xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 6 จุดอ่อนกติกาหาเสียงเลือกตั้ง นักวิชาการเตือน กกต.อย่าซ้ำรอยปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.สมชัย” ระบุหลักเกณฑ์การหาเสียงเลือกตั้งยังมีจุดอ่อนหลายประการ แนะ กกต.เร่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยันต้องนำป้ายหาเสียงที่ติดก่อน 24 ก.ย.มาคำนวณค่าใช้จ่าย ส่วนจำนวนป้ายที่ให้ยึดตามระเบียบปี 62 ไม่สามารถทำได้ เหตุจำนวนหน่วยเลือกตั้งแต่ละครั้งไม่เท่ากัน แย้งข้อกำหนดเรื่องป้าย A3 สร้างให้หน่วยราชการ จี้ กกต.กำหนดบทลงโทษให้ชัดเจน ด้าน “รศ.ดร.พิชาย” เชื่อพรรครัฐบาลได้เปรียบ เพราะลงพื้นที่แจกของได้ ชี้เลือกตั้งปี 62 กกต.ผิดพลาด 2 เรื่องใหญ่

ขณะที่ปี่กลองการเลือกตั้งเริ่มบรรเลง พรรคการเมืองพากันลงพื้นที่หาเสียงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมเยียนประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม หรือร่วมงานบุญประเพณี ขณะที่ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดในการหาเสียงเลือกตั้งเริ่มมีมากขึ้น ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงได้แจ้งถึงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเกณฑ์การหาเสียงช่วง 180 วันก่อนสภาครบวาระ ต่อผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทั่วประเทศผ่านระบบ ZOOM เพื่อให้ กกต.จังหวัดสามารถดูแลการหาเสียงเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบ และชี้แจงข้อข้องใจแก่พรรคการเมืองต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

ส่วนว่าข้อกำหนดดังกล่าวจะช่วยลดข้อขัดแย้งในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด และจะก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลหรือไม่นั้น ยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามอง

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.
รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กล่าวว่า จากที่ได้ดูหลักเกณฑ์การหาเสียงเลือกตั้งที่ กกต.ระบุนั้น ตนมีข้อแนะนำและท้วงติงอยู่ 6 ประการ คือ

1) เอกสารดังกล่าวยังเป็นเพียงเอกสารภายในของสำนักกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งใช้เป็นแนวทางปฏิบัติภายในของ กกต.เพื่อใช้ในการพิจารณาหากมีการยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามา ซึ่งหาก กกต.ต้องการให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

2) แนวทางปฏิบัติเกี่ยวเกณฑ์การหาเสียงดังกล่าวยังไม่รอบคอบ ยังมีจุดอ่อน เช่น กรณีที่พรรคการเมืองบางพรรคได้มีการติดป้ายหาเสียงก่อนวันที่ 24 ก.ย. ซึ่งแนวทางปฏิบัติของ กกต.บอกว่าไม่ต้องเอาป้ายดังกล่าวลง แต่ต้องมีการแก้ไขขนาดของป้ายและสถานที่ติดตั้งป้ายให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกต.กำหนด แต่ กกต.ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าในส่วนของป้ายที่ผลิตหรือติดตั้งก่อนวันที่ 24 ก.ย.2565 จะต้องนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย เนื่องจากหากมีผู้สมัครบางคนติดตั้งป้ายหาเสียงจำนวนมากก่อนวันที่ 24 ก.ย. แต่ไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง บางคนรู้ก่อนว่าหลังวันที่ 24 ก.ย.จะทำโน่นทำนี่ไม่ได้ ก็ทำก่อนเลย ดังนั้น กกต.ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าต้องเป็นไปตามระเบียบ ทั้งขนาด จำนวน และสถานที่ติดตั้งป้าย ซึ่งทั้งหมดต้องคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียง

“แนวทางที่เขียนไว้ระบุแค่ขนาด จำนวน สถานที่ แต่ไม่พูดถึงค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นจุดอ่อนประการหนึ่งของประกาศ กกต.” รศ.สมชัย ระบุ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง
3) ข้อกำหนดเรื่องจำนวนป้ายหาเสียง ซึ่ง กกต.ระบุว่าให้ยึดตามระเบียบการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ปี 2562) ซึ่งออกเมื่อปี 2561 ที่กำหนดว่าผู้สมัครสามารถติดป้ายหาเสียงได้ไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนลงสมัครนั้นถือเป็นระเบียบที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ เนื่องจากจำนวนหน่วยเลือกตั้งในปี 2562 กับปี 2566 นั้นไม่เท่ากัน โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีจำนวนเขตเลือกตั้ง 350 เขต แต่ปัจจุบันมีเขตเลือกตั้ง 400 เขต เมื่อจำนวนเขตเลือกตั้งเปลี่ยนไป จำนวนหน่วยเลือกตั้งก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้ กกต.ยังไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะมีแนวทางปฏิบัติในขณะที่จำนวนหน่วยเลือกตั้งยังไม่ชัดเจนอย่างไร

ยกตัวอย่าง จ.สมุทรสาคร ในการเลือกตั้งปี 2562 มี 3 เขตเลือกตั้ง เขตที่ 1 อาจจะมีหน่วยเลือกตั้ง 160 หน่วย เขตที่ 2 อาจมี 170 หน่วย เขตที่ 3 อาจมี 230 หน่วย แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า จ.สมุทรสาคร เปลี่ยนเป็น 4 เขตเลือกตั้ง จึงไม่รู้ว่าจะกำหนดจำนวนหน่วยเลือกตั้งอย่างไร จำนวนป้ายหาเสียงควรเป็นเท่าไร

4) หลักเกณฑ์การติดป้ายหาเสียงเลือกตั้งขนาดเล็ก คือ ขนาด 3A ซึ่งติดได้ 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.กำหนดให้หน่วยราชการต้องเตรียมสถานที่รองรับนั้น เป็นสิ่งที่เปล่าระโยชน์ และเป็นภาระต่อหน่วยราชการ เพราะจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพบว่าเป็นป้ายที่ไม่เกิดประโยชน์ในการหาเสียง นอกจากขนาดป้ายหาเสียงจะเล็กเกินกว่าจะทำให้ผู้คนสนใจแล้ว บอร์ดที่ติดป้ายหาเสียงซึ่งอยู่ภายในหน่วยงานราชการยังอยู่ในจุดที่ผู้คนพบเห็นน้อย พรรคการเมืองต่างๆจึงไม่นำป้ายหาเสียงมาติด ขณะที่หน่วยราชการต่างๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการจัดทำบอร์ดเพื่อติดป้ายหาเสียงเป็นเงินหลายพันบาท แต่ข้อกำหนดในการหาเสียงเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง กกต.ยังมีหลักเกณฑ์เรื่องนี้อยู่ แสดงว่าไม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต

การลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนและแจกข้าวของให้ผู้ประสบภัยของเหล่ารัฐมนตรี เป็นจุดหนึ่งที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง
5) กกต.ไม่ได้ระบุบทลงโทษที่ชัดเจนว่าใครที่ทำผิดระเบียบเรื่องไหน จะมีโทษอย่างไร แม้ปัจจุบันจะมีการกำหนดเรื่องบทลงโทษอยู่ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง แต่ต้องนำมาเชื่อมโยงกับการกระทำของผู้สมัคร ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่ผู้สมัครจะศึกษาเอง ดังนั้น กกต.ควรระบุรายละเอียดเรื่องบทลงโทษในกรณีต่างๆ ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่เกิดข้อถกเถียงในกรณีที่มีการกระทำผิด เช่น ถ้าทำผิดระเบียบในการติดป้ายหาเสียงจะหมดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือถ้าหลังการเลือกตั้ง 90 วัน ผู้สมัครรายงานค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งเป็นเท็จ จะมีความผิดทางอาญา มีโทษจำคุก โทษปรับ ได้ใบเหลืองหรือใบแดง และต้องชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้ง

6) กกต.ควรมีช่องทางการติดต่อที่เพื่อให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัครที่สงสัยในระเบียบปฏิบัติต่างๆ สามารถสอบถามและได้รับคำตอบอย่างรวดเร็ว เช่น โทรศัพท์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตอบคำถามทันที หรือถ้าตอบไม่ได้ก็รับเรื่องไว้ และตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง จากปัจจุบันที่ กกต.กำหนดให้พรรคการเมืองทำเป็นหนังสือ โดย กกต.จะตอบคำถามภายในกรอบ 30 วัน ซึ่งถือว่าล่าช้ามาก ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็น

ส่วนที่หลายฝ่ายวิตกว่ากฎเกณฑ์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งของ กกต.จะทำให้พรรคใดได้เปรียบ หรือเสียเปรียบหรือไม่นั้น รศ.สมชัย มองว่า หลักเกณฑ์การหาเสียงเลือกตั้งที่ กกต.ออกมานั้นถือว่ามีระเบียบปฏิบัติที่ดีขึ้น มีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กรอบกติกาและมีความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะรัฐมนตรีและหน่วยราชการที่จะต้องวางตัวเป็นกลาง หลายคนมองว่าพรรครัฐบาลดูจะได้เปรียบเพราะรัฐมนตรีสามารถไปแจกข้าวของให้ผู้ประสบภัยได้ แต่พรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลไม่สามารถทำได้นั้น ทางแก้คือ ส.ส. หรือผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่นๆ ควรเข้าไปร่วมแจกสิ่งของกับรัฐมนตรีด้วย เพราะว่าสิ่งของที่นำมาแจกนั้นไม่ได้มาจากเงินของพรรคการเมืองที่รัฐมนตรีคนนั้นๆ สังกัด แต่มาจากเงินภาษีของประชาชน

“ถ้าวันไหนรัฐมนตรี หรือฝ่ายรัฐบาลไปแจกของให้ชาวบ้าน ส.ส.พรรคอื่นก็ไปร่วมในพิธี ไปช่วยแจกเลย มีสิทธิเท่าเทียมกัน เพราะว่าสิ่งของที่เอามาแจกเป็นของราชการ ถ้าเขาจะไม่ยอม เขาจะไล่ออกจากงานก็ให้รู้กันไป” รศ.สมชัย กล่าว

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกสาขาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ด้าน รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกสาขาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แสดงความเห็นว่า โดยภาพรวม กกต.พยายามทำให้เกิดความเป็นธรรม แต่แน่นอนว่าในแง่ของการปฏิบัติจริง พรรคที่มีอำนาจรัฐอาจจะได้เปรียบอยู่บ้างในแง่ที่สามารถลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนประชาชนในฐานะรัฐมนตรี ซึ่งอาจแอบแฝงการหาเสียงได้บ้าง เพราะโครงสร้างการเมืองไทยนั้นรัฐมนตรีจะต้องไปเปิดงานนั้นงานนี้ ไปเยี่ยมและแจกข้าวของเพื่อเยียวยาชาวบ้านที่ประสบภัย ซึ่งจะส่งผลให้ได้ใจประชาชนมากกว่า ส.ส.ทั่วไป ฝ่ายค้าน และผู้สมัครซึ่งได้เพียงไปให้กำลังใจประชาชน แต่แจกข้าวของเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านไม่ได้

นอกจากนั้น พรรคที่ได้เป็นรัฐมนตรีจะได้เปรียบในแง่ของการทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์นโยบาย หรือผลงานของ
กระทรวงที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งแม้จะไม่ได้ระบุชื่อพรรคที่สังกัด แต่ประชาชนรู้อยู่แล้วว่าอยู่พรรคไหน อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบได้


ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลต่อการทำหน้าที่ของ กกต.ว่าอาจถูกวิจารณ์ถึงความเที่ยงธรรมเช่นเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นั้น รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นั้น กกต.มีความผิดพลาดใหญ่ๆ อยู่ 2 เรื่อง คือ

1) เรื่องมาตรฐานในการตีความต่างๆ ของ กกต.และการพิจารณาให้ใบเหลืองใบแดง ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อผู้สมัครถูกยื่นฟ้อง ศาลก็มีมติยกฟ้อง ทั้งนี้ แม้ผู้สมัครจะไม่มีความผิดแต่ต้องเสียโอกาสในการลงเลือกตั้ง

2) เรื่องวิธีการคำนวณคะแนนเลือกตั้งของ กกต.ซึ่งทำให้เกิดพรรคปัดเศษขึ้นมากมาย และเป็นการเอื้อให้กลุ่มที่กุมอำนาจรัฐ ทำให้พรรคอื่นๆ ได้สัดส่วนจำนวนที่นั่งลดลง และเกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะใช้ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนานซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาบัญหาลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม จุดที่ต้องระวังคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งแม้ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมี 100 ที่นั่ง ก็ยังไม่รู้ว่า กกต.จะใช้สูตรคำนวณแบบไหน ซึ่งโดยปกติ กกต.จะต้องประกาศให้ชัดเจนก่อนการเลือกตั้งว่าสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส.จะเป็นแบบไหน

“การเลือกตั้งครั้งที่แล้วบรรดานักวิชาการส่วนใหญ่ต่างมีวิธีคิดในการคำนวณการเลือกตั้งและจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบที่เป็นมาตรฐานทั่วไป แต่ กกต.คิดคำนวณแบบค่อนข้างพิสดารก็เลยทำให้มีปัญหาอยู่ไม่น้อย อีกทั้งสูตรการคำนวณเพิ่งออกมาให้เห็นหลังการเลือกตั้ง ตอนแรกไม่มีใครรู้ว่า กกต.จะใช้สูตรพิสดารแบบนั้น แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่รู้ว่า กกต.จะใช้วิธีการปัดเศษอีกหรือเปล่า อย่างไรก็ดี หากประชาชนรู้สึกว่าการทำหน้าที่ของ กกต.มีความไม่ชอบมาพากล แต่ถ้าไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาพรวม ประชาชนคงไม่สนใจมากนัก แต่ถ้าผลมันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาพรวมมากๆ อาจจะมีปัญหาได้ กกต.จึงต้องระมัดระวัง” รศ.ดร.พิชาย ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น