กกต. แจง กมธ.กิจการสภาฯ ยันกฎเหล็ก 180 วัน หากทำผิดก่อนยุบสภาก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในอนาคต มองหรีดดอกไม้สดเป็นการคารวะศพ ได้บุญมากกว่าหรีดพัดลม
วันนี้ (28 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานกมธ.ฯ เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระการประชุมเพื่อหารือรายละเอียดของแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งของส.ส.ในช่วงระยะเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ทั้งนี้ ได้มีการเชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย กกต. มอบหมายให้ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขากกต. มาเป็นผู้ชี้แจง และมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมรับฟัง
ทั้งนี้นายอนันต์ ได้แจ้งว่า กมธ.ฯจะขอแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มที่จะต้องให้กกต.ชี้แจง คือ 1.ผู้ที่ประสงค์ลงรับสมัครรับเลือกตั้งส.ส. 2.รัฐมนตรีและข้าราชการการเมือง 3.ข้าราชการทั้งระบบ และ 4.ส.ส.และกมธ.ที่ต้องลงไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มจะสามารถปฏิบัติได้แค่ไหน ทางกกต.ชี้แจงว่า ในช่วงเวลา 180 วัน ยังคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งหาเสียงตามกฎเกณฑ์เดิม โดยสามารถโฆษณาหาเสียง ใช้แผ่นป้ายตามระเบียบ และดำเนินชีวิตตามปกติในการร่วมงานประเพณีต่างๆ ได้ เช่น ร่วมงานศพ สามารถวางพวงหรีดได้ แต่ไม่สามารถวางพัดลม ผ้าห่ม หรือของใช้ต่างๆ ได้ เพราะถือว่าเป็นสิ่งของ ซึ่งสิ่งใดที่สุ่มเสี่ยง ก็ไม่ควรทำและไม่ควรใช้ความได้เปรียบในการหาเสียง
อย่างไรก็ตามสมาชิกได้ซักถามในหลายประเด็น อาทิ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… และพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ… ที่มีข้อสงสัยว่า การคิดคำนวณค่าใช้จ่ายตามระเบียบของกกต. ได้ยึดตามวันครบอายุสภาฯ ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 แต่หากมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อน จะต้องเริ่มต้นคิดคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างไร และในช่วงเวลานี้ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นปัญหาต่อการคำนวณค่าใช้จ่ายหรือไม่ รวมถึงเอกสารชี้แจงรายละเอียดของกกต. ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า แม้จะมีรายละเอียดครบถ้วนจริง แต่ไม่มีการลงนามรับรองตามกฎหมายจึงไม่มั่นใจว่า จะสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้จริงหรือไม่
โดย ร.ต.อ.ชนินทร์ ชี้แจงว่า หากทำผิดก่อนช่วงครบวาระ แล้วต่อมามีการยุบสภา ที่เป็นความเห็นทางกฎหมายฐานความผิดในขณะที่กระทำมีกรอบอยู่กรอบหนึ่ง และเมื่อกรอบเดิมยกเลิกก็มาเริ่มกรอบใหม่ ซึ่งต้องมีการหารือกันอีกหลายรอบ แต่ถ้าท่านทำผิดต้องรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะที่น.ส.นภาพร เพ็ชรจินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ในฐานะโฆษกกมธ. ได้สอบถามถึงการไปร่วมงานศพ สามารถให้พวงหรีดได้หรือไม่ และหากเป็นพวกผ้าและพัดลมทำไมไม่สามารถมอบให้ได้ นอกจากนี้การหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย กกต.จะมีวิธีการคิดค่าใช้จ่ายอย่างไร
ร.ต.อ.ชนินทร์ ชี้แจงว่า หากไปร่วมงานศพสามารถให้พวงหรีดที่เป็นดอกไม้สดได้ เนื่องจากกกต.มองว่าเป็นการคารวะศพ แต่อย่างอื่นมองว่าเป็นสิ่งของ ซึ่งการให้พวงหรีดที่เป็นดอกไม้สดจะได้บุญมากกว่า ทั้งนี้ สำหรับการหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ถ้ามีค่าใช้จ่ายก็ให้นำมาคิด หรืออย่างกรณีที่มีแฟนคลับมาช่วยหาเสียงในโซเชียลหากเกิน 10,000 บาท ก็ให้นำมาแจ้งกับพรรคการเมืองเพื่อคิดเป็นค่าใช้จ่าย ส่วนวิธีการตรวจสอบนั้น หากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ทางกกต.ก็จะต้องพิสูจน์ความผิดนั้น สำหรับข้อความที่จะเขียนในป้ายหาเสียงที่สามารถเขียนได้จะเป็นการเขียนชื่อผู้สมัคร เบอร์โทรศัพท์ นโยบายพรรค สโลแกน และให้พึงระวังเรื่องการใช้ร้ายป้ายสีบุคคลอื่น