ปี 2567 คนไทยเตรียมแบกรับค่าไฟอ่วมจากการบริหารที่ผิดพลาดของหน่วยงานรัฐในเรื่องของราคาพลังงานจริงหรือไม่? จนทำให้ค่า Ft สูงเกินจริง และเป็นภาระผูกพันจนถึงวันนี้ โดย กฟผ.มีหนี้สูงถึง 95,777 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ถ้าค่าไฟสูงถึงเกือบยูนิตละ 6 บาท งานนี้รากหญ้าเดือดร้อนหนัก ยอมรับรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ลดค่าไฟได้ง่ายเหลือยูนิตละ 3.99 เนื่องเพราะเอาหนี้ไปพักไว้ในค่า “AF” แต่เมื่อถึงเวลาต้องนำหนี้มารวมกองในบิลค่าไฟให้ทุกคนร่วมจ่ายเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 กันต่อไป
ถึงเวลาที่คนไทยต้องเตรียมรับภาระค่าไฟแพงขึ้นอีกครั้งหนึ่งต้อนรับศักราชใหม่ ช่วง ม.ค.-เม.ย.2567 นี้ หลังจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ประกาศลดค่าไฟเหลือยูนิตละ 3.99 ก็ทำให้เงินในกระเป๋าของคนรากหญ้าพอที่จะมีความคล่องตัวอยู่บ้าง แต่คาดว่ารัฐบาลไม่น่าจะใช้นโยบายลดค่าไฟต่อไปอีก เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงมีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมยังมีหนี้สะสมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) แบกไว้อยู่ถึง 95,777 ล้านบาท และโอกาสที่ประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟยูนิตละต่ำสุดที่ 4.68 ต่อหน่วย หรือจะเป็นหน่วยละ 4.93 หรือสูงถึง 5.95 ก็อยู่ที่การตัดสินใจของบอร์ด กกพ.และกระทรวงพลังงานจะชี้ขาด
โดยนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกมาให้ข้อมูลไว้ว่า จากการสำรวจต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ผูกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ที่จะถึงนี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่าจากมาตรการให้เงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) และเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ยังคงส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 คิดเป็น 18.95 สตางค์ต่อหน่วย หรือรวมเป็น 11,919 ล้านบาท ที่ประชาชนต้องจ่ายรวมในค่าไฟฟ้าด้วย
ในส่วนค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ปัจจุบัน กกพ. อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นประชาชน ระหว่าง 10-24 พ.ย.2566 ซึ่ง กกพ. ได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 3 กรณี ประกอบด้วย
กรณีที่ 1 (จ่ายคืนหนี้ กฟผ.ทั้งหมด) แบ่งเป็นค่า Ft จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย โดยจ่ายหนี้คืน กฟผ.ทั้งหมด 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว ทำให้ค่า Ft รวมเป็น 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวด ม.ค.-เม.ย.2567 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 (จ่ายคืนหนี้ กฟผ.ภายใน 1 ปี) แบ่งเป็นค่า Ft จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายหนี้คืน กฟผ.จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับค่า Ft จะอยู่ที่ 114.93 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวด ม.ค.-เม.ย.2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 (จ่ายคืนหนี้ กฟผ.ภายใน 2 ปี) แบ่งเป็นค่า Ft จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายหนี้ กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละจำนวน 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับค่า Ft จะอยู่ที่ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย
สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 นี้ ได้รวมต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนดังกล่าวไว้แล้ว และเมื่อรับฟังความเห็นประชาชนเสร็จสิ้นแล้วจะเสนอเข้าสู่บอร์ด กกพ.พิจารณา รวมทั้งหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อดำเนินการประกาศค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย.2567 ต่อไป
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ กกพ.มองว่าพลังงานทดแทนที่ถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มทำให้ต้นทุนไฟฟ้าเพิ่มนั้นปรากฏว่าในมุมมองของภาคประชาชนมีความเห็นแย้งกับ กกพ. เพราะมั่นใจว่าค่าเชื้อเพลิงขึ้นไม่น่าจะส่งผลให้ราคาต้นทุนพลังงานทดแทนขึ้น เพราะพลังงานทดแทนส่วนใหญ่ในปัจจุบันคือพลังงานลม แสงอาทิตย์ ไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด และหรือเชื้อเพลิงจากชีวมวล ขยะก็ไม่สามารถนำเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์มาร่วมผลิตไฟฟ้าได้ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า อีกทั้งเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นคือก๊าซธรรมชาติ จึงไม่เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแต่ประการใด
ด้านแหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) บอกว่า การที่ต้นทุนค่าไฟแพง ถ้าย้อนไปดูจะพบต้นเหตุมาจากการบริหารงานผิดพลาดของหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องคือการคำนวณ Gas Pool Price โดยไม่ได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่มีราคาต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบราคาก๊าซจากแหล่งอื่นๆ แต่ต้องใช้ราคา pool ก๊าซหรือราคาผสมจากทุกแหล่ง ทั้งก๊าซที่ออกจากโรงแยกก๊าซ ก๊าซนำเข้าจากประเทศพม่าและก๊าซธรรมชาติ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีการขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสถานีบริการและค่าผ่านท่อที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ยิ่งเมื่อเข้าไปดูโครงสร้างราคา Pool Gas Price ที่มีการนำไปคำนวณค่า Ft จะพบว่าราคาค่า Pool Gas Price สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น เราจะพบมันมีส่วนต่างของราคาจริงๆ”
ขณะเดียวกัน กฟผ.ยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากราคาก๊าซที่สูงขึ้นและค่าซื้อไฟฟ้าที่จะชำระค่าก๊าซให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปแบบค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) ทั้งหมดนี้เมื่อนำมารวมกันเป็นค่าใช้จ่ายที่สะท้อนถึงค่า Ft
“ผลพวงจากก๊าซที่มีราคาแพง ทำให้ค่า Ft สูงเกินจริง จึงเป็นภาระผูกพันมาจนถึงวันนี้ โดยค่า Ft ช่วงปี 2564-2565 มีค่าติดลบมาตลอด”
แหล่งข่าวบอกอีกว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ประกาศลดค่าไฟทำได้ง่าย เพราะมีการนำส่วนต่างไปดองเก็บไว้ในค่า AF ไว้ก่อน จากนั้นจึงประกาศลดค่าไฟเป็น 20.48 สตางค์ต่อหน่วย โดยค่า AF (Accumulate Factor) หมายถึงส่วนต่างระหว่าง ค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริง กับค่า Ft ที่เรียกเก็บสะสมของงวดที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะมีค่าเป็นบวก คือเก็บเงินค่า Ft จริง เกินกว่าค่า Ft เรียกเก็บ หรือมีค่าเป็นลบ คือ เก็บเงินค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่าค่า Ft เรียกเก็บนั่นเอง
“ถ้าจะดองไว้ในค่า AF ต่อไป รัฐบาลคงเห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร แต่การจะปรับเพิ่มค่าไฟ ต้องพิจารณาทางเลือกที่ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ส่วนการที่ กกพ. เห็นตามรัฐบาลเศรษฐาให้ลดค่า Ft ทำให้ดูเสมือนว่า กกพ. ตอบสนองอำนาจรัฐ โดยเลือกเวลาที่เหมาะในช่วงที่เป็น Honey moon period ในช่วง 3 เดือนแรกเท่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าลดค่าไฟได้เหมือนภูเขาน้ำแข็งที่โผล่มาแค่ยอด แต่ใต้น้ำทะเลนั้นยังมีภาระอันหนักใหญ่มหึมา คือ AF ที่รอเรียกเก็บจากประชาชนมาจ่ายจากการบริหารต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ผิดพลาดมาแล้ว”
ที่ผ่านมา กกพ. ได้มีการพิจารณาผลการคำนวณค่า Ft ประจำเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ซึ่ง กฟผ.ได้ดำเนินการตามมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน และข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ส่งผลให้ค่า Ft ขายปลีกประจำเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 เท่ากับ 20.48 สตางค์/หน่วย ลดลงจากรอบที่ผ่านมา 70.71สตางค์ต่อหน่วย
อีกทั้งค่าไฟที่จะปรับสูงขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 กฟผ.เชื่อว่าน่าจะใช้ทางเลือกที่ 3 ที่ค่า Ft จะอยูที่ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ค่าไฟงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย น่าจะเป็นตัวเลขที่ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด
ส่วนบ้านใครจะต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มเท่าไหร่นั้นคงต้องลองจินตนาการด้วยการนำจำนวนยูนิตที่ใช้คูณด้วยค่าไฟต่อยูนิต บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม บวกค่าบริการ ก็จะเห็นตัวเลขที่ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มในปี 2567 กันแล้ว รวมไปถึงธุรกิจต่างๆ คงต้องเตรียมรับมือเช่นกัน!
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j