xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มไล่ประยุทธ์เตรียม “คาร์ม็อบ” ทั่วประเทศ เฉพาะมอเตอร์ไซค์วินใน กทม.มีไม่ต่ำกว่า 3 แสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา “คาร์ม็อบ” 77 จังหวัดทั่วประเทศ ระดมพลทุกสาขาอาชีพที่เดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 ทั้งรถเก๋ง แท็กซี่ รถบรรทุก ไรเดอร์ มอเตอร์ไซค์วิน ไปจนถึงรถไถของชาวไร่ชาวนา “กูรูการเมือง” ชี้ มอเตอร์ไซค์ คือหน่วยจรยุทธ์ชั้นเยี่ยม เตือนรัฐบาลอย่าประมาท หากเคลื่อนเข้ากรุงเทพฯ จะถูกปิดล้อมทุกทิศทาง ด้าน “ผศ.วันวิชิต” ชี้มวลชนจะเข้าร่วมมหาศาล หากม็อบไม่แตะ “สถาบัน” เชื่อ “บิ๊กตู่” ไม่ยุบสภา-ลาออก ยื้อถึงเลือกตั้งใหม่ ฟันธง คะแนน “พลังประชารัฐ” ดิ่งเหว

การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน 15 องค์กร ซึ่งมีผู้ออกมาร่วมชุมนุมอย่างล้นหลามเพื่อกดดันให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี" ลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงการเคลื่อนขบวนของกลุ่มคาร์ม็อบซึ่งผุดขึ้นพร้อมกันในพื้นที่ 10 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน ตะวันออก และตะวันตก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลนั้น นับเป็นกลยุทธ์ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง ขณะที่หลายฝ่ายกำลังประเมินว่าการขับเคลื่อนครั้งนี้จะมีพลังมากพอที่จะสั่นคลอนรัฐนาวาภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ เพียงไร

นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แสดงความเห็นว่า การเกิดคาร์ม็อบในการชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมานั้นถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นการนับหนึ่งในสร้างแนวร่วมคาร์ม็อบในต่างจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดต่างมีรถที่เข้าร่วมจำนวนไม่น้อย เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีรถเข้าร่วมถึง 300-400 คัน ขณะที่ผู้ชุมนุมจาก 15 กลุ่มที่ร่วมไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีจำนวนกว่า 12,000 คน และล่าสุด ทราบว่าตอนนี้กลุ่มคาร์ม็อบตั้งเป้าหมายว่าจะจัดคาร์ม็อบทั่วประเทศ โดยการระดมรถทุกชนิดเข้าร่วม ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล แท็กซี่ สามล้อเครื่อง รถสิบล้อ รถมอเตอร์ไซค์ทั้งส่วนบุคคล มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มอเตอร์ไซค์ส่งของหรือไรเดอร์ต่างๆ ไปจนถึงรถไถของชาวไร่ชาวนา

ซึ่งเชื่อว่าจำนวนคาร์ม็อบจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระแสความไม่พอใจของคนทั้งประเทศที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อชีวิตและการทำมาหากินของประชาชนทุกสาขาอาชีพ ผู้คนลำบากทุกย่อมหญ้า มีการฆ่าตัวตายรายวัน คนหมดทางออก โรงพยาบาลไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่ม แพทย์-พยาบาลทยอยลาออก ขณะที่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้อย่างที่เคยประกาศไว้ ช่วงปีกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลจัดหาวัคซีนได้เพียง 14 ล้านโดสเท่านั้น ภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ นั้นต้องการจัดหาวัคซีนเองแต่รัฐบาลก็ไม่อนุมัติ สถานะตอนนี้คือไทยไม่มีวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้าที่ระบุว่าจะส่งมอบ 61 ล้านโดส ก็เลื่อนไปเป็น พ.ค.ปีหน้า ส่วนวัคซีนที่จะจัดซื้อใหม่จะเข้ามาในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งเร็วสุดคือเดือน ต.ค.2564 และไม่รู้ว่าช่วง 2 เดือนกว่านี้จะมีคนป่วยคนตายเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ ดังนั้นเชื่อว่ากระแสความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

“เขาตั้งเป้ามีคาร์ม็อบ 77 จังหวัด แต่ผมว่าแค่ 25 จังหวัดก็สะเทือนแล้ว อย่างแกนนำคาร์ม็อบขอนแก่นประกาศว่าเตรียมจะจัดคาร์ม็อบครั้งใหญ่ที่สุด จะให้มีรถอีโก้งหรือรถไถที่ชาวนาชาวไร่ใช้กันในต่างจังหวัดเคลื่อนเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกันทุกทิศทางเพื่อปิดล้อมเลย ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ประมาทไม่ได้เพราะเมื่อขบวนรถเคลื่อนเข้ามาแล้วกำลังตำรวจ ทหารที่จะเข้าไปสกัดกั้นจะถูกรถขวางไว้หมด เคลื่อนไม่ได้เลย และม็อบจะเคลื่อนไปที่ตัวบุคคลด้วย ซึ่งจะทำให้คนที่เป็นเป้าหมายหนียาก อันตรายมาก ที่สำคัญคาร์ม็อบมีทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมอเตอร์ไซค์เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว จะเข้าตรอกซอกซอยตรงไหนก็ได้ เจ้าหน้าที่จะไปกั้นไปขวางก็ลำบาก อย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้างตอนนี้ก็หากินไม่ได้ ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ 3 แสนกว่าคันนะ ดังนั้น เชื่อว่าการชุมนุมในสัปดาห์ถัดไปคงจะได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นแน่นอน” นายไพศาล กล่าว

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำสถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อย่างไรก็ดี ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำสถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ว่า ลำพังการเคลื่อนไหวของม็อบคงไม่สามารถกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่งได้ เป็นแค่การทดสอบกำลังและสะสมความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลเท่านั้น ที่สำคัญประเด็นการเคลื่อนไหวต้องมีความชัดเจน โดยพุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แต่ถ้ายังคงเนื้อหทที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน เช่น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องล่าสุด ที่ต้องการให้ปรับลดงบประมาณของสถาบัน จะทำให้ไม่สามารถดึงมวลชนแนวร่วมที่เบื่อหน่าย พล.อ.ประยุทธ์ ให้ออกมาร่วมชุมนุมได้ ทั้งที่จะเห็นได้ว่าตอนนี้ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ลดลงไปอย่างมาก กลุ่มอนุรักษนิยมที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็นิ่งเฉย ไม่ออกมาปกป้องเหมือนเมื่อก่อน

“ตอนนี้แม้ม็อบจะมีการเปลี่ยนชื่อ และแตกการเคลื่อนไหวออกเป็น 15 กลุ่ม ก็ไม่โดดเด่นเหมือนครั้งที่รุ้ง-ปนัสยา หรือเพนกวิน-พริษฐ์ เป็นแกนนำ พลังของม็อบตอนนี้ยังไม่มากพอทีจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จนกว่าจะมีคนหน้าใหม่ๆ ซึ่งเป็นคนได้รับความเดือดร้อนจริงๆโดยไม่อิงแอบหรือมีภาพของการเคลื่อนไหวทางการเมืองออกมาร่วมชุมนุม ซึ่งโอกาสที่คนสะสมความไม่พอใจและจะออกมาร่วมมันมี แต่การที่ม็อบไปแตะสถาบัน ทำให้พลังของม็อบถูกลดทอนความชอบธรรมไปพอสมควร แทนที่จะไปได้ไกลกว่านี้ จะเห็นได้ว่าแม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 แต่คนก็ไม่กลัวที่จะออกมาร่วม แม้จะมีกฎหมายห้ามชุมนุม คนก็ไม่กลัวที่จะถูกดำเนินคดี ดังนั้น ทางเดียวที่ม็อบไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จะระดมพลได้มากกว่านี้คืออย่าแตะสถาบัน” ผศ.วันวิชิต กล่าว


ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ นายไพศาล ที่มองว่า อุปสรรคของม็อบไล่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ที่ประเด็นข้อเรียกร้อง ซึ่งหากม็อบยังชูประเด็นที่กระทบสถาบัน คนส่วนใหญ่จะไม่เข้าร่วมด้วยแม้จะต้องการไล่ พล.อ.ประยุทธ์เหมือนกันก็ตาม

“ถ้าแกนนำไล่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่แตะสถาบันเชื่อว่าจะมีผู้คนออกมามหาศาล โดยเฉพาะคนที่เดือดร้อนในการทำมาหากิน ซึ่งตอนนี้มีอยู่มากมาย” นายไพศาล กล่าว

ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนักคือ ขณะนี้สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในขั้นวิกฤต แนวร่วมที่เคยสนับสนุนต่างถอยออกมาอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือชนชั้นนำในสังคมที่เคยแก้ต่างให้ พ.อ.ประยุทธ์ ต่างก็อิดหนาระอาใจกับความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาล นักธุรกิจและเซเลบริตีต่างออกมาคอลเอาต์ ตำหนิการแก้ปัญหาของรัฐบาลอย่างไม่มีความเกรงใจ และแม้ไอโอของรัฐบาลจะออกมาโต้ตอบเพื่อชิงคะแนนนิยมคืนก็จะถูกฟาดกลับ โดยต้นตอปัญหาถูกพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งหมด ดังนั้น ในรอบที่วัคซีนต้านโควิด-19 จะเข้ามาในไตรมาส 4 ของปีนี้ คือตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 หากการแก้ปัญหาของรัฐบาลยังไม่ดีขึ้น จะเป็นการเริ่มนับถอยหลังของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างแท้จริง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ปัจจุบันกระบวนการรัฐสภา โดยเฉพาะ พรรคพลังประชารัฐ และวุฒิสภามีปัญหาในการรับฟังเสียงของประชาชน และไม่เข้าใจว่าตัวเองคือปัญหาทางการเมือง ดังนั้น เชื่อว่าสิ่งที่จะกดดันรัฐบาลได้มากที่สุดก็คือพลังบนท้องถนนที่ออกมาเองโดยมิได้นัดหมาย ตรงนี้จะชี้ขาดว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขาดความชอบธรรม อีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง นอกจากพลังภาคประชาชนก็คือกลไกของราชการ ซึ่งย้อนไปในสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะเห็นว่า ข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ วงการศาล รวมถึงราชการหลากหลายกลุ่มต่างออกมายืนเคียงข้างประชาชนในการชุมนุมประท้วง ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นภาพนั้น บุคลากรทางแพทย์ที่ออกมาเคลื่อนไหวยังมีแต่หมอรุ่นใหม่ ยังไม่เห็นระดับอาจารย์หมอ หรือบุคคลที่มีบารมีในวงการแพทย์ออกมาโจมตีขั้นแตกหักหรือขับไล่รัฐบาลแต่อย่างใด

“เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามรักษาตำแหน่งให้นานที่สุด ไม่ยุบสภา หรือลาออก เพื่อให้เห็นว่าไม่มีตัวเลือกใหม่ๆ นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ และรอเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่เมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าสงครามสั่งสอนจากประชาชนจะเกิดขึ้นทันที คะแนนของพลังประชารัฐจะลดน้อยถอยลง แม้แต่การตั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เพื่อดูด ส.ส. ที่หน่วยก้านดีให้มาร่วมทำงานกับพลังประชารัฐ ก็จะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนเหล่านี้จะคิดหนักว่าจะไปหาเสียงกับประชาชนอย่างไร จะเปลี่ยนใจให้ญาติพี่น้องของผู้ติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากโควิด-19 ให้มาเลือกตนเองได้อย่างไร ซึ่งกว่าจะถึงวันเลือกตั้งตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะไปถึงครึ่งล้านแล้วก็ได้ อย่างนี้ใครจะกล้าเลือกพลังประชารัฐ หรือเชียร์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ” ผศ.วันวิชิต ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น