xs
xsm
sm
md
lg

‘6 หมวยพันธมิตร’ แด่ดอกไม้เหล็กผู้งดงาม แต่แข็งแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิดาภา จิตรีเชาวน์, กัณจนา มาลัยทอง, มะลิวัลย์ วงศ์เดชาโรจน์, วิริยา แซ่ล้อ, พัฒฑิดา โฆษิตเลิศวิทูร
มีการตั้งข้อสังเกตกันมานานแล้วว่า มวลชนที่มาร่วมชุมนุมกับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นผู้หญิงสูงถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ บางเสียงมักจะบอกว่าเป็นเพราะผู้หญิงอยู่บ้านมากกว่าผู้ชายที่มีภาระต้องรับผิดชอบ จึงทำให้ผู้หญิงรับข้อมูลข่าวสารจากโทรทัศน์โดยเฉพาะ ASTV ได้มากกว่า นี่คงรวมถึงสภาพทางจิตวิทยาบางประการประกอบด้วยจึงทำให้ผู้หญิงออกมากู้ชาติกันมากเพียงนี้ เข้าทำนอง ‘มือก็ไกว ดาบก็แกว่ง’ แต่คำตอบจริงๆ คงต้องมีการศึกษาหากันต่อไปว่าเป็นเพราะเหตุใด

ไม่ใช่แค่มีผู้หญิงเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากเท่านั้น แต่จุดเด่นอีกข้อที่เป็นที่ยอมรับของใครหลายคนก็คือ พวกเธอเป็นดอกไม้แสนสวยที่คอยประดับประดาม็อบให้สดชื่น และชุบชูหัวใจหนุ่มๆ ให้มีเรี่ยวแรง

ผู้อ่านบางท่านคงเคยได้รับอีเมล์ที่มีเนื้อหาเปรียบเทียบมวลชนพันธมิตรฯ ผู้หญิงกับกลุ่มของ นปช. หรือ แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เอาล่ะ แม้ว่าเรื่องแบบนี้จะไม่ใช่เนื้อหาสาระที่สลักสำคัญอะไรมากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเป็นสีสันที่เรียกรอยยิ้มและชวนมองไม่น้อย

ด้วยความที่ดอกไม้แสนงามมีหลากหลายและกระจายตัวไปทั่ว ตั้งแต่มัฆวานจนถึงในทำเนียบ แต่คงไม่มีใครโดดเด่นเท่ากลุ่มนี้อีกแล้ว ‘กลุ่ม 6 หมวยพันธมิตร’

ลองสังเกตดูบริเวณหน้าเวทีพันธมิตรฯ ทุกค่ำคืน คุณจะสังเกตเห็นกลุ่มสาวหมวยประมาณ 4-6 คน แต่งตัวเหมือนกัน เต้นเหมือนกัน เป็นที่สะดุดตา สะดุดใจผู้คนว่าพวกเธอเป็นใคร

พวกเธอประกอบด้วย มะลิวัลย์ วงศ์เดชาโรจน์, วิริยา แซ่ล้อ, พัฒฑิดา โฆษิตเลิศวิทูร, กิดาภา จิตรีเชาวน์ และ กัณจนา มาลัยทอง ทุกคนประกอบธุรกิจส่วนตัว พวกเธอยังเล่าให้ฟังด้วยว่า จริงๆ แล้วกลุ่มของเธอมี 6 คน แต่อีกหนึ่งสาวติดบินอยู่ เธอคนนั้นเป็นแอร์โฮสเตส

ขณะที่มะลิวัลย์, กิดาภา และกัณจนา พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่วิริยามาไกลจากจันทบุรี ส่วนพัฒฑิดามาจากนครปฐม ที่น่าทึ่งยิ่งกว่าคือทั้งสองคนมาเช่าโรงแรมอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่การชุมนุมวันแรกในเดือนพฤษภาคม กระทั่งถึงวันนี้เธอทั้งสองก็ยังไม่ได้กลับบ้าน

“ที่ผ่านมาพวกเราจะพยายามมากันให้ได้ทุกวัน เพราะเรากลัวว่าคนจะน้อย คือกลุ่มเราจะมี 2 คนที่มาอยู่ประจำหลักๆ ทุกวันคือ วิริยากับพัฒฑิดา ส่วนคนอื่นๆ ก็จะผลัดเปลี่ยนกันมาตามแต่จะสะดวก คนไหนป่วยก็พักไป คนไหนที่ยังสบายดีก็มาช่วยกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะพยายามมากันให้ได้ ป่วยก็กินยาเอา อีกอย่างเราแต่ละคนก็มีหน้าที่การงานที่ยังต้องรับผิดชอบ นี่ก็มีอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้มา เพราะเป็นแอร์โฮเตสแล้ววันนี้ติดบิน แต่คงจะมาร่วมสมทบช่วงสัปดาห์หน้า” มะลิวัลย์อธิบายภารกิจของกลุ่มเธอให้ฟัง

พวกเธอเล่าให้ฟังว่ารู้จักกันตั้งแต่การขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 เจอกันในม็อบแล้วก็คงถูกชะตากันนับแต่นั้น จึงมีการติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีสถานการณ์การชุมนุมขึ้นอีกครั้ง พวกเธอก็ไม่ลังเลที่จะกลับมารวมตัวกันอีกเพื่อขับไล่นักการเมือง

“ตอนปี 49 ที่มาเพราะเราทนไม่ได้ที่เราทำมาหากินของเรา เรายังต้องเสียภาษี แต่นี่มีเงินเป็นพัน เป็นหมื่นล้าน กลับไม่ยอมเสียภาษีสักบาท” กิดาภาเล่าถึงอดีตให้ฟัง
สำหรับครั้งนี้ พวกเธอตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ามาเพื่อในหลวง
.........

เราถามว่าทำไมถึงต้องลงทุนแต่งตัวเหมือนกันด้วย
“แต่ก่อนเราฟังชุมนุม ร้องเพลง เต้นมาด้วยกัน แต่ก็ยังไม่ได้มีการฟอร์มทีมกันแบบเป็นเรื่องราว ยังไม่ได้ตกลงว่าจะต้องแต่งตัวเหมือนกัน ตอนนั้นต่างคนก็ต่างมากันในชุดทำงาน แต่พอตอนหลังเริ่มมาสนิท เข้าขากันมากขึ้น ก็เริ่มมาคุยๆ กัน คือเริ่มจากวิริยากับพัฒฑิดาคุยกันเองก่อน ลองนัดแต่งตัวมาให้เหมือนๆ กันดู ก็ทำไปได้สักพักก็มีคนอื่นๆ ในกลุ่มแต่งตัวเหมือนมาร่วมแจมด้วย มันก็เลยขยายวงขยายกลุ่มแต่งตัวเป็นทีมไปเรื่อยๆ จาก 2 คน ตอนนี้กลายเป็น 5 คนแล้ว

“อีกอย่างก็เพื่อความสวยงาม ความมีสีสัน เราจะเรียกกันว่า ‘กลุ่มสามัคคี’ คือเราจะคิดเสื้อผ้าให้เหมือนๆ กัน แล้วนัดกันใส่ออกมา มันรู้สึกดีนะ คนอื่นที่ได้เห็นจะได้รู้สึกว่ามันไม่น่ากลัวอย่างที่ใครๆ เขาว่ากัน ช่วยให้ภาพที่ออกมาไม่น่ากลัว มันช่วยสร้างสีสันให้แก่การชุมนุมได้ด้วย” วิริยาบอกเล่าแรงบันดาลใจ

อีกประการหนึ่งที่ทำให้พวกเธอต้องมาจับจองที่นั่งด้านหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นเรื่องของความรู้สึกผูกพันทางจิตใจ พวกเธอตอบว่าต้องการปกป้องแกนนำ

แต่ใช่ว่าพวกเธอจะแต่งตัวกันมาจากที่บ้านหรือที่พัก เพราะการทำเช่นนั้นอาจจะเป็นเป้าสายตาจนเกินไป ดีไม่ดี แท็กซี่บางคันก็จะไม่รับเอาดื้อๆ โดยปกติ พวกเธอจะแต่งตัวธรรมดาๆ แต่สีเหมือนกันออกมาจากบ้าน พอมาถึงเวทีจึงค่อยเพิ่มเติมพร็อพต่างๆ เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอกู้ชาติ ที่รัดข้อมือหรือที่รัดผมลายธงชาติ รวมไปถึงการเพ้นต์ใบหน้าต่างๆ

พวกเธอเล่าว่าวิริยาและพัฒฑิดาจะทำหน้าที่เป็นคอสตูมของกลุ่ม คอยดูแลเรื่องสไตล์การแต่งตัวในแต่ละวัน ถ้าสถานการณ์ตึงเครียดก็อาจแต่งชุดลายทหารหรือบางทีก็ขนาดนุ่งตะแบงมานพร้อมรบกันเลยทีเดียว แต่ถ้าสถานการณ์ปกติก็อาจจะแต่งตัวตามสีของวัน เช่นวันที่เราไปเจอพวกเธอตรงกับวันพุธ เสื้อก็จะเป็นสีเขียวตองอ่อน แต่พวกเธอบอกว่ามีสีเดียวที่จะไม่ใส่เด็ดขาดคือ ‘สีแดง’ ต่อให้วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ก็ตาม (ฮา)

ลองถามความคิดเห็นว่าทำไมม็อบพันธมิตรฯ ถึงมีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย กัณจนาตอบว่า
“อาจเป็นเพราะว่าผู้หญิงมีการรวมตัวกันได้ง่ายกว่าผู้ชาย เพราะบางทีพวกผู้ชายเขาก็ไปทำงานกัน เราก็ถือว่าได้แบ่งเบาภาระด้วยการช่วยออกมากู้ชาติที่นี่ ผู้หญิงก็เป็นเพศแม่ด้วย ให้ความรู้สึกคุ้มครอง คุ้มภัย อีกอย่างผู้หญิงสมัยนี้ไม่ได้กลัวอะไรง่ายๆ แล้ว บางคนยังดูกล้าหาญกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ ความรักในชาติ รักในพระมหากษัตริย์ไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชายเลย คือมันหมดยุคที่ผู้หญิงต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนแล้ว ปีนี้ 2008 แล้ว ทุกอย่างมันเปิดกว้างไปหมด ไม่ได้หน่อมแน้มเหมือนแต่ก่อน เดี๋ยวนี้ผู้ชายเขาทำอะไรกันผู้หญิงก็ทำได้หมด”

กว่า 100 วันของการชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนาน พวกเธอยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการปักหลักสู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและท้อถอย เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างดีว่าความแข็งแกร่งนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศหรือสรีระ แต่มันอยู่ที่หัวจิตหัวใจ

“ช่วงแรกๆ ก็มีกลัวบ้างเพราะพวกเราเองก็เป็นผู้หญิง แต่บางครั้งก็ถูกรังแกอยู่ฝ่ายเดียวบ่อยๆ แต่เพราะเรายึดหลักอหิงสา มันเลยทำให้เราไม่กลัวแล้ว ความกลัวมันหมดไปเอง แต่ใจกลับสู้ยิ่งขึ้นกว่าเดิม ยิ่งมาหมิ่นในหลวงของเราด้วยแล้ว เรายิ่งทนไม่ได้ สู้ให้มันรู้ดำรู้แดงไปเลยดีกว่า ตอนนี้หัวใจเราเหมือนผู้ชายไปแล้ว” พวกเธอช่วยกันเล่า

ขอชื่นชมในหัวใจแข็งแกร่งของ ‘กลุ่ม 6 หมวยพันธมิตร’ และดอกไม้เหล็กทุกคนแห่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

มะลิวัลย์ วงศ์เดชาโรจน์
- ที่บ้านพูดอะไรบ้างที่มาอย่างนี้?

ไม่ว่า เขาให้มา เพราะที่บ้านก็อยู่ข้างแกนนำตลอดมา บางครั้งเราไปเปิดดูช่องNBT เขาเห็นเขายังโกรธเลย บอกว่าไปดูทำไมช่องแบบนี้ เราก็ตอบไปว่าก็ดูเพื่อที่จะได้รู้ว่าเขาพูดถึงเรายังไง คือเรามองว่าเราเปิดใจรับได้ การเห็นต่างมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

ส่วนที่บ้านก็มีมานะ แต่ช่วงนี้เขาติดสอบ รอปิดเทอมแล้วเขาจะตามมาสมทบ อย่างแม่เราเองขาแข้งก็ไม่ดียังมาเลยนะ คือแกเองก็ทนดูไม่ได้ที่เห็นคนมาหมิ่นในหลวงแล้วไม่มีใครทำอะไรเลย แกบอกว่าทำไมเดี๋ยวนี้บ้านเมืองมันถึงได้เลวร้ายอย่างนี้ แกอยู่มาจนปูนนี้แล้วยังไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้เลย แกเองก็ยอมไม่ได้เหมือนกัน

- แล้วหมดค่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่แล้ว?
มันก็มีหมดเหมือนกัน แต่อย่าถามเลยว่าหมดไปเท่าไหร่แล้ว เพราะถ้าพูดตัวเลขออกมามันคงน่าตกใจ เรามากันด้วยใจ ไม่ได้มีใครมาบังคับ มันถึงเวลาที่เราต้องเสียสละแล้ว เพราะถ้าวันนี้ยังมีชาติอยู่ ยังมีกษัตริย์ที่เราเทิดทูนอยู่ เราก็ยังอยู่ได้

วิริยา แซ่ล้อ
- มาจากจันทบุรีเลย?
เป็นคนจันทบุรี ความจริงก็มีบ้านอยู่ที่บางโพธิ์ แต่ที่ต้องพักโรงแรมเพราะเราอยากอยู่ติดที่ชุมนุมให้มากๆ พักโรงแรมแถวนี้มันก็ใกล้กว่า สะดวกกว่า กลับไปอาบน้ำแล้วก็กลับมาใหม่ได้ง่าย และก็ได้เจอกับเพื่อนๆ ทุกวัน

- ได้รับหน้าที่เป็นคล้ายๆ กับคอสตูมประจำกลุ่ม เรามีวิธีเลือกเครื่องแต่งกายแต่ละแบบยังไง?
คิดคอนเซ็ปต์จากสถานการณ์ บางครั้งที่มี นปก. มาเราก็ใส่เป็นลายทหารบ้าง ใส่แบบบางระจันบ้าง ตามแต่เหตุการณ์ช่วงนั้นๆ ไป ถ้าช่วงไหนสถานการณ์ปกติเราก็แต่งตัวกันแบบเรียบๆ ธรรมดา ตอนนี้ตู้เสื้อผ้าที่บ้านน่าจะมีเสื้อครบทุกสีแล้ว (หัวเราะ)

พัฒฑิดา โฆษิตเลิศวิทูร
- ออกมาในครั้งนี้ เพราะสาเหตุอะไร?
สำคัญที่สุดคือเพราะเขาหมิ่นในหลวง แล้วเราทนไม่ได้ อีกอย่างคือเรื่องที่เขาจ้องจะแก้รัฐธรรมนูญกัน

- แล้วได้ชวนเพื่อนที่อื่นมาบ้างไหม?
มีนะ ยิ่งเพื่อนบางคนเห็นเราในทีวี ซึ่งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เขาคิด เขาก็ตามกันมา เราเองก็มีไปชวนเพื่อนๆ ให้ลองมาดู มาฟัง ชวนเขามาร้องเพลง มาเต้นด้วยกัน เราก็พยายามจะช่วยเท่าที่เราพอจะช่วยได้ คือชวนให้มวลชนมาร่วมกันเยอะๆ ยิ่งพันธมิตรฯ ที่นครปฐมจะเยอะ ฝากเงินมาช่วยบริจาคก็บ่อย ก็จะมีแค่เพื่อนๆ เราเองเท่านั้นที่พอจะชวนมาได้ แต่ถ้าเป็นแค่คนรู้จัก คนละแวกบ้านเดียวกัน เขาก็จะแค่ฝากเงินบริจาค เพราะเขาไม่กล้าแสดงตัว เราก็เข้าใจนะ มันทำให้เรารู้เลยว่าพวกพลังเงียบยังมีอยู่เยอะมาก

กิดาภา จิตรีเชาวน์
- มาที่นี่ทุกวันไหม?

คือเรายังมีหน้าที่ต้องดูแลร้านอยู่ ร้านจะปิดประมาณ 6 โมงเย็น ปิดร้านเสร็จก็มา มาอยู่จนถึงประมาณ 5 ทุ่มเที่ยงคืนก็กลับ เพราะเรายังต้องตื่นมาดูร้านแต่เช้า นี่ก็ผ่านมา 100 กว่าวันแล้วเราก็มาเกือบๆ จะทุกวัน วันไหนที่ไม่สบายก็ไม่มา เพราะเราเองก็เป็นโรคหัวใจด้วย หมอก็สั่งให้พัก แต่เราไม่พัก ก็ใช้วิธีกินยาเอา และก็นอนพักช่วงกลางวันเอา ถ้าวันไหนที่เราไม่มา เพื่อนๆ ก็จะโทรตามกัน โทรถามไถ่กันตลอด แต่ถ้าเป็น 2 คนนี้จะอึดมาก (วิริยาและพัฒฑิดา) มาประจำกันทุกวัน

- อะไรที่ทำให้ทนไม่ได้ ถึงกับต้องออกมา?
สิ่งที่ทำให้เราลุกฮือขึ้นมาเพราะทนไม่ได้คือการโกงภาษี ขนาดที่บ้านเราเองมีกิจการแค่นี้เรายังจ่ายเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย แต่นี่มันรวยไม่รู้กี่หมื่นล้านแล้วยังโกงอีก พวกเราเวลาเสียภาษีก็ต้องเสียเต็มๆ แต่มันไม่ต้องเสียเลย รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ทำให้เราเจ็บใจ นั่นคือส่วนหนึ่งที่ดึงให้เราออกมา

กัณจนา มาลัยทอง
- เป็นคนกรุงเทพฯ?
ความจริงเราเป็นคนลำปาง แต่ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ

- มาทุกวันหรือเปล่า?
ก็พยายามจะมาให้ได้ทุกวัน แค่วันไหนที่ป่วยก็หยุดพักบ้าง จะมาช่วงบ่าย 3 โมง นั่งฟังไปจนถึงช่วง 3-4 ทุ่มก็กลับ

- แล้วคนในต่างจังหวัดเขามองกันยังไงบ้าง?
ต่างจังหวัดบ้านเราเขาจะไม่ค่อยรู้เรื่อง เราเลยแนะนำว่าให้เอาจาน ASTV ไปติดดู เขาก็ลองดู แล้วก็เริ่มเห็นตามเรา แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี่ไม่ได้เลย คุยกันไม่รู้เรื่อง

- ที่บ้านว่าไหม ที่เราออกมาอย่างนี้?
ตอนนี้เขาไม่อยู่ไปต่างประเทศ แต่เขาก็ไม่เคยต่อต้านอะไร

***************************
เรื่อง - ทีมข่าวปริทรรศน์


กำลังโหลดความคิดเห็น