xs
xsm
sm
md
lg

ระทึก! ความสัมพันธ์จีน-อินเดีย หลังกลุ่มโปรทิเบตลั่น สู้เต็มอัตรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประท้วงชาวทิเบต ตะโกนข้อความต่อต้านรัฐบาลจีนระหว่างการชุมนุมในกรุงนิวเดลี อินเดีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา - เอเยนซี
เอเชียน วอลล์สตรีท – นักวิเคราะห์ระบุ วันพฤหัสบดี (17 เม.ย.) ต้องจับตาความสัมพันธ์จีน-อินเดีย หลังกลุ่มชาวทิเบตลั่นประท้วงเต็มอัตรา งัดทุกยุทธวิธีเพื่อเรียกร้องความสนใจ คาดคบเพลิงโอลิมปิกต้องลุ้นหนัก จะผ่านอินเดีย ถิ่นชาวทิเบตพลัดถิ่นได้หรือไม่

ปัจจุบันชาวทิเบตพลัดถิ่นหลายหมื่นคนในอินเดีย ได้ทำการชุมนุมประท้วงจีนด้วยการ อดอาหาร และเดินขบวนประท้วง บ้างก็วางแผนวิ่งคบเพลิงของทิเบต ล้อคบเพลิงโอลิมปิก เพื่อประท้วงการปฏิบัติอย่างรุนแรงต่อชาวทิเบตในจีน ทว่าในวันพฤหัสบดีนี้ ที่คบเพลิงโอลิมปิกจะมาถึงกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย สมาชิกสภาเยาวชนทิเบตบางรายถึงกับวางแผนขโมยคบเพลิงโอลิมปิก หากสามารถฝ่าด่านการรักษาความปลอดภัยอันเข้มงวดของอินเดีย

หลังจากการวิ่งคบเพลิงในอาร์เจนตินา, แทนซาเนีย และ โอมาน ผ่านไปอย่างราบรื่น หลายฝ่ายคาดว่า การวิ่งคบเพลิงที่อินเดียในวันพฤหัสบดี น่าจะประสบกับอุปสรรคมากมาย เนื่องจากอินเดียเป็นที่อยู่ของชาวทิเบตพลัดถิ่นจำนวนมาก นอกจากนี้บริเวณธรรมศาลา ของอินเดีย ยังเป็นที่ตั้งของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น ซึ่งมีองค์ทะไล ลามะเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ

ทั้งนี้การมาถึงของคบเพลิงโอลิมปิกที่อินเดีย จะเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับความสัมพันธ์จีน-อินเดีย

แม้อินเดียจะเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวทิเบตพลัดถิ่นกว่า 140,000 คน แถมชาวอินเดียยังมีความเห็นอกเห็นใจชาวทิเบตมาก ทว่าโดยรวมทัศนะดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจระหว่างจีน-อินเดีย

นักวิเคราะห์ชาวอินเดียชี้ว่า อินเดียไม่ต้องการยั่วยุจีน ซึ่งประเทศอื่นๆก็มีท่าทีต่อจีนไม่ผิดอะไรกับอินเดียเช่นกัน เนื่องจากแต่ละประเทศต่างก็มีผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจที่ผูกพันกับจีน

อย่างไรก็ตามกลุ่มชาวทิเบตจำนวนมากได้เดินทางมาชุมนุมที่นิวเดลี เพื่อปลุกเร้ามติมหาชนให้มองจีนเป็นภัยคุกคาม การกระทำของพวกเขาค่อนข้างประสบความสำเร็จ แม้การปลุกเร้าดังกล่าวจะไม่กระทบความสัมพันธ์ในระดับรัฐ ทว่าภาวะดังกล่าวก็ไม่ใช่ลางบอกเหตุที่ดี

หลังเจ้าหน้าที่จีนเข้าปราบปรามการชุมนุมในเขตปกครองตนเองทิเบตเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ชาวทิเบตพลัดถิ่นในอินเดีย ได้ออกมาชุมนุมประท้วงอย่างคึกคัก ด้วยการใช้วิธีเผชิญหน้ามากขึ้น กลุ่มพันธมิตรชาวทิเบตพลัดถิ่น ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มรณรงค์หลายกลุ่มเข้าด้วยกันภายใต้ชื่อ ขบวนการลุกขึ้นสู้ของประชาชนชาวทิเบต (Tibetan People’s Uprising Movement) เองก็แสดงความไม่พอใจกับสันติวิธีขององค์ทะไล ลามะ นอกจากนี้องค์กรดังกล่าว ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดขบวนเดินทัพทางไกลจากธรรมศาลาไปยังเขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งเริ่มออกเดินทางเมื่อต้นเดือนมี.ค.

สภาเยาวชนทิเบต ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ที่ใหญ่ที่สุด และเป็นหนึ่งในกลุ่มสังกัดขบวนการลุกขึ้นสู้ของประชาชนชาวทิเบต ได้ออกมารณงค์ต่อต้านการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกจีนอย่างเปิดเผย โดยเทนซิน นอร์ซัง ผู้นำของสภาเยาวชนทิเบตในนิวเดลียืนยันว่า ทางกลุ่มมีแผนการขโมยคบเพลิงโอลิมปิก
ชาวทิเบตพลัดถิ่นตะโกนข้อความต่อต้านรัฐบาลจีน หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียจับกุมในกรุงนิวเดลี เมื่อวันอังคาร (15) ทั้งนี้อินเดียได้เพิ่มความเข้มงวดรักษาความปลอดภัยเส้นทางวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก เพื่อต้อนรับการวิ่งคบเพลิงในวันพฤหัสบดี (17) - เอเยนซี
บททดสอบรัฐบาลภารตะ ‘เลือกทิเบตหรือจีน’

หลังจากเหตุประท้วงเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งชาวทิเบตจำนวนมากพยายามบุกเข้าไปยังสถานทูตจีนในกรุงนิวเดลี ด้วยการปีนป่ายกำแพงของสถานทูต กระทั่งปัจจุบันทางการอินเดียต้องเสริมการรักษาความปลอดภัย ด้วยรั้วลวดหนาม และตำรวจปราบจลาจล

ล่าสุดทางกระทรวงมหาดไทยของอินเดียได้ตัดเส้นทางวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกให้สั้นลง รวมทั้งระดมกำลังตำรวจกว่า 15,000 นายเพื่อรักษาความมั่นคง ป้องกันเหตุการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้น จากการชุมนุมประท้วงของชาวทิเบต และกลุ่มรณรงค์ต่างๆ

เอเชียนวอลล์สตรีทชี้ว่า การประท้วงของคนทิเบตรุ่นใหม่ มีตรรกะง่ายๆว่า “การเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นยิ่งมาก ก็ยิ่งดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนและรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านสำคัญของจีน”

อย่างไรก็ตามตรรกะของเยาวชนทิเบตดังกล่าว ได้สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น ที่มีองค์ทะไล ลามะเป็นผู้นำ “การเผชิญหน้าไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หากคุณดื่มน้ำจากแผ่นดินไหน คุณก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายของแผ่นดินนั้น” เทมปา เซอริง ตัวแทนจากสำนักงานขององค์ทะไล ลามะในนิวเดลีกล่าว

ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวซินหัวของจีนได้ประณามสภาเยาวชนทิเบตว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย พร้อมทั้งกล่าวหาว่า ทางกลุ่มดำเนินการตามแผนขององค์ทะไล ลามะ ที่หวังก่อวินาศกรรมโอลิมปิกปักกิ่ง

อินเดียเลือกบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น เอาใจจีน

ที่ผ่านมาทางรัฐบาลอินเดียได้ออกมาชี้แจง เรื่องการจัดการต่อผู้ประท้วง เพื่อลดอุณหภูมิร้อนจากฝ่ายจีน แม้อินเดียจะเป็นแหล่งลี้ภัยของชาวทิเบตจำนวนมากรวมทั้งองค์ทะไล ลามะ ทว่าที่อินเดียก็ยอมรับว่า ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโดยตลอด

สำหรับวิกฤติการณ์เมื่อเดือนมี.ค. รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียเองก็กล่าวว่า กังวลกับสถานการณ์รุนแรงในลาซา และการตายของผู้บริสุทธิ์ ทว่าในถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการ อินเดียได้ย้ำว่า “ชาวทิเบตพลัดถิ่นเป็นแขกของอินเดีย และชาวทิเบตพลัดถิ่นไม่ควรสร้างความเสียหาย ให้กับความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับมิตรประเทศอื่น”

ทั้งนี้ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างจีนอินเดีย กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อ อินเดียมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อปี 2007 จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอินเดียแทนที่สหรัฐฯ นอกจากนี้อินเดียเองยังพยายามหาช่องทางเจรจาเรื่องพรมแดน ที่มีความขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งรวมถึงพรมแดนส่วนหนึ่งระหว่างเขตปกครองตนเองทิเบตกับอินเดีย

รัฐบาลอินเดียพยายามส่งเสริมการเจรจาระหว่างองค์ทะไล ลามะกับรัฐบาลจีน ทว่าการเจรจาลับทั้ง 6 ครั้งระหว่างปี 2002 – 2007 ก็ไม่ได้มีอะไรคืบหน้า เนื่องจากทั้งฝ่ายทิเบตและจีนเอง ต่างมีเงื่อนไขของตนเองที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจยอมรับ

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย, จีน และชาวทิเบต จึงเป็นปัญหาหนักอกสำหรับรัฐบาลอินเดีย ที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับจีน และการปฏิบัติต่อชาวทิเบตพลัดถิ่น ซึ่งถูกชาวโลกและมติมหาชนในอินเดียจับจ้อง ตรวจสอบตลอดเวลา จนกลายเป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบาย เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
กำลังโหลดความคิดเห็น