xs
xsm
sm
md
lg

‘ปักกิ่งเกมส์’ ความทรงจำมิรู้ลืม / ภู่ หว่า เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ตะลุยแดนมังกร” กับ “ภู่ หว่า เฮง”

นับตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมายังกรุงปักกิ่งประเทศจีนจวบจนวันสุดท้ายของมหกรรมกีฬาแหงมวลมนุษยชาติ ครั้งที่ 29 “ภู่ หว่า เฮง” สัมผัสได้ถึงรสชาติการผจญภัย เรียกได้ว่าหลากหลายเรื่องราวไม่ค่อยประสบพบเจอในชีวิต

เหยียบปักกิ่งได้มิทันไร ผมต้องจับรถไฟตู้นอนพร้อม “เฮียยุทธ” เดินทาง 13 ชั่วโมงลงเซี่ยงไฮ้เพื่อไปชมการแข่งขันบาสเกตบอลชาย เกมอุ่นเครื่องก่อนโอลิมปิกเกมส์ 2008 ระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับ ออสเตรเลีย ซึ่งผลการแข่งขันเป็นไปตามคาด “ดรีมทีม” เก็บชัยไปเบาะๆ 87-76 คะแนน นี่ถือเป็นการมาดูศึกยัดห่วงระดับโลกถึงสนามเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่ก็ทำเอาผมเกือบหลงทางไปเหมือนกัน เมื่อโดนพ่อหนุ่มช็อปเปอร์มอเตอร์ไซค์รับจ้างทิ้งกลางทาง ยังดีที่บุรุษมิเปิดเผยนามใจดีให้ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไปยังสนามแข่งขัน

จากนั้นเรามีโอกาสนั่งรถไฟหัวกระสุน หรือเจ้า CRH (China Railway High-Speed) จากเซี่ยงไฮ้ กลับมาสมทบกับ “เจ๊โอ๋” และ “น้องตุ้ม” ที่ฐานทัพ “เสี่ยว ซี เทียน” เพื่อตะลุยงานใหญ่ในกีฬาโอลิมปิกกันต่อไป จากการที่ผมไม่มีบัตรนักข่าวในครั้งนี้ทำอะไรก็ไม่คล่องตัว ประกอบกับโรคคิดถึงบ้านสะกิดใจตั้งแต่สัปดาห์แรก อาการอ่อนแอก่อเกิด ความสามารถในการทำงานลดน้อยถอยลงไป จน “เจ๊โอ๋” พี่สาวแห่ง MGR Sport ต้องปิดห้องกระตุกลูกฮึดกลับคืนมา จากการสนทนาอย่างเปิดใจทำให้ผมรู้ซึ้งถึงคำว่า “ศักดิ์ศรี” และ “การเสียสละ” เพื่อองค์กร ที่สำคัญยังได้เห็นแม่แบบของ “ดอกไม้เหล็ก” เบ่งบานอยู่มิใกล้มิไกล

ตลอดทั้งสัปดาห์แรก เราต่างอยู่ในกระบวนการปรับตัวกันยกใหญ่ ทุกฝ่ายพยายามช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จนผมรู้สึกได้ถึงคำว่า “มิตรแท้ยามยาก” นั้นเป็นเช่นไร ในขณะที่ “เจ๊โอ๋” เป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจาก MGR ที่มีบัตรนักข่าวสามารถเข้านอกออกในมีเดีย เพรสเซ็นเตอร์ (MPC) และวิ่งตัวเป็นเกลียวตามสนามต่างๆ ผมเสมือนนักท่องเที่ยวคนหนึ่งไล่หาและเก็บประเด็นจากนอกสนาม ซึ่งครั้งนี้ต้องให้เครดิต “เฮียยุทธ” กับ “น้องตุ้ม” ที่คอยเป็นล่ามและเพื่อนร่วมทางยามตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย การมาโอลิมปิกครั้งนี้นอกจากประสบการณ์ ผมยังได้เพื่อนที่ดีและน้องที่น่ารักกลับไปพร้อมๆ กัน

สำหรับการมาเลียบเคียง “ปักกิ่งเกมส์” ต้องยอมรับว่าประชาชนชาวจีนให้ความสำคัญกับ “วาระแห่งชาติ” ในครั้งนี้เป็นพิเศษ นับตั้งแต่ทราบว่าตัวเองได้รับหน้าเสื่อจัดการแข่งขัน ในปี 2002 รัฐบาลจีนระดมเงินกว่า 2.53 แสนล้านบาท เพื่อวางระบบรถไฟใต้ดิน (Subway) เพิ่มเส้นทางการเดินทางขึ้นมาอีก 6 สายครอบคลุมกรุงปักกิ่ง 6 ปีให้หลังทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติจึงได้สะดวกสบายไปกับการเดินทางตระเวนชมกีฬาตามสนามต่างๆ ในสนนราคาแค่ 2 หยวน (10 บาท) ตลอดสาย ซึ่งผมมองว่าระบบการขนส่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับการคิดเป็นเจ้าภาพทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ

อีกทั้งการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน ยังสามารถช่วยให้การจราจรทางบกในช่วงโอลิมปิกเบาบางลงไปมาก ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทำตามนโยบายรัฐวางเอาไว้ “ม่านหมอก” ที่หลายคนหวั่นเกรงว่าจะปกคลุมท้องฟ้าหายวับไปกับตา ประกอบกับฟ้าฝนเทลงมาเป็นใจด้วย

ในส่วนของ “อาสาสมัคร” แม้หลายฝ่ายมองว่ามากแค่ปริมาณแต่คุณภาพยังไม่คับแก้วเท่าที่ควร ทว่าผมก็สัมผัสได้ถึงการพร้อมให้ความช่วยเหลือต่างชาติด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจ จำได้แม่นครั้งตอนไปชมบาสฯ มะกันที่เซี่ยงไฮ้ Volunteers หนุ่มรายหนึ่งแสดงความเป็นมิตรแทบจะส่งผมขึ้นรถกันเลย

มาโอลิมปิกผ่านไปกว่าสองอาทิตย์ โอกาสที่ผมจะเข้าสนามดูริบหรี่ทุกขณะ เพราะจากการเดินสำรวจราคาตั๋วผีหน้าสนามต่างๆ ผมกับเฮียยุทธได้แต่ถอนหายใจ บ้าไปแล้วราคาหน้าตั๋ว 150 หยวน (750 บาท) ถูกโก่งราคาเป็นสิบเท่า อย่างมีอยู่วันหนึ่งตั้งใจไปดูยัดห่วง เยอรมนี พบ กรีซ แต่ จีน ดันเจอ สเปน ในคู่ต่อมา ทำให้ราคาตั๋วผีกระฉูดถึง 3 พันหยวน (15,000 บาท) กับการชมแพ็คเกจบาสฯ สองคู่นี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ฝันของผมก็เป็นจริงจนได้เมื่อ “เจ๊โอ๋” กริ๊งกร๊างเข้ามาหาในตอนเช้าบอกให้รีบมาหาแกที่ MPC เนื่องจากมีตั๋ววอลเลย์บอลหญิงรอบชิงเหรียญทองแดงอยู่ในมือ ผมกับเฮียยุทธคู่หูจึงรีบดิ่งตรงไปรับบัตรที่ได้รับความอนุเคราะห์มาจาก “พี่อู๊ด” สมลักษณ์ โหลทอง ภรรยาคุณระวิ (โหลทอง) บิ๊กบอสแห่งค่ายสยามกีฬา

ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยตรวจเช็คกันละเอียดยิบ เราผ่านด่านนี้ไปได้พร้อมกับเข้าไปสมทบกับ “กองทัพสีแดง” เนื่องจากเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เจ้าภาพมีคิวตบกับสาวคิวบา ภายใน Capital Gymnasium แฟนตบลูกยางชาวจีนเดินทางมาเชียร์ทีมรักเกือบเต็มความจุสนาม 18,000 ที่นั่ง สีสันบรรยายการการเชียร์ที่ตะเบงเสียงกันสุดชีวิตเล่นเอาเราขนลุก ช่วงแรกของการแข่งขัน “เฮียยุทธ” ซึ่งผมและน้องตุ้มตั้งฉายาว่าเชียร์ทีมไหนทีมนั้นตายหมด เกิดอยากลองของปรบมือในจังหวะที่นักตบจีนตีเสีย ทันใดนั้นเองเสียงคุณป้าซึ่งนั่งอยู่ข้างหลังเราตะโกนแทรกขึ้นมาทำนองว่า “ตบมือหาพระแสงอะไร ทีมเราทำพลาด” ตั้งแต่วินาทีนั้นเราพลีใจเชียร์ลูกยางสาวแดนมังกรสุดตัว ท้ายที่สุดแล้วจีนก็อาศัยแรงใจบดชนะยอดทีมอย่างคิวบาไปได้ 3-1 เซต คว้าเหรียญทองแดงปลอบใจ

ค่ำวันเดียวกันเราเดินทางไปฉลองที่มาถึงโอลิมปิกอย่างเป็นทางการกันที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งแถวบ้านและก็ได้ลิ้มลอง “เป็ดปักกิ่ง” อันเลื่องชื่อ ก่อนกลับมาพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับสู่ประเทศไทยในช่วงเย็นวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่ำคืนสุดท้ายในเมืองหลวงของประเทศจีนคงทำให้ผมข่มตาหลับยากสักหน่อย เนื่องจากภาพแห่งความประทับใจตลอดสามสัปดาห์ยังวนว่ายอยู่ในหัว ถึงแม้เริ่มด้วยร้ายแต่สุดท้ายก็จบด้วยรักนะ “บ๊ายบาย ปักกิ่งเกมส์”
มีบัตรก็มีสิทธิเข้าสนามแข่งขัน
มิตรภาพ เกิดขึ้นได้ด้วยเกมกีฬา
มีโอกาสถือ คบเพลิงโอลิมปิก
กำแพงเมืองจีน ไม่มาเหยียบถือว่ามาไม่ถึงแดนมังกร
กำลังโหลดความคิดเห็น