กลุ่มปกป้องสถาบันฯ ยกระดับสู้ศึกสื่อออนไลน์ผุด #ประชาสาส์น สู้ #ราษฎรสาส์น ของกลุ่มคณะราษฎร์ 2563 แม้ตามหลังทำอย่างเป็นระบบ มีทิศทาง แต่เริ่มเห็นพลังการแสดงออกอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน นักสื่อสารมวลชนประเมินอาจไม่มีผลต่อคนรุ่นใหม่ แต่ปลุกกระแสคนไม่เห็นด้วยได้เพิ่มขึ้น เป็นการช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดของคน
#ประชาสาส์น ถูกรณรงค์ให้ผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ร่วมกันติดแฮชแท็ก (Hashtag) ดังกล่าว ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ของกลุ่มที่ออกมาปกป้องสถาบันฯ เนื่องจากในวันดังกล่าวกลุ่มคณะราษฎร 2563 นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง โดยทางกลุ่มคณะราษฎรจะมีกิจกรรมยื่นจดหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทางกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกว่าราษฎรสาส์น และหลายคนก็เริ่มติด #ราษฎรสาส์น ปรากฏตามสื่อออนไลน์ต่างๆ
ที่มาของการรณรงค์ครั้งนี้ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Suphanat Aphinyan ว่า
#ประชาสาส์น ขอเชิญพี่น้องคนไทยที่รักทุกท่าน ร่วมกันโพสต์ข้อความส่งกำลังใจถึงในหลวง และส่งต่อพลังบวกให้แก่ประเทศไทย ผ่านการติดแฮชแท็ก #ประชาสาส์น ร่วมส่งประชาสาส์นพร้อมกัน วันอาทิตย์ที่ 8 พ.ย. เวลา 15.00 น.
#ประเทศไทยต้องชนะ
ทำไมพวกเราต้องช่วยกันติด #ประชาสาส์น? เพราะม็อบราษฎรจะมีการก่อม็อบเพื่อส่ง #ราษฎรสาส์น ในวันนี้ (8 พ.ย.63) เวลา 16.00 น. ในลักษณะของการเคลื่อนไหวซึ่งมีแต่จะเพิ่มเงื่อนไขของความขัดแย้งและความแตกแยกให้แก่สังคมไทย
เราในฐานะประชาชนคนไทย มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเหมือนกัน มีความรักในระบอบประชาธิปไตยไม่แตกต่างกัน
แต่ที่สำคัญที่สุดเรามีความรักในสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และไม่เห็นด้วยกับการใส่ร้ายป้ายสีในหลวงด้วยการเชื่อตามๆ กันอย่างบิดเบือน ซึ่งเป็นการสร้างความแตกแยก บั่นทอนความสามัคคี และความทำลายความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง
เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสันติ ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงหรือการเผชิญหน้าระหว่างมวลชนผู้เห็นต่าง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเติมความขัดแย้งในสังคมให้เกิดขึ้นโดยไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ใด
#ประชาสาส์น จึงเกิดขึ้นมาเพื่อส่งกำลังใจถึงในหลวง และส่งต่อพลังบวกให้แก่ประเทศไทย ขอย้ำอีกครั้งว่า... #ประชาสาส์น เกิดขึ้นมาเพื่อส่งกำลังใจถึงในหลวง และส่งต่อพลังบวกให้แก่ประเทศไทย
ดังนั้น วิญญูชนพึงทราบได้ด้วยตนเองว่า #ประชาสาส์น ของแท้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเคารพและความจงรักภักดีเท่านั้น
ขอเชิญพี่น้องคนไทยที่รักทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง ร่วมกันโพสต์ข้อความส่งกำลังใจถึงในหลวง และส่งต่อพลังบวกให้แก่ประเทศไทย ผ่านการติดแฮชแท็ก #ประชาสาส์น ร่วมส่งประชาสาส์นพร้อมกัน 8 พฤศจิกายน เวลา 15.00 น.
"ผุด #ประชาสาส์น ต่อกร
นับเป็นการร่วมกันรณรงค์อย่างเป็นทางการสำหรับการแสดงพลังของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ จนทำให้ #ประชาสาส์น กลายเป็นจุดสนใจของผู้คนที่มีความรู้สึกเดียวกัน แม้กระทั่งศิลปินและบุคคลที่มีชื่อเสียงต่างๆ ก็ร่วมกันติดแฮชแท็กดังกล่าวจนติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์
# (แฮชแท็ก) เป็นเครื่องมือหนึ่งของการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ที่รวบรวมเอาเรื่องราวที่ติดแฮชแท็กเข้าไว้ในกลุ่มเดียวกัน คนที่สนใจสามารถกดไปที่แฮชแท็กดังกล่าวข้อความหรือเรื่องราวในลักษณะเดียวกันก็จะปรากฏขึ้นมา
ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของม็อบจะใช้แฮชแท็กส่งต่อข้อความหรือนัดหมาย ด้วยเหตุที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนและคนเริ่มวัยทำงาน พวกเขาเติบโตมากับโลกของสื่อออนไลน์มาตั้งแต่เด็ก ดังนั้น การใช้เครื่องมือเหล่านี้จึงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่เพียงแค่เรื่องการนัดหมายเท่านั้น แต่ตัวความคิดเห็นหรือข้อความต่างๆ ที่ส่งไปบนโลกออนไลน์ แฮชแท็กจะเป็นตัวรวบรวมเอาไว้
ปลุกพลังคนรักสถาบันฯ
ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมที่ยื่นข้อเรียกร้องก้าวล่วงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จัดได้ว่าเป็นกลุ่มวัยกลางคนจนถึงผู้สูงวัย ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่เชี่ยวชาญกับการใช้สื่อสมัยใหม่ ดังนั้น แนวทางในการใช้สื่อเพื่อแสดงพลังจึงเป็นรองกลุ่มคนรุ่นใหม่ ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่จึงกลายเป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง ควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ การติดแฮชแท็กของกลุ่มผู้ชุมนุมนอกจากจะเป็นไปโดยธรรมชาติแล้ว ยังมีทีมงานจัดตั้งเปิดประเด็นหรือชี้นำทิศทางของกลุ่มเยาวชน ด้วยภาษาเดียวกันและสอดรับกับความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงสามารถดึงมวลชนกลุ่มนี้ออกมาร่วมกิจกรรมได้มาก และส่วนหนึ่งเป็นการสร้างกระแสทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นแฟชั่น ใครที่ไม่เข้าร่วมถือว่าตกยุค ไม่สามารถพูดคุยกับเพื่อนๆ ได้
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ต่างทราบดีว่าการสื่อสารบนโลกออนไลน์นั้นเป็นรองกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงเริ่มมีทีมงานที่เข้ามาดูแลแนวรบด้านสื่อออนไลน์มากขึ้น ก่อนหน้านี้ มีการผุด #อนุชนรักชาติศาสน์กษัตริย์ ดันขึ้นมาจนติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์ได้เช่นกัน แต่ยังไม่มีความต่อเนื่องพอที่จะเทียบกับวิธีการของคนรุ่นใหม่
เริ่มมีทีมงาน
แนวรบด้านอื่นก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการใช้สื่อออนไลน์แบบรายบุคคล พลังการตอบโต้จึงมีน้อย แต่ในระยะหลังเริ่มมีการจัดตั้งเพจบนเฟชบุ๊กขึ้นมาตอบโต้ทางฝ่ายผู้ชุมนุมบ้างแล้วเช่นกัน
แน่นอนว่าเพจตอบโต้ลักษณะนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีได้ตลอดเวลา ตอนนี้จึงมีเพจย่อย เพจสำรองไว้หลายแห่ง เพราะการโจมตีเพจนั้นเป็นแนวทางที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มีความชำนาญมากกว่า
อีกทั้งทีมไซเบอร์ของคนรุ่นใหม่ทำงานกันเป็นทีม มีการสร้างบัญชีอวตารขึ้นมาเพื่อโจมตีบุคคลที่เห็นต่าง แทรกเข้าไปในทุกพื้นที่แม้กระทั่งสื่อส่วนบุคคล มีการรวมพลกันถล่มร้านค้าที่เห็นต่างจากผู้ชุมนุม ไปจนถึงการร่วมกันแบนโฆษณาบนสื่อที่เสนอข่าวคนละฝั่งกับผู้ชุมนุม
ตอนนี้เราได้เห็นว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เริ่มมีการแสดงพลังแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น
มีเพจหรือสื่อออนไลน์ที่ตรวจสอบ โต้แย้งข้อมูลเท็จต่างๆ ของฝ่ายผู้ชุมนุมมากขึ้น มีบุคคลที่มีชื่อเสียงแสดงตัวออกมามากขึ้น เริ่มปฏิบัติการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เข้ามาใช้ถ้อยคำหยาบคายบนเฟชบุ๊กส่วนตัวมากขึ้น รวมไปถึงการรณรงค์แสดงพลังผ่าน # (แฮชแท็ก)
เท่ากับเป็นการยกระดับการทำสงครามข้อมูลข่าวสารของคนอีกรุ่นหนึ่ง ให้ขึ้นมาใกล้เคียงกับคนรุ่นใหม่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หนึ่งในนั้นคือ สถาบันทิศทางไทยของนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม
#ประชาสาส์น ไม่ได้ผลกับคนรุ่นใหม่
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนมองปรากฏการณ์นี้ว่า คนรุ่นใหม่ใช้สื่อออนไลน์มาโดยตลอด ทั้งเรียน ทำงานและใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ม็อบของคนรุ่นใหม่พัฒนามาได้ไกลมาก แฮชแท็กเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่คนรุ่นใหม่คุ้นชิน ที่พาพวกเขาท่องข่าวสารที่สนใจผ่าน # เพราะสมัยนี้ทุกอย่างเป็นดิจิทัลแทบทั้งหมด
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของม็อบเริ่มเห็นว่าต้องทำอะไรบางอย่างตอบโต้หรือยับยั้ง จึงมีกลุ่มไทยภักดีขึ้นมา ทำให้คนที่เห็นด้วยในแนวทางนี้ปรากฏตัวมากขึ้น
ปรากฏการณ์ #ประชาสาส์น นั้นน่าจะไม่มีผลโดยตรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมในเวลานี้ เพราะพวกเขาเลือกเสพเฉพาะสิ่งที่ต้องการเท่านั้นตามอุปนิสัยของคนรุ่นใหม่ แต่จะมีผลต่อกลุ่มที่ไม่ได้เอนเอียงไปฝ่ายผู้ชุมนุมที่จะเลือกอยู่เฉยกับสถานการณ์ ยิ่งเมื่อยอด # นั้นถูกดันไปจนติดอันดับต้นๆ ไม่ว่าวิธีการจะมาตามธรรมชาติ ปั่นยอด หรือใช้งบประมาณ ย่อมส่งผลทางจิตวิทยาให้หลายคนอยากเข้าไปค้นหา
ที่จริงแล้ว ตัว # มันเองเป็นแค่เข็มทิศ นำทางพาคนไปตามกลุ่มเรื่องที่เลือก ส่วนการจะเชื่อข้อมูลเหล่านั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง รวมถึงเบื้องลึกในใจว่าจะคล้อยตามหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านั้น
ช่วงชิงพื้นที่ความคิด
การช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน หากสามารถทำให้คนอื่นๆ มีแนวคิดในทิศทางเดียวกันได้มากยิ่งทำให้เกิดความได้เปรียบ แม้ว่าการป้อนชุดข้อมูลอาจเลือกเฉพาะสิ่งที่อยากนำเสนอเท่านั้น เพื่อหวังผลสำเร็จเป็นสำคัญ โดยไม่สนใจเรื่องความครบถ้วนของข้อมูล ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมากสำหรับโลกออนไลน์ เพราะไม่ต่างไปจากการล้างสมองคนให้เชื่อและคิดไปในแนวทางเดียวกับที่ผู้โพสต์ต้องการ
นอกจากนี้ ยังมีการใช้สื่อออนไลน์ไปในทางทำลายและลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม ด้วยเทคนิคต่างๆ ที่คนรุ่นใหม่มีความเชี่ยวชาญ คนที่พร้อมจะเชื่ออยู่แล้วก็ดาหน้าเข้าไปร่วมขบวนการ
ดังนั้น การใช้เครื่องมือสื่อออนไลน์ในระนาบเดียวกับผู้ชุมนุมนั้น ถือเป็นการยกระดับให้พื้นที่การต่อสู้กันทางความคิดอยู่ในระดับที่ไม่ห่างกันมาก การตอบโต้หรือการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อหักล้างข้อมูลที่บิดเบือนนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งบนโลกออนไลน์
อีกทั้งในโลกออนไลน์ ผู้โพสต์สามารถติด # ได้ทั้ง #ประชาสาส์น และ #ราษฎรสาส์น หรืออาจมีการสร้างเพจภายใต้ชื่อเดียวกัน เพื่อหลอกให้คนเข้าไปติดตาม แต่เนื้อหาภายในไปอีกทิศทางหนึ่ง รวมถึงการสร้างเพจอวตารเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม
แน่นอนว่า #ประชาสาส์น เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการส่งข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้คนที่เห็นด้วยเพียงข้อความเดียว # อื่นๆ ก็จะตามมาอีก แม้ด้านหนึ่งจะมุ่งไปที่บุคคลที่เห็นเหมือนกัน แต่ก็ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอาจเข้ามาอ่านข้อมูลบน # ดังกล่าว อาจทำให้คนที่เห็นต่างกัน ได้ชั่งน้ำหนักข้อมูล หรือตรวจสอบค้นหาเพิ่มเติม แนวคิดที่เคยเชื่ออาจเปลี่ยนไปจากเดิมก็ได้เช่นกัน