เปิดเส้นทางลักลอบนำเข้าแรงงานพม่าจากเชียงรายถึงระนอง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ ระบุแต่ละแห่งมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือนเอี่ยวผลประโยชน์ ตั้งแต่หัวละ 5 พัน-2 หมื่น ขึ้นอยู่กับ ‘จังหวะ-คอนเนกชัน’ ขณะเดียวกันแรงงานเถื่อนยังต้องจ่ายรายเดือนให้แก่หน่วยงานท้องที่ นายจ้างบ่น! นำเข้าแบบถูกกฎหมาย ช้าและวุ่นวาย สู้จ้าง ‘นายหน้า’ จัดการ เจอด่านตรงไหนใช้ ‘เงิน’ เคลียร์จบง่าย ได้คนงานเร็ว จับตา ‘บิ๊กตู่’ จะกวาดล้างขบวนการแรงงานข้ามชาติได้หรือไม่!?
การระบาดรอบใหม่ของเชื้อโควิด-19 ที่ลุกลามใหญ่โต เริ่มต้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งพบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากแรงงานต่างชาติชาว ‘พม่า’ ซึ่งมีการระบาดไปทั่วถึงวันนี้ (24 ธ.ค.) มีตัวเลขที่เป็นทางการมีผู้ติดเชื้อใน 27 จังหวัด (บวก-ลบ 3)
สำหรับสถานการณ์ครั้งนี้จะเห็นถึงความพร้อมในการรับมือของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ได้เร่งออกมาตรการต่างๆ และแบ่งพื้นที่การควบคุมเป็น 4 โซน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เข้าสู่วิกฤตความรุนแรง จนนำไปสู่การล็อกดาวน์ประเทศ
อีกทั้งได้เห็นถึงความมีมนุษยธรรมของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ช่วยเหลือดูแลรักษาและมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่แรงงานพม่า แม้จะรับรู้ว่าเขาคือต้นเหตุของการระบาดก็ตาม แต่พวกเขาก็เป็นแรงงานสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ทำให้ ‘บิ๊กตู่’ ได้รับรู้ถึงการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อนที่มีการทำเป็นขบวนการซึ่งมีข้าราชการเอี่ยว และบิ๊กตู่ได้พูดออกมาว่า...รู้แล้วมีชื่อใครที่เกี่ยวข้อง และพร้อมจะดำเนินคดีตามกฎหมาย
แต่ต้องขอตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้น!
ส่วนเส้นทางลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อนจากพม่านั้น นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ บอกว่าจากข้อมูลที่ตรวจสอบพบว่าขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อนสามารถผ่านเข้ามาทางเส้นทางธรรมชาติตลอดแนวชายแดนไทย-พม่าได้ทั้งหมด ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย ถึงระนอง ยาวประมาณ 2,041 กิโลเมตร
ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จะเข้าทางแม่สาย กับแม่ฟ้าหลวง ที่เชียงใหม่จะเข้าทางแม่อาย อ.ฝาง ที่เป็นรอยต่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าได้ทุกอำเภอ ตั้งแต่อำเภอปาย เมือง ขุนยวม แม่สะเรียง จังหวัดตาก ที่อำเภอแม่สอด
จังหวัดราชบุรี ตรงบริเวณสวนผึ้ง จังหวัดกาญจนบุรี แถบด่านเจดีย์สามองค์ ด่านบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดเพชรบุรี แถวๆ โซนป่าละอู ส่วนที่ประจวบฯ ก็มีช่องทางธรรมชาติให้เข้าได้มากเช่นกัน
จังหวัดระนอง ชุมพร จะเข้ามาทางทะเลที่มีเกาะเล็กๆ ซึ่งจะมีจุดพักเป็นระยะๆ ก่อนจะเข้ามาถึงระนองและชุมพร และต่อเข้ามาพื้นที่อื่นๆ ได้
“เส้นทางเข้าของแรงงานจากฝั่งพม่าจะมีรถจากฝั่งไทยมารอรับเพื่อไปส่งตามจุดนัด หากระหว่างทางเจอด่านก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีการจ่ายล่วงหน้ากันมาก่อน ส่วนที่ระนอง ออกจากเกาะสองของพม่า ระหว่างทางก็พักตามเกาะเล็กๆ จะมีเรือหางยาวไปรับ เลี่ยงการตรวจจาก ตม.เข้ามาในไทยได้”
อย่างไรก็ดี การลักลอบเข้ามานั้นมีความเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ เช่น ตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจตระเวนชายแดน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน เป็นต้น
“แรงงานนอกระบบจะต้องจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตั้งแต่ 5 พันถึง 2 หมื่นต่อหัว ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละช่วง เจ้าหน้าที่เข้มงวดแค่ไหน บางช่วงไม่เข้มงวด ราคาต่อหัวก็จะถูกคือคู่แข่งมันเยอะ คือ ตลาดมันเสรี ลดราคากันได้”
แต่การลักลอบนำแรงงานเข้ามาในปัจจุบันจะต้องจ่ายแพง เพราะต้องอาศัย Connection พอสมควร ซึ่งจะต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทาง โดยปกตินายหน้าที่นำเข้ามาจะคิดจากแรงงาน แต่บางครั้งนายจ้างก็เป็นคนจ่ายให้ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ความต้องการขณะนั้นเป็นอย่างไร
“พวกที่เข้ามาไม่ถูกต้องจะต้องจ่ายมากกว่าคนที่เข้าถูกต้อง เพราะต้องจ่ายใต้โต๊ะเป็นรายเดือนให้แก่ท้องที่ จะได้ไม่ถูกจับกุม บางแห่งเป็นหลักพัน บางแห่งเป็นหลักร้อยต่อคน แต่คนเข้ามาถูกต้องไม่ต้องจ่ายตรงนี้ หากเจ็บป่วยก็ต้องจ่ายค่ารักษาเอง แต่เข้ามาถูกต้องจะมีบัตรประกันสุขภาพ ประกันสังคม”
นายอดิศร บอกอีกว่า การนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายต้องจ่ายเป็นสิบกว่าหน่วยงาน เพราะตำรวจก็มีทั้งตำรวจท้องที่ ตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ยังมีกระทรวงแรงงาน ประกันสังคม จัดหางาน เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีสิทธิจับได้ทั้งหมด เมื่อถูกจับก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่นายจ้างไม่อยากทำผิด แต่การทำแบบถูกกฎหมายต้องใช้เวลานานมากทั้งฝั่งพม่าและฝั่งไทยจึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ต้องลักลอบนำเข้ามาแทน
“การทำถูก ยากกว่าทำผิด ช้าแล้วก็วุ่นวาย แต่การทำผิดกฎหมายโดยให้นายหน้านำแรงงานเข้ามา แล้วมาไล่จ่าย สะดวกกว่า เพราะคุณไม่ต้องวิ่งไปจัดหางานสองสามรอบไปตำรวจ ตม. ต้องไปชายแดนเพื่อไปรับคนเข้ามา”
ขณะที่ปัญหาแรงงานชาวพม่าที่ผิดกฎหมายซึ่งอยู่ในไทยโดยเฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาคร มีด้วยกัน 2 ส่วน คือ กลุ่มที่มีใบอนุญาตถูกต้อง เพราะช่วงโควิด-19 รอบแรกโรงงานหรือนายจ้างเดิมปิดกิจการ จึงต้องไปอยู่กับนายจ้างคนใหม่ก็ต้องมีเอกสารรับรองแต่ไม่สามารถไปยื่นต่อเอกสารได้
“นายจ้างที่มีแรงงานกลุ่มนี้อยู่ไม่กล้าส่งแรงงานไปตรวจ แรงงานก็ไม่กล้าไปตรวจเพราะไม่มีบัตรประกันสุขภาพ แถมยังผิดกฎหมายทั้งคู่ ก็กลัวถูกตำรวจจับ นายจ้างจึงเลือกผลักไสแรงงานออกไปให้พ้นตัว แรงงานก็ต้องหลบหนีไปเรื่อยๆ เชื้อก็กระจายไปทั่ว แรงงานกลุ่มนี้ต้องดึงมาตรวจทั้งหมด”
ส่วนแรงงานที่มีใบอนุญาตถูกต้องบางคนเมื่อโรงงานปิดกิจการ ก็เดินทางกลับไปยังพม่า แต่เป็นจังหวะที่พม่าก็มีปัญหาโควิด-19 มีการปิดกิจการ บรรดาแรงงานกลุ่มนี้จึงไม่มีรายได้ ด่านชายแดนก็ปิดไม่ให้แรงงานเข้ามา
“เป็นช่วงที่โรงงานในไทยเริ่มเปิดกิจการ แรงงานพม่าที่อยู่ในไทยก็มีโอกาสหานายจ้างใหม่ ส่วนแรงงานที่มีใบอนุญาตแต่กลับบ้านไปแล้ว บวกกับแรงงานที่ผิดกฎหมายไม่มีใบอนุญาตทำงานเป็นแสนคนที่อยากจะเข้ามาทำงานในไทยแต่ด่านปิด ก็ต้องลักลอบเข้ามาตามเส้นทางธรรมชาติ”
นายอดิศร เกิดมงคล ระบุว่า จริงๆ แล้ว แรงงานพม่า ที่มีใบอนุญาตที่กลับไปบ้านก็อยากเข้ามาแบบถูกกฎหมาย แต่ด่านปิดและพวกเขาก็ไม่มีรายได้ หากต้องมาเจอกับค่าใช้จ่ายในเรื่องของการตรวจโควิด-19 ต้องมากักตัว 14 วัน เฉลี่ยจะใช้เงินคนละ 2 หมื่นกว่าบาท ทำให้พวกเขาต้องประสบปัญหา
“ตอนนี้อยู่ที่ ศบค.ต้องมีความชัดเจนว่าจะเปิดให้แรงงานที่ถูกกฎหมายกลับเข้ามาอย่างไร ในปีนี้จะเข้าได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้ ปีหน้าจะเข้าได้อย่างไรเพราะถ้าไม่มีความชัดเจน การลักลอบเข้ามาก็ยังคงเกิดขึ้นแน่นอน การควบคุมโรคก็จะลำบากขึ้น”
ที่สำคัญปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่มีสาเหตุมาจากแรงงานข้ามชาติซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดกับไทย เราไม่สามารถจัดการได้เพียงลำพัง ต่อให้ประเทศไทยปิดด่านทั้งหมด แรงงานเหล่านี้ก็ต้องหาวิธีการลักลอบเข้ามา จึงจำเป็นจะต้องคุยกันในระดับประเทศซึ่งเวลานี้แรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานประมาณ 1 ล้านกว่าคน เป็นแรงงานพม่าในไทยมีถึง 70% ลาว 10% ที่เหลือเป็นกัมพูชา และมีเวียดนาม รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องมีการหารือและกำหนดแผนร่วมกันเพื่อยับยั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามประเทศ
ดังนั้น หาก ศบค.มีนโยบายการเข้ามาของแรงงานชัดเจน จะเป็นการส่งสัญญาณให้แรงงานได้เตรียมตัว และรัฐบาลก็สามารถปิดหรือควบคุมโซนที่มีความเสี่ยงไม่ให้เข้ามา ส่วนคนที่มีความพร้อมก็สามารถเข้ามาได้และไม่เป็นปัญหากับประเทศไทย
“ต้องทำ 3 อย่างพร้อมกัน คือ ต้องรักษาแรงงานพม่าที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ห้ามออกจากระบบเด็ดขาด ส่วนที่อยู่นอกระบบแต่อยู่ในประเทศ ต้องดึงเข้าระบบ ให้นายจ้างรายงานข้อมูล แต่เอกสารจัดทำภายหลังได้ และส่งสัญญาณให้แรงงานที่อยู่ด้านนอกได้รู้ว่าเราจะพยายามเปิดประเทศ เพื่อสกัดกั้นพวกลักลอบไม่ให้เข้ามา”
เบื้องต้น บิ๊กตู่ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานไปพิจารณาออกบัตรสีชมพูชั่วคราวให้แก่แรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายที่อยู่ในประเทศไทยเพื่อจะได้เข้าสู่ระบบและจัดการการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ต่อไป
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ ย้ำว่า รัฐบาลต้องทำฐานข้อมูลโดยเร็วเพื่อตามตัวแรงงานต่างชาติให้ได้ และอย่าไปใช้วิธีไล่จับ ซึ่งแรงงานพม่าจำนวนกว่า 6 แสนคนเป็นกลุ่มที่มีเอกสารใบอนุญาตทำงานแล้ว เพียงแต่ว่าบางคนยังไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ ส่วนแรงงานเถื่อนจะมีประมาณ 2 แสนกว่าคน
“2 แสนกว่าคนจะกระจายอยู่ กทม.มากสุด อันดับ 2 ที่สมุทรสาคร อันดับ 3 ที่นครปฐม และสุพรรณบุรี ที่เหลือกระจายตามเมืองใหญ่ๆ ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พวกนี้จะทำงานก่อสร้าง โรงงาน บริการ และแม่บ้าน สภาพความเป็นอยู่คนที่ทำงานก่อสร้างไม่ค่อยดี ขาดสุขอนามัย จะมีโอกาสเสี่ยงในการแพร่เชื้อค่อนข้างสูง
จากนี้ไปต้องติดตามว่า ‘บิ๊กตู่’ จะจัดการขบวนการแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร พลเรือน นายหน้า นายจ้าง เข้าไปเกี่ยวข้องได้หรือไม่!?