xs
xsm
sm
md
lg

“ประวัติ วะโฮรัมย์” ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับตั้งแต่กีฬาพาราลิมปิก ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลีจนถึงครั้งล่าสุดในปักกิ่ง 2008 กว่าที่ทัพนักกีฬาจากเมืองไทยจะคว้าเหรียญรางวัลมาคล้องคอได้สำเร็จพวกเราต้องรอคอยถึง 32 ปีกับเกีรติยศแรกสำหรับนักกีฬาคนพิการในปี 1992 ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปนเมื่อ “พนม ลักษณะพริ้ม” นักกีฬาพิการทางสายตาจะคว้าเหรียญทองแดงกลับสู่แผ่นดินเกิด

จากเกียรติยศแรกของ พนม ทัพนักกีฬาผู้พิการไทยในปัจจุบันเรียกได้ว่าก้าวมาไกลมากกว่าเหรียญทองแดง พวกเขาสร้างชื่อได้ไม่น้อยหน้านักกีฬาในโอลิมปิกเมื่อทำผลงานคว้าเหรียญรางวัลจาก พาราลิมปิกเกมส์ มาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมคำกล่าวขานถึงความสามารถที่เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะชื่อของ “ประวัติ วะโฮรัมย์” ฮีโร่หัวใจไม่แพ้ผู้ครองเหรียญทองพาราลิมปิกมาแล้วถึงสามสมัย เริ่มตั้งแต่ พาราลิมปิก 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียด้วยผลงานเหรียญทองวีลแชร์ก่อนจะก้าวเดินตามความสำเร็จของตัวเองในพาราลิมปิก ที่เอเธนส์ ประเทศกรีซ และในปักกิ่งเกมส์ครั้งนี้ ประวัติ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับตนเองเมื่อเขาสามารถครองเหรียญทองเหรียญที่ 3 ในการแข่งขันวีลแชร์ 5000 เมตรชายได้สำเร็จ

สามเหรียญทอง จากพาราลิมปิกสามสมัยนับเป็นความยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับการได้ครองเหรียญรางวัลโอลิมปิกแต่กว่าที่ชื่อของ “ประวัติ” จะได้รับการเล่าขานเยี่ยงนี้เจ้าตัวก็ต้องต่อสู้มากกว่านักกีฬาปกติหลายเท่าแม้จะมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม หากแต่หัวใจนั้นไม่เคยยอมแพ้

"ผมเกิดมาพร้อมกับโรคโปลิโอที่ขาซ้าย เรื่องนี้คงโทษใครไม่ได้นอกจากโชคชะตา แต่ว่าด้วยนิสัยที่ไม่ใช่คนยอมแพ้อะไรง่ายๆและผมเองก็อยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าตนเองนั้นไม่ใช่คนป่วย จึงมีความคิดเรื่องอยากเล่นกีฬา อยากเป็นนักกีฬา แม้ว่าตัวเราจะไม่เหมือนคนอื่น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะสู้เขาไม่ได้ ตอนอายุ 14 ปี ผมได้เห็นนักกีฬารุ่นพี่กำลังฝึกซ้อมวีลแชร์ที่โรงเรียนศรีสังวาล วันนั้นผมรู้ใจตัวเองดีว่านี่คือกีฬาที่จะทำให้ตนเองคว้าความสำเร็จมาครองได้ แต่ก็ใช่ว่าคนเราจะขึ้นไปเป็นที่หนึ่งได้เพียงชั่วข้ามคืน ผมต้องใช้เวลาฝึกซ้อมนานมากกว่าจะมีวันนี้"

ความยากลำบากของ ประวัติ เริ่มต้นตั้งแต่วันแรกที่คิดจะเป็นนักกีฬาวีลแชร์ "ตอนนั้นบอกตามตรงเลยว่าซ้อมด้วยน้ำตา คือ ซ้อมไปน้ำตาก็ไหลไป เนื่องจากแข่งสู้นักกีฬารุ่นพี่ไม่ได้ แพ้แบบไม่เห็นฝุ่นเลย มันเป็นความเจ็บใจ แต่เราต้องสู้ต่อ ผมบอกตัวเองเสมอ ถ้าอยากเก่งก็ต้องฝึกซ้อม ซึ่งผมใช้เวลากับการซ้อมมากทีเดียวกว่าที่โค้ชจะเลือกผมเป็นนักกีฬาในทีม"

จากวันที่รู้จักกีฬาวีลแชร์เรสซิงวันแรก จนมาถึงวันนี้ วันที่ ประวัติ วะโฮรัมย์ ก้าวสู่แท่นรับเหรียญรางวัลแห่งความสำเร็จที่ใช้เวลาถึง 12 ปีในการอดทนฝึกซ้อมอย่างยาวนาน โดยยอดนักหมุนวงล้อกล่าวว่า "ผมเป็นคนมีเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายของผมเมื่อตอนอายุ 14 ปี ก็คือการไปให้ถึงจุดสูงสุดของการเป็นนักกีฬา คือ พาราลิมปิก บอกตามตรงตอนนั้นผมไม่กล้าบอกใคร ได้แต่เก็บไว้ในใจ เพราะเราเพิ่งหัดเล่นได้ไม่นาน กลัวคนจะหาว่าเพ้อเจ้อ ผมจึงจำเป็นต้องทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเราทำได้ในวันนี้"

แม้จะผ่านการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์มาแล้วถึง 2 สมัย ทว่าใน "ปักกิ่งเกมส์" ยอดนักกีฬาวีลแชร์ผู้คว้า 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน กับ 1 เหรียญทองแดง ยอมรับว่าเป็นพาราลิมปิกครั้งที่รู้สึกประทับใจมากที่สุดโดยกล่าวว่า "ผมรู้สึกภูมิใจกับผลงานของตัวเองมากที่สุด เพราะผมคว้าเหรียญมาได้ 5 รายการ แม้จะไม่ใช่เหรียญทองทุกเหรียญ และที่สำคัญคือการแย่งแชมป์วีลแชร์เรสซิง 5,000 เมตรกลับคืนมาได้จากนักกีฬาจากออสเตรเลีย เพราะนี่เป็นระยะที่ผมถนัดที่สุด"

ทว่าเรื่องตลกร้ายที่ ประวัติ ยอมรับว่าหัวเราะไม่ออกกับผลงาน 5 เหรียญรางวัลใน "ปักกิ่งเกมส์" ของตัวเอง กลับห่างไกลกันลิบลับกับนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เมื่อเงินอัดฉีดเหรียญทองกีฬาผู้พิการรายการนี้ได้เพียง 2 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ผิดกับเหรียญทองโอลิมปิกที่ได้รับถึง 10 ล้านบาทจากหน่วยงานเดียวกัน

"สำหรับเหรียญทองละ2 ล้านที่กองทุนกีฬาฯ จะมอบให้ผม ซึ่งหากรวมทุกเหรียญแล้วก็จะได้ 5.5 ล้านบาท ถือไม่น้อยแน่นอน แต่ผมถามกลับไปหน่อยว่าผมก็เป็นนักกีฬา ต้องฝึกซ้อม ต้องอดทน ต้องแข่งขัน เหมือนกับที่นักกีฬาปกติเขาแข่งขันกัน แต่ทำไมบทสรุปในเรื่องเงินอัดฉีดจึงต่างกันมากขนาดนี้ ที่จริงแล้วเราพูดกันมานานเรื่องความเท่าเทียมกันของสิทธิสำหรับคนปกติ กับผู้พิการ วันนี้เป็นวันที่เห็นได้ชัดกับคำว่าความเท่าเทียมของคนพิการมันมีค่าไม่เท่ากับคนปกติ"

นั่นคือความรู้สึกลึกๆของประวัติ ที่อยากให้คนในสังคมยอมรับและเห็นผู้พิการมิใช่ผู้ป่วยหากเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป ดังเช่นที่หัวใจนักสู้ของประวัติ ซึ่งกล่าวทิ้งท้ายไว้ในบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ว่า จะขอกลับมาสู้และทำผลงานอีกครั้งในพาราลิมปิก 2012 เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่านักกีฬาผู้พิการก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์และเป็นฮีโร่ในวงการกีฬาได้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น