงินในอนาคต”
กำลังโหลดความคิดเห็น