เบื้องลึก ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ยันจะลงสมัครอิสระชิงผู้ว่าฯ กทม.ไม่สังกัดพรรคเพื่อไทยหลังเดินงานการเมืองตะลุยพื้นที่ กทม.มาร่วม 1 ปี รู้ลึกถึงปัญหา แถมได้นักศึกษาปริญญาโทจากยุโรป ปรับฐานข้อมูลประชากรกันใหม่ที่ของเดิมผิดพลาดกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ระบุดาต้าใหม่ ที่ ‘ชัชชาติ’ มีอยู่พรรคไหนได้ไปสบาย แจงตัวเลขคู่แข่ง Gen-Y-Z มีจำนวนเท่าไร ชี้โพลสันติบาล พบ ‘บิ๊กแป๊ะ’ คะแนนไม่ดี ขณะที่สัญญาใจ ‘ดูไบ-ชัชชาติ’ ต้องการให้ลงอิสระ และเพื่อไทย ต้องไม่ส่งใครลงแข่งเพื่อตัดคะแนนกันเอง!
ข้อความที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 29ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า "ข่าวที่ออกมาว่าผมจะกลับไปทำงานการเมืองกับพรรคหรือหลีกทางให้ผู้สมัครบางท่านนั้น ไม่เป็นความจริงนะครับ....
ตอนนี้ผมยังลงพื้นที่เพื่อดูปัญหาของชุมชนต่างๆ ในนามอิสระอย่างต่อเนื่องครับ ล่าสุดเพิ่งลงไปเขตประเวศมาครับ"
โพสต์ดังกล่าวชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วว่านายชัชชาติ ไม่เปลี่ยนใจไปสังกัดพรรคการเมืองและต้องการลงสมัครอิสระชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เท่านั้น
แล้วอะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายชัชชาติตัดสินใจเช่นนี้
หากจะย้อนไปดูการเคลื่อนไหวของนายชัชชาติ หลังการประกาศเปิดตัวอาสาดูแลคน กทม.ร่วมกับทุกคน ซึ่งจะมีทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ Better Bangkok เชิญชวนอาสาสมัครลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นทีมทำงานไม่ว่าจะเป็นการทำงานในพื้นที่ แลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่ดีกว่าเดิม เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2562 ที่ลานกิจกรรมชุมชนโรงหมู คลองเตย
จากวันนั้นล่วงเลยมาเกือบ 1 ปี นายชัชชาติ พร้อมกลุ่ม Better Bangkok ได้ตะลุยพื้นที่ทั่ว กทม.เกือบจะทุกวัน เพื่อรับรู้ปัญหาและความต้องการของชุมชน ทั้งในเชิงคุณภาพชีวิตและด้านกายภาพ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ระบาดก็ได้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะนำอาหารและสิ่งจำเป็นที่ภาคเอกชน และกลุ่มต่างๆ ได้ร่วมสมทบไปแจกให้แก่ชุมชนต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ในการลงพื้นที่ทำให้เห็นปัญหาเชิงลึกและความซับซ้อนซึ่งเกิดขึ้นกับชาว กทม.แม้จะเป็นปัญหาเดิมๆ ซ้ำซาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย การบุกรุกที่ดิน บางครอบครัวอยู่กันแบบแออัดไม่มีเลขที่บ้าน ไม่มีทะเบียนบ้าน ปัญหาเรื่องสุขภาพ ปัญหาเรื่องการศึกษาของเด็กในชุมชนหรือกลุ่มรากหญ้า คนด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ปัญหาน้ำท่วม น้ำขัง ขยะ สิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องการเดินทาง เป็นต้น
แต่ทุกปัญหาที่นายชัชชาติ และทีม Better Bangkok เข้าไปพบนั้นถูกนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์พร้อมจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลในระบบดิจิทัล
โดยเฉพาะครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่มีกลุ่มนักศึกษาปริญญาโทจากยุโรปกว่า 20 คน เข้าไปช่วยนายชัชชาติ จัดเก็บข้อมูลเชิงกายภาพและความเป็นอยู่ของชุมชน ซึ่งข้อมูลเดิมที่รัฐมีอยู่มีความผิดพลาดมาก โดยเฉพาะตัวเลขของชุมชนทั่ว กทม.ผิดพลาดเกือบ 50% ของที่มีอยู่ และจำนวนของประชากรผิดพลาดไป 1 ใน 3
“การอัปเดตข้อมูลของนักศึกษากลุ่มนี้ซึ่งเป็นจิตอาสา ใช้เวลาลงพื้นที่เพียง 3 สัปดาห์ พบว่ารัฐปักหมุดโลเกชันชุมชนผิดพลาดมาก ผิดพลาดไปถึงผู้ที่ทำหน้าที่ประธานชุมชน คนในชุมชนส่งผลถึงการได้มาซึ่งทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และการเข้าไปช่วยเหลือ ถึงตัวผู้เดือดร้อนผิดพลาดไปหมด”
การเข้ามาจัดระบบที่ทีม Better Bangkok ปักหมุดขึ้นมาใหม่จะถูกต้อง แม่นยำที่สุดที่จะเข้าถึงตัวผู้เดือดร้อนและให้ความช่วยเหลือได้ถูกต้อง แม่นยำ ไม่เพียงเท่านั้นยังทำให้การช่วยเหลือด้านอื่นๆ ถูกต้องตามไปด้วย
“ในเรื่องของสุขภาพ เรื่องของบัตรทอง 30 บาท อาจารย์ชัชชาติ รู้และเข้าใจลึกซึ้งว่าจุดอ่อนของปัญหาอยู่ตรงไหน เพราะในความเป็นจริงการที่ สปสช. เข้ามาช่วยให้มีระบบการส่งต่อเป็นขั้นเป็นตอนดีอยู่แล้ว ในส่วนของ กทม.ที่มีอาสาสมัครชุมชนแห่งละ 3 คนที่มีรายได้ ก็จะต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อช่วยชุมชน”
หากเปรียบเทียบในการบริหารระบบสาธารณสุขในต่างจังหวัดกับ กทม.นั้น พบว่าในต่างจังหวัดจะมี อสม. มี อบต.ทำหน้าที่ดูแลด้านสาธารณสุขในชุมชนได้ดีกว่าของ กทม. เพราะ อสม. อบต.จะเข้าถึงคนในชุมชนได้ดีมาก
“อาสาสมัครชุมชนของ กทม.ไม่สามารถเข้าถึงคนในชุมชน เหมือน อสม. อบต. เรามีศูนย์สาธารณสุขของ กทม.ถึง 68 แห่ง ที่เป็นปฐมภูมิ ก็ต้องทำหน้าที่เป็นด่านหน้าช่วยชุมชน ซึ่งใน กทม.ถ้าชุมชนไหนแข็งแรงก็ช่วยตัวเองได้ กทม.ก็มีโรงเรียนแพทย์ในสังกัด และโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ก็อยู่ในพื้นที่ กทม. ซึ่ง กทม.ก็จะต้องทำหน้าที่ประสานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อช่วยคน กทม.ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี”
ในการลงพื้นที่แต่ละครั้งสิ่งที่นายชัชชาติ เก็บข้อมูลนั้น ทำให้เขาเห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมและการจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ จะต้องทำให้ครอบครัวที่มีความยากลำบาก มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Social Mobility) ได้นั้น จะต้องสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยมีหลักประกันสุขภาพ เพิ่มคุณภาพการศึกษา และสร้างรายได้ที่เพียงพอ
“การที่อาจารย์ชัชชาติ เข้าถึงปัญหา มีข้อมูลเชิงลึกทั้งในเชิงพื้นที่ และตัวเลขมากมายทั้งจำนวนประชาชนทั้งหมด จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นคนกลุ่มไหน เป็นฐานเสียงของกลุ่มไหนบ้าง และจำนวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิดพลาดอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ การจะได้มาซึ่งตัวเลขที่ทำให้ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อยู่ตรงไหน นี่คือจุดแข็งที่อาจารย์ชัชชาติมีอยู่”
ปัจจุบันประชากรใน กทม.มี 10 ล้านคน แต่มีชื่อตามสำมะโนครัว 5.6 ล้านคน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4.5 ล้านคน และในการเลือกตั้งสภาผู้แทนฯ เมื่อ 24 มีนาคม 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ จำนวน 3.5 ล้านคน จะแบ่งเป็นพลังประชารัฐ 791,893 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 474,820 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 30,979 เสียง พรรคประชาชนปฏิรูป 5,585 เสียง พรรคเพื่อไทย 604,699 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 804,272 เสียง
ในการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องของนายชัชชาติ แม้จะเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่มีฐานเสียงจากสมาชิกสภาเขต สมาชิกสภา กทม.
และสภาผู้แทนราษฎร เป็นฐานเสียงก็ตาม แต่ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปและการตะลุยลงพื้นที่ต่อเนื่อง การเข้าถึงผู้นำชุมชนตัวจริงและประชาชนในชุมชน ทำให้กระแสตอบรับดีมาก
“เวลานี้อาจารย์ชัชชาติได้การตอบรับจากประชาชนทุกฝ่าย และชาวชุมชนก็ไม่รู้สึกว่าอาจารย์เป็นนักการเมือง ช่วงเข้าไปใหม่ๆ เขามองว่าอาจารย์เป็นเพื่อไทย คนที่ไม่เอาเพื่อไทย ก็ไม่ต้องการ แต่ตอนนี้เขารู้แล้วว่าอาจารย์ลงสมัครอิสระ เพื่ออาสามาทำงานให้ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน และสร้างให้ กทม.เป็นมหานครที่ดีกว่าเดิม จึงได้การตอบรับดีมาก”
ขณะเดียวกัน เมื่อทีม Better Bangkok มี DATA ที่สมบูรณ์ ทำให้เรารู้ว่าการเขย่าตัวเลขเพื่อให้รู้ว่าใครเป็นฐานเสียงใคร
และพรรคไหนชัดเจน ปัจจุบันกลุ่ม Gen-Z ซึ่งเกิดปี 2540-2555 อายุ 7-22 ปี ประมาณ 1 ล้านคน แต่จะแบ่งเป็นคนที่อายุ 18-22 ปี ประมาณ 350,000 คน คิดเป็นประมาณ 8% ของประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง
“ที่เราแบ่งและประเมิน 8 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้คาดว่าจะเลือกพรรคก้าวไกล แต่คนที่เป็นกลุ่ม Gen-Y จะมีถึง 30% อายุจะอยู่ในช่วง 23-38 ปี เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ และถ้าทุกอย่างเป็นไปตามยุทธศาสตร์ ตัวเลข 8% ก็จะมีการเปลี่ยนมาที่อาจารย์ชัชชาติได้ หากพรรคก้าวไกลยังไม่มีผู้สมัครให้เลือกส่งลงสมัคร”
อีกทั้งการทำงานลงพื้นที่ของนายชัชชาติ และ Better Bangkok นั้น ทำให้สามารถแก้ปัญหาที่ทำได้ก่อน ไม่ต้องรอเป็นผู้ว่าฯ กทม. เช่น การผลักดันให้สังคมได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “บ้านใกล้เรือนเคียง” ที่ได้ทำขึ้นมานั้น เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน ใกล้ ๆ ที่ทำงาน สามารถช่วยเหลือกันตามกำลังโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานกลาง
“ชุมชนเป็นกำลังสำคัญของธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน แม่ครัว รปภ. คนส่งของ ทำงานในละแวกนั้น เป็นกลุ่มเปราะบางในระดับเส้นเลือดฝอย ซึ่งการแก้ปัญหาในระดับเส้นเลือดฝอย จะช่วยลดปัญหาในระดับใหญ่ได้และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น”
แหล่งข่าวจากทีม Better Bangkok เล่าว่า มีหน่วยงานหนึ่งในกองบัญชาการตำรวจสันติบาลได้เข้ามาทำโพล ว่า หาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ประกาศจะลงสมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคพลังประชารัฐ นั้นคะแนนจะเป็นอย่างไรบ้าง
“ผลออกมาชี้ให้เห็นว่า บิ๊กแป๊ะ ไม่มีโอกาสชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เลย เขาไม่มีฐานเสียง จะหวังเพียง ส.ก.หรือ ส.ส.ที่เป็นฐานเสียงพรรคพลังประชารัฐอย่างเดียวไม่ได้ แบบนี้ พปชร. และบิ๊กแป๊ะ ก็คงต้องมาปรับยุทธศาสตร์กันใหม่”
ส่วนการเดินหน้าลงพื้นที่ของนายชัชชาติ และทีม Better Bangkok ที่ใช้ระยะเวลาร่วม 1 ปี และได้การตอบรับจากชุมชนและองค์กรต่างๆ ใน กทม.เป็นอย่างดี
จึงนับเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายชัชชาติ ยืนยันที่จะลงสมัครในนามอิสระ ไม่สังกัดพรรคหรือไม่กลับไปลงในนามพรรคเพื่อไทยแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ว่ากันว่า ยังมีประเด็นที่ลึกกว่านั้นที่รับรู้กันในระดับแกนนำพรรคเพื่อไทย
“อาจารย์ชัชชาติ เดินมาไกลแล้วจึงไม่ถอยกลับไปและอีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากสัญญาใจกับดูไบ และนายชัชชาติ ที่มีต่อกัน เพราะนี่คือเหตุผลที่ดูไบเชื่อว่าจะทำให้ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย มีโอกาสชนะในพื้นที่ กทม.อีกครั้งหนึ่ง”
แหล่งข่าวย้ำว่า นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการปรับโครงสร้างและเคลียร์ปัญหาภายในพรรคเพื่อไทยให้จบ และต้องการรักษานายชัชชาติ ไว้ให้ดีที่สุด ซึ่งก็รู้ดีว่าการให้นายชัชชาติ ลงสมัครอิสระ ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.มีแต่ผลดีต่อพรรคเพื่อไทย ทั้งในเรื่องผลงานที่นายชัชชาติทำไว้ และเขายังเป็นนักกลยุทธ์ที่เชี่ยวชาญและเข้าใจการเมืองทะลุ สามารถแยกมิตรและศัตรูได้ชัดเจน
“อาจารย์ชัชชาติ ได้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม นักวิชาการ นักปฏิบัติที่ครอบคลุม เคยวางยุทธศาสตร์ของประเทศ เป็นรัฐมนตรีคมนาคมมาแล้ว เป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และการเข้าไปลงพื้นที่เพื่อชิงผู้ว่าฯ กทม.ก็ได้เข้าไปจัดเก็บข้อมูลกันใหม่ หากพรรคหรือผู้สมัครคนใดได้ฐานข้อมูลนี้ไปก็สบาย”
ดังนั้น นโยบายการส่งผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคเพื่อไทยที่หัวหน้าพรรคและระดับแกนนำ รวมถึงกลุ่มคนเดือนตุลาฯ หรือกลุ่มแคร์ รับรู้กันก็คือ พรรคเพื่อไทยจะไม่ส่งใครลงแข่งชิงผู้ว่าฯ กทม.เพื่อไม่ให้ไปตัดคะแนนกันเอง แต่จะหนุนนายชัชชาติ
สิทธิพันธุ์ ลงสมัครอิสระสู้ศึกเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.แต่เพียงผู้เดียว!