ผู้จัดการออนไลน์ – “จอน อึ๊งภากรณ์” นำทีมต้อนรับไฟโอลิมปิก นัดชุมนุมประท้วงจีนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวทิเบต ในพิธีวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก ที่บริเวณหน้าสหประชาชาติ เวลา 15.00 น.วันที่ 19 เม.ย.นี้
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ตัวแทนองค์กรร่วมจัดชุมนุมประท้วงรัฐบาลจีนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบตในโอกาสที่มีการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกผ่านประเทศไทย แจ้งว่า องค์กรเครือข่ายผู้ร่วมประท้วงได้นัดหมายชุมนุมเวลา 15.00 น.ที่หน้าสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ด้วยเหตุที่ว่า โอลิมปิก คือ กีฬาแห่งสันติภาพของมนุษยชาติ แต่จีนเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ชนชั้นแรงงาน การปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน การใช้ความรุนแรงปราบปรามฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ไปจนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต และการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการในประเทศซูดาน การชุมนุมครั้งนี้จึงถือเป็นการรวมพลังนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนร่วมกันเรียกร้องความจริงใจจากรัฐบาลจีนในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนประเด็นต่างๆ
ทางด้าน นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ชี้แจงถึงกรณีการจัดชุมนุมดังกล่าว ว่า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเคารพสิทธิการแสดงออกและสิทธิการชุมนุมอย่างสันติ รวมถึงการเคารพกับหลักการโอลิมปิกที่ว่า “เสรีภาพ ความเท่าเทียม และความสมานฉันท์”
พร้อมกันนั้น ยังเรียกร้องให้มีคณะตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าไปตรวจสอบโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนการเจรจาระหว่างรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น และรัฐบาลจีน รวมถึงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยบริษัทผลิตสินค้าโอลิมปิกกับแรงงาน และแสดงความสมานฉันท์กับประชาชนทิเบตที่ได้ถูกสังหาร คุมขัง และทรมานหลังจากออกมาเรียกร้องสันติภาพและสิทธิมนุษยชนในเดือนที่แล้วในทิเบต
การจัดชุมนุมครั้งนี้ นายเมธา ยืนยันว่า ไม่ได้จัดกิจกรรมชุมุนุมประท้วงเพื่อก่อความไม่สงบตามที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่เป็นการชุมนุมอย่างสันติตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญ รวมถึงกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้โลกสนใจประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน โดยจะมีกิจกรรมการอ่านแถลงการณ์ร่วมของเครือข่าย การแจกเอกสารรณรงค์ และละครล้อเลียน ระหว่างที่คบเพลิงวิ่งมาถนนราชดำเนิน เราไม่ได้ขัดขวางการวิ่งคบเพลิงแต่อย่างใด
อนึ่ง องค์กรที่ร่วมจัดชุมนุม ประกอบด้วย เครือข่ายทิเบตเสรี ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (ศยป.) คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กลุ่มสังคมวิจารณ์ จุฬาฯ กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มจัดตั้งชมรมนักสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์