xs
xsm
sm
md
lg

“จาเมกา” ดีเอ็นเอเจ้าลมกรด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อูเซน โบลต์ พังสถิติโลก 3 รายการ
ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่เพิ่งจบไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ชมทางจอโทรทัศน์กว่า 2 พันล้านคนได้ชื่นชมกับความเร็วของเหล่าลมกรดในชุดแขนกุดสีเขียว-เหลือง-ดำจากเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งแถบทะเลแคริบเบียนที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 2.6 ล้านคนและรู้จักกันในนามประเทศที่มีชื่อว่า"จาเมกา"

อูเซน โบลต์ สร้างสถิติโลกขึ้นมาใหม่ทั้ง 100 เมตร 200 เมตรและ 4x100 เมตร เช่นเดียวกับปรากฏการณ์กินรวบ 3 เหรียญรางวัลในรายการ 100 เมตรหญิง ล่วงเลยไปถึงในประเภท 200 เมตรกับเหรียญทองของ เวโรนิกา แคมป์เบล-บราวน์ ทั้งนี้สถิติของทัพกรีฑาจาเมกาในโอลิมปิกครั้งนี้เทียบเท่ากับที่สหรัฐอเมริกาเคยทำไว้ใน โซลเกมส์ เมื่อปี 1988 เลยทีเดียว

เหตุการณ์เหล่านี้นำมาซึ่งข้อสงสัยว่าเหตุใดประเทศที่เต็มไปด้วยสภาพปัญหาความยากจนและอาชญากรรม ถึงได้สร้างยอดนักวิ่งเหล่านี้ขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่เหนือกลุ่มอำนาจเก่าอย่าง สหรัฐฯ ได้ แม้ถึงขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาจากสถาบันใดรับรองเหตุผลที่แท้จริง แต่จากการสืบค้นข้อมูลทั้งในรูปแบบบุคคลและเอกสารก็พอทำให้เราเห็นเค้าโครงคำตอบได้บ้างพอสมควร

จากผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยแห่งเมืองควิเบก ประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 1980 พบว่าเด็กนักเรียนผิวดำที่มีเชื้อสายแอฟริกันมีโครงสร้างพื้นฐานของกล้ามเนื้อที่กระตุกหรือตอบสนองได้รวดเร็วกว่าคนผิวขาว ซึ่งลักษณะกล้ามเนื้อเช่นนี้จะช่วยในการเคลื่อนไหวร่ายกาย สอดคล้องกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ที่พบว่านักวิ่งจาเมกากว่า 70 เปอร์เซนต์มียีนแบบ “ACTN3” ที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากยีนชนิดนี้มีส่วนช่วยสร้างโปรตีนเพื่อหล่อเลี้ยงให้กระบวนกระตุกกล้ามเนื้อของมนุษย์ทำงานได้ดีขึ้น โดยตามหลักการทางชีววิทยาแล้วสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการสปรินท์ของนักวิ่งอย่างแน่นอน

นอกจากความได้เปรียบด้านโครโมโซมของร่างกายแล้ว หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการกรีฑาจาเมกาเกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว กับชายที่ชื่อ “เดนนิส จอห์นสตัน” ผู้ริเริ่มนโยบายรั้งตัวบรรดานักวิ่งมากพรสวรรค์ของชาติไม่ให้ย้ายไปเรียนตามมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐฯ ที่ให้ทุนการศึกษาพร้อมค่าจ้างที่ไม่อาจปฏิเสธได้

โดย จอห์นสตัน ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งชาติขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะเด็กหนุ่มสาวนักวิ่งที่มีแววดีให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ผนวกกับรายได้และสวัสดิการที่นักกีฬาจะได้รับอย่างครบถ้วนกับการตัดสินใจอยู่ซ้อมในประเทศบ้านเกิดต่อไป

"หากเรานึกย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ เดนนิส จอห์นสตัน เคยประกาศไว้” แอนโธนีย์ เดวิส ผู้อำนวยการกีฬาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งชาติจาเมกา กล่าว “ตอนที่เขาเริ่มสร้างสถาบันแห่งนี้ขึ้นมา เขาย้ำว่าเราสามารถพัฒนานักวิ่งให้ไปสู่ระดับนานาชาติได้ อีกทั้งยังบอกอีกว่าการวิ่งให้เร็วเป็นเรื่องที่สามารถสอนกันได้ ซึ่งนั่นคือแนวคิดที่เขามี ดังนั้นเหตุการณ์ในวันนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด เราพร่ำบอกกับชาวโลกมานานแล้วว่าให้ระวังนักวิ่งจากจาเมกาให้ดี"

ขณะที่การสร้างเยาวชนที่แข็งแกร่งก็เป็นอีกหนึ่งรากฐานที่มีความสำคัญ หากชนชาวมะกันมีซูเปอร์โบวล์เป็นแมตช์ที่ทุกคนในชาติเฝ้ารอคอยชมแล้ว การแข่งขันวิ่งชิงแชมป์ประเทศในระดับนักเรียนของจาเมกาก็มีประวัติศาสตร์ที่เปี่ยมไปด้วยความภูมิใจ เกียรติยศ และมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมกีฬาของชนชาวจาเมกาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อีกทั้งการต้องลงแข่งต่อหน้าฝูงชนกว่า 2 หมื่นคนตั้งแต่อายุยังน้อยก็พอเป็นคำตอบถึงคำถามที่ว่าเหตุใดเราจึงไม่เห็น โบลต์ ตื่นเต้นกับการวิ่งบนลู่ภายในสนามกีฬาแห่งชาติ กรุงปักกิ่ง เลยสักนิด

สุดท้ายแล้วแม้ความยากจนของประเทศจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคนจาเมกาให้มีความสมบูรณ์พร้อมในสังคม แต่มีบุคคลอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา อีกทั้งยังแปรเปลี่ยนความลำบากกลายเป็นแรงบัลดาลใจที่จะก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าทั้งทางด้านการศึกษาและรายได้ พร้อมมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อทดสอบว่าตนเองมีศักยภาพพอจะก้าวขึ้นไปเป็นนักกีฬาระดับท็อปได้หรือไม่

ถึงวันนี้เชื่อว่าภาพความสำเร็จของนักวิ่งจาเมกาที่มาจากความมีวินัย การเสียสละ ทำงานหนัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีความรักให้กับสิ่งที่ทำอย่างแท้จริง เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนที่กำลังต่อสู้ทั้งเพื่อตนเองและครอบครัวให้มีกำลังใจมากขึ้นไม่มากก็น้อย
เชลลี-แอน เฟรเซอร์ (ซ้าย), เชอร์โรน ซิมป์สัน (ขวา) และ เคอร์รอน สจ็วร์ต 3 ลมกรดสาวจาเมกากวาดเรียบทุกเหรียญในรายการ 100 เมตร
โฉมหน้าทีมผลัด 4x100 เมตรชายจาเมกา
เวโรนิกา แคมป์เบล-บราวน์ เจ้าของเหรียญทอง 200 เมตรหญิง
อซาฟา พาวล์ อีกหนึ่งผลิตผลลมกรดชั้นยอดจากแดนเรกเก
กำลังโหลดความคิดเห็น