xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตนี้เราจะมีทางรอดไหม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



สถานการณ์การติดเชื้อโควิดในอาเซียนนั้นล้วนแล้วแต่หนักหนาไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่คนในประเทศของเขาก็เริ่มตั้งถามแล้วออกมาขับไล่ผู้นำของเขาเช่นเดียวกัน

ในมาเลเซียนั้นพรรคอัมโนประกาศถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลทำให้รัฐบาลกลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนฯ เพราะความล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่มีผู้ติดเชื้อสูงมาก และมีประชาชนรณรงค์ติดธงดำเพื่อขับไล่รัฐบาล ในขณะที่ฟิลิปปินส์ มีการส่งเสียงขับไล่ประธานาธิบดีดูเตอร์เต มีการติดแฮชแท็ก @DuterteResign

ในขณะที่อินโดนีเซียมีการติดเชื้อที่สูงถึง 223 คนต่อประชากร 1 แสนคนมากที่สุดในภูมิภาคและระบบสาธารณสุขกำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างหนัก แต่นักวิเคราะห์บอกว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ประชาชนยังเชื่อมั่นรัฐบาลอยู่

ตอนนี้มาเลเซียติดเชื้อไปแล้วใกล้จะ 9 แสนคน มียอดติดเชื้อในแต่ละวันใกล้เคียงกับบ้านเราคือ 9,000-10,000 รายต่อวัน มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 6,000 คน ฟิลิปปินส์ติดเชื้อไปแล้วใกล้จะ 1,500,000 คน ติดเชื้อวันละ 4,000-5,000 คน เสียชีวิตไปแล้วกว่า 26,000 คน ส่วนอินโดนีเซีย ติดเชื้อไปแล้วกว่า 2,600,000 คน ติดเชื้อเพิ่มวันละ 40,000 คน มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 68,000 คน ทุกประเทศที่กล่าวถึงล้วนแต่ประสบปัญหาเกี่ยวกับเตียงที่จะรองรับคนป่วย และขาดแคลนเครื่องมือในการรักษาดูแลผู้ป่วยหนัก

เมื่อดูตัวเลขเพื่อนบ้านเหล่านั้นพบว่าสถานการณ์ของเขาหนักหน่วงกว่าบ้านเรามาก

ส่วนการติดเชื้อวันละใกล้หมื่นคนของบ้านเรา รวมทั้งยอดผู้เสียชีวิตที่สูง รวมทั้งคนติดเชื้อที่รอคอยเตียงจำนวนมากที่ยังไม่เข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที กำลังถูกตั้งคำถามถึงระบบสาธารณสุขของบ้านเราว่ายังรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดได้หรือไม่

แม้ว่ารัฐบาลจะหาทางออกในการแก้ปัญหาเตียงเต็มในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลด้วยการให้คนติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา แต่กลับกลายเป็นว่า การแพร่ระบาดยิ่งสูงขึ้นในต่างจังหวัดจนหลายจังหวัดก็ยากจะรับมือได้เช่นเดียวกัน

และแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์ 14 วันเพื่อหาทางกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ลดลง แต่ดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ละวันก็ยังนับว่าสูงมาก ขณะที่ผู้ติดเชื้อหลายคนยังไม่ถูกนับเข้าระบบ เพราะไม่มีเตียงเพียงพอต้องนอนรอเตียงอยู่ที่บ้านหรือไปกางเต็นท์นอนรออยู่หน้าโรงพยาบาลก็มี

ไม่กี่วันก่อนผมประสานเตียงให้กับครอบครัวของเพื่อนที่ติดเชื้อทั้งครอบครัวก็พบถึงความลำบากในการหาเตียง แม้ว่าผมจะเข้าถึงผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ตาม และแม้ว่าได้เตียงแล้วก็ยังต้องรอคอยกับการจัดรถไปรับตัวซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะมีผู้ติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑลวันละเกือบ 5,000 คน การวิ่งรถไปยังจุดต่างๆ เพื่อรับคนป่วยจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย

ยิ่งรัฐบาลจะอนุมัติให้ใช้การตรวจแบบแรพิด แอนติเจน เทสต์ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยได้เร็วขึ้นซึ่งมีผลดีที่ทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถรู้ผลได้เร็ว ก็มีคำถามเหมือนกันว่า หากตรวจด้วยวิธีนี้แล้วจะทำอย่างไรให้สามารถเข้าสู่การรักษาได้รวดเร็วและทันท่วงที หรือการเปิดให้ใช้วิธี Home Isolation เพื่อแก้ปัญหาเตียงในโรงพยาบาลจะมีบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอหรือไม่ที่จะดูแลผู้ป่วยแม้จะกักตัวเพื่อรักษาตัวเองอยู่ตามบ้านก็ตาม

คงต้องรอดูว่าหลัง 14 วันของการล็อกดาวน์ไปแล้วจะสามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ลดลงได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้หรือมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นก็น่าคิดว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการอะไรที่เข้มข้นกว่านี้ เพราะแค่มาตรการที่ไม่ได้เคร่งครัดนักก็ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน บางคนถึงกับมีความคิดว่า ระหว่างอดตายกับการติดเชื้อนั้นอาจจะต้องเสี่ยงเพื่อเอาชีวิตให้อยู่รอดไปได้

คนจำนวนมากอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวถ้าติดเชื้อแล้วจะไปรักษาที่ไหน ถ้าไม่ออกมาทำมาหากินที่เสี่ยงกับการติดเชื้อแล้วจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร จนมีคนจำนวนมากเริ่มท้อและหาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้จนด่วนหาทางออกที่เศร้าสลด บางคนรอคอยมาตรการเยียวยาจากรัฐแม้จะเล็กน้อยไม่เพียงพอต่อการยังชีพก็ตาม

ในขณะที่วัคซีนที่เราใช้อย่างซิโนแวคกำลังถูกตั้งคำถามถึงการไม่สามารถรับมือกับเชื้อที่กลายพันธุ์ได้ แต่รัฐบาลไม่มีทางเลี่ยงที่จะต้องใช้ซิโนแวค เพราะเป็นวัคซีนตัวเดียวที่จัดหามาได้ง่าย และหาทางออกด้วยการฉีดสลับเข็ม 1 และ 2 กับแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งก็มีคำถามว่ามีงานวิจัยที่รองรับพอหรือไม่

ขณะเดียวกันแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเราหวังจะใช้เป็นวัคซีนหลักนั้น ก็มีปัญหาเรื่องการผลิตแม้จะมีโรงงานในบ้านเราก็ตาม

สิ่งที่ประชาชนรอคอยในขณะนี้คือการได้รับการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพ เพราะซิโนแวคถูกด้อยค่าจนทำให้ขาดความเชื่อถือจนมีประชาชนจำนวนมากเทคิวของตัวเองเมื่อรู้ว่าจะได้ฉีดซิโนแวคซึ่งกล่าวกันว่านี่เป็นทางออกที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงคิดการฉีดแบบสลับยี่ห้อออกมา

ไม่รู้เหมือนกันว่า สถานการณ์แบบนี้จะอีกยาวนานแค่ไหน ดูแล้วแทบจะมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ไม่รู้ว่าการรับมือของรัฐมาถูกทางไหมทำไมไม่สามารถลดตัวเลขผู้ป่วยลงได้เมื่อนับแต่เดือนเมษายนที่เริ่มมีการระบาดระลอกสามสถานการณ์ก็ยิ่งนักหน่วงมากขึ้นเกือบ 4 เดือนมาแล้ว มีแต่ตัวเลขที่วิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ไม่มีคนของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือพอออกมาอธิบายกับประชาชนเลยว่า แนวโน้มของสถานการณ์จะถูกนำพาไปถึงจุดไหนแล้ว สุดท้ายจะเป็นอย่างไรกับมาตรการที่รัฐใช้อยู่ เพื่อให้ประชาชนมีความหวังว่าจะไม่เผชิญกับสถานการณ์แบบนี้ไปแบบไม่มีทางออก ในขณะที่เราได้ยินเสียงหมอที่เป็นด่านหน้าออกมาส่งเสียงผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ มากขึ้นว่า กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่หนักหนาจนใกล้จะรับมือไม่ไหวแล้ว

แน่นอนว่าเสียงสวดส่งรัฐบาลนั้นมีทั้งคนที่ไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้อยู่แล้ว แต่เราก็ต้องรับฟังว่าเสียงที่พวกเขาส่งออกมานั้น สะท้อนความจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะคนจำนวนมากเมื่อไม่เห็นทางออกก็เริ่มคล้อยตามเสียงของคนที่ออกมา Call out ด้วยการระบายผ่านโซเชียลมีเดียทั้งในรูปแบบของคลิปและตัวอักษร และเสียงเหล่านี้ก็เริ่มส่งเสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ

ตอนนี้เริ่มมีการตั้งคำถามถึงรูปแบบการทำงานของ ศบค.ที่มีวาระมีขั้นตอนแบบตายตัวนั้นทันท่วงทีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไหม การทำงานของ ศบค.กับกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นคนลงมือในภาคปฏิบัตินั้นสอดรับให้การทำงานราบรื่นไหม เพราะหลายครั้งที่มีมาตรการแล้วมีความเห็นไม่ตรงกันจนประชาชนเกิดความสับสน

ที่สำคัญคนที่มีอำนาจสูงสุดเป็น single command อย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่รวบอำนาจทั้งหมดไว้ในมือนั้นเป็นผลดีไหมหรือมีความสามารถที่จะบริหารสถานการณ์แบบนี้ไหม แม้จะมีคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นมือไม้อยู่รายรอบตัวก็ตาม แต่วิกฤตการณ์แบบนี้ทุกคนต่างก็ไม่เคยประสบมาก่อนทั้งสิ้น

เราจะอยู่รอดไหมมีทางออกสำหรับวิกฤตครั้งนี้ไหม ดูเหมือนคำถามนี้จะไม่มีคำตอบที่เป็นความหวังได้เลย

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น