xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมกายเร่งบอกบุญ-สร้างโรงเก็บ “มยุรนาวากาศ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วัดพระธรรมกายบอกบุญต่อเนื่อง งานครบรอบ 20 ปีคุณยายจันทร์ละสังขาร ถือโอกาสบอกบุญสร้างห้องจัดเก็บ “มยุรนาวากาศ” หลังใช้ในพิธีสลายร่างแม่ชีจันทร์เมื่อ 18 ปีก่อน เดิมหวังเก็บไว้ที่อาคาร 100 ปี แต่มีปัญหาไม่สามารถนำเข้าไปได้ เลยต้องสร้างที่เก็บใหม่ ขณะที่บุญอื่นมีกฐินทั่วไทย-ทั่วโลก ปลูกเบญจทรัพย์เตรียมรับธรรมยาตรา

ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 ที่ผ่านมากิจกรรมของวัดพระธรรมกายไม่มีอะไรหวือหวานัก มีเพียงการทำพิธีบูชาข้าวพระ และทอดผ้าป่าออนไลน์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทุกหน่วยงานต่างกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ และยังมีข้อห้ามของภาครัฐและมหาเถรสมาคมควบคุมอีกชั้นหนึ่ง

แม้ภายในวัดพระธรรมกายจะมีทั้งพระภิกษุ สามเณร และญาติธรรมต่างๆ นับพันคน แต่ทางวัดเองก็คุมเข้มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งการพักอาศัยตลอดจนถึงการปฏิบัติธรรมที่มีการเว้นระยะห่าง เจลทำความสะอาด และการสวมหน้ากากอนามัย

ช่วงนั้นวัดพระธรรมกายประสบปัญหาเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ ที่ไม่มีญาติโยมไปทำบุญทำให้มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายภายในวัด จนต้องออกกองทุนบำรุงวัดมาขอรับบริจาคผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีทางวัด จากนั้นทางวัดพระธรรมกายคุมเข้มสื่อภายในของทางวัดทุกอย่าง มิให้ภาพหรือข่าวสารด้านลบออกไปสู่สาธารณชนภายนอก แม้กระทั่งภาพปฏิบัติธรรมภายใน จึงทำให้ข่าวสารของวัดพระธรรมกายมีน้อยลงเป็นเพียงกิจกรรมบุญทั่วไป


20 ปีละสังขารคุณยายจันทร์

สำหรับงานบุญที่เพิ่งผ่านไปเมื่อ 10 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันละสังขารคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย ครบ 20 ปี ทางวัดได้จัดทำบุญให้กับคุณยายจันทร์

นับว่าเป็นงานบุญใหญ่อีกงาน เนื่องจากคุณยายจันทร์ หรือแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ถือเป็นบุคคลที่พระธัมมชโยให้ความเคารพและยกย่องให้เป็นครูบาอาจารย์คนสำคัญ

“ถ้าไม่มีคุณยาย ก็ไม่มีหลวงพ่อ ถ้าไม่มีหลวงพ่อ ก็ไม่มีวัดพระธรรมกาย”

วัดพระธรรมกายในวันนี้ที่ได้ชื่อว่า เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีคนมาประพฤติปฏิบัติธรรมมากที่สุดในโลก ล้วนมีคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทุกอย่างทุกประการ

เอกสารของวัดพระธรรมกายกล่าวยกย่องคุณยายจันทร์ว่า เช้ามืดของวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2543 คุณยายมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ท่านได้ละสังขารจากโลกนี้ไปอย่างผู้มีชัยชนะ ตลอดช่วงเวลาของชีวิตคุณยาย ท่านได้ฝึกฝนตนเอง และมอบคำสอนล้ำค่าไว้ให้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา ปิดนรก เปิดสวรรค์ ชี้หนทางพระนิพพาน นำพาความสุขที่แท้จริงให้กับเหล่าศิษยานุศิษย์ ตลอดจนชาวโลกอีกมากมาย ทั้งภพชาตินี้ และภพชาติต่อๆ ไป
หลังจากที่คุณยายอาจารย์มรณภาพลง พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธัมมชโยได้มีดำริให้สวดอภิธรรมติดต่อกันเป็นเวลา 500 วัน ณ บ้านแก้วเรือนทอง ซึ่งต่อมาคือพื้นที่ของโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ที่อยู่ในโซนด้านเหนือของสภาธรรมกายสากล หลวงพ่อธัมมชโยได้เลือกวันสลายร่างของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเป็นวันที่เดียวกับที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และคุณยายทองสุก สำแดงปั้น ได้มรณภาพลง และได้กำหนดให้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี คือ วันมหาปูชนียาจารย์

ในงานสลายร่างคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงนั้น พระธัมมชโยได้จัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่เพื่อบูชาธรรมครูที่ได้สอนวิชชาธรรมกายให้แก่ท่าน โดยถวายหนังสือฎีกาที่ได้ลงนามของท่านด้วยมือของท่านเอง เพื่อนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทั่วเมืองไทยจาก 30,000 วัดทั่วประเทศไทย เพื่อร่วมงานสลายร่างแก่คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ร่วมกับศิษยานุศิษย์ที่มาร่วมงานกว่า 2 แสนคน


บอกบุญสร้างโรงเก็บ 

ภายในงานเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2545 ทางวัดพระธรรมกายได้จัดสร้าง มยุรนาวากาศ เพื่อใช้ในการนำร่างคุณยายจันทร์ไปทำพิธีสลายร่างใกล้กับพระมหาธรรมกายเจดีย์ มยุรนาวากาศนี้จัดสร้างขึ้นเป็นรูปนกยูงขนาดใหญ่ มีความวิจิตรอลังการมาก นับเป็นอีกหนึ่งของการให้เกียรติคุณยายจันทร์อย่างยิ่งจากพระธัมมชโย

แม้พิธีสลายร่างคุณยายจันทร์จะผ่านไปแล้ว 18 ปี แต่มยุรนาวากาศยังถูกจัดเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงคุณยายจันทร์

คนที่ติดตามเรื่องของวัดพระธรรมกาย ตั้งแต่ช่วงที่พระธรรมชโยถูกตั้งข้อหารับของโจรจากกรณีทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น อาจจะได้เห็นบางพิธีกรรมของวัดแห่งนี้ว่ายิ่งใหญ่อลังการ แต่หากย้อนกลับไปในช่วงพิธีสลายร่างคุณยายจันทร์จะทราบดีว่าในช่วงปี 2545 นั้นกิจกรรมนี้ของวัดพระธรรมกายยิ่งใหญ่เพียงใด

ล่าสุดวัดพระธรรมกายได้บอกบุญเพื่อสร้างห้องจัดเก็บมยุรนาวากาศ “บุญพิเศษ สร้างโรงเก็บ มยุรนาวากาศ กองบุญทรัพย์อนันต์ เพื่อห้องประดิษฐาน มยุรนาวากาศ บุญใหญ่ที่ไม่ควรพลาด 6 กันยายน-4 ตุลาคม 2563”

ก่อนหน้านี้วัดพระธรรมกายได้บอกบุญ เพื่อสะพานและถนน มุ่งสู่โบสถ์พระไตรปิฎก ผ่านกองบุญทรัพย์อนันต์ ระหว่าง 12 กรกฎาคม - 2 ตุลาคม 2563

นับเป็นการใช้กองบุญทรัพย์อนันต์ถึง 2 วัตถุประสงค์ โดยเพิ่มเรื่องห้องจัดเก็บมยุรนาวากาศเข้ามาภายหลัง ซึ่งมยุรนาวากาศใช้มาเมื่อ 18 ปีที่แล้ว เดิมตั้งใจจะจัดเก็บไว้ในอาคาร 100 ปีคุณยายจันทร์แต่ติดขัดไม่สามารถนำเข้าไปได้ คราวนี้จึงต้องขอรับบริจาคสร้างห้องจัดเก็บ ผู้ที่บริจาคน่าจะได้รับพระของขวัญเป็นที่ระลึกด้วย


เข้าอาคาร 100 ปีไม่ได้

การบอกบุญเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี วันละสังขารคุณยายจันทร์ ทางทีมนครหลวง 17 อุบาสิกาของวัดพระธรรมกายได้ทำคลิปเชิญชวนให้ร่วมกันบริจาคห้องจัดเก็บมยุรนาวากาศ

“ยังจำได้นะคะ ปลายเดือนกันยายน ปี 2543 ปีนั้นหลวงพ่อเรียกประชุม 3 อาศรม ได้ทราบข่าวจากหลวงพ่อทัตตะว่า คุณยายอาจารย์ของเรา ท่านเดินทางกลับดุสิตบุรีไปแล้วค่ะ พอคุณยายละสังขาร หลวงพ่อท่านก็มีดำริให้สร้างมยุรนาวากาศในปี 2543 นั้นเลย มยุรนาวากาศใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยเพราะว่ามีความประนีต งดงามมากๆ เลยค่ะ ทั้งเรื่องของการลงสี การติดเพชรหลวงพ่อท่านเก็บในทุกๆ รายละเอียด เพื่อที่จะให้เทวรถที่จะอัญเชิญร่างของคุณยาย เป็นเทวรถที่ประณีตที่สุดและก็ดีที่สุด

3 กุมภาพันธ์ 2545 วันนั้นเป็นวันที่เราทุกคน ลูกหลานคุณยายทุกคน ได้เห็นเทวรถแบบปลื้มตาปลื้มใจมากๆ เพราะวันนั้นมยุรนาวากาศได้อัญเชิญสรีระร่างของคุณยายเพื่อที่จะนำมาสลายร่างที่มหาธรรมกายเจดีย์ ราวปี 2553 ที่วัดมีการก่อสร้างอาคาร 100 ปีคุณยาย มยุรนาวากาศก็เป็นแพลนหนึ่งที่จะนำไปประดิษฐานที่โถงของอาคาร 100 ปีคุณยาย แต่เนื่องด้วยสถาปัตย์ที่ไม่ลงตัว ก็ทำให้ยังไม่สามารถที่จะนำมยุรนาวากาศไปประดิษฐานที่อาคาร 100 ปีคุณยายได้ จนมาปัจจุบันก็เหมือนเป็นบุญจัดสรรที่ลงตัว กองบุญทรัพย์อนันต์ที่เราได้ร่วมกันสร้างสะพานที่จะมุ่งตรงไปสู่โบสถ์พระไตรปิฎก ก็ทำให้มยุรนาวากาศมีห้องประดิษฐานมยุรนาวากาศนะคะ กองบุญทรัพย์อนันต์เพื่อประดิษฐานมยุรนาวากาศบุญใหญ่ที่ไม่ควรพลาดในช่วงนี้ค่ะ”


กฐินธรรมกายทั่วไทย-ทั่วโลก

งานบุญต่อมาของวัดพระธรรมกายนั่นคือพิธีทอดกฐินทุกสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปี 2563 นี้ทางวัดกำหนดทอดกฐิน 193 ศูนย์ แบ่งเป็นภายในประเทศไทย 112 แห่ง ต่างประเทศแยกเป็น ศูนย์ภาคพื้นอเมริกา 20 วัด ศูนย์ภาคพื้นยุโรป 28 วัด ศูนย์ภาคพื้นเอเชีย โซนเอเชียตะวันออกบน 14 แห่ง และโซนภาษาจีน 7 วัด ภาคพื้นแอฟริกา วัดพระธรรมกายโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ 1 วัด ศูนย์ภาคพื้นโอเชียเนีย 11 แห่ง รวม 193 ศูนย์ทั่วประเทศและทั่วโลก เริ่ม 3 ตุลาคม 2563

งานบุญกฐินของวัดพระธรรมกายนั้น ไม่มีการเปิดเผยยอดเงินเหมือนกับวัดอื่นๆ ว่ากันว่าในแต่ละปีทางวัดจะได้เงินร่วมบุญเข้ามาเป็นจำนวนมาก แม้ในปีที่เกิดวิกฤตกับวัดพระธรรมกาย ยอดบริจาคยังสามารถทำได้ถึงหลักพันล้านบาท ส่วนในปีนี้จะได้มากน้อยแค่ไหนคงต้องรอช่วงออกพรรษาต้นเดือนตุลาคมไปก่อน แต่ปีนี้ก็น่าเป็นห่วงตรงที่ผู้คนทั่วไปต่างประสบกับสถานการณ์ Covid-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหา สถานการณ์ในประเทศไทยภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยก็ต้องปิดตัวลง ผู้คนตกงานไม่น้อย


เบญจทรัพย์-ธรรมยาตรา

อีกรายการหนึ่งคือ พิธีปลูกต้นเบญจทรัพย์ เริ่มปลูกเป็นวันแรกเมื่อ 2 กันยายน 2563 ถือว่าเป็นกิจกรรมที่วัดพระธรรมกายทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเอาดอกเบญจมาศ (เบญจทรัพย์) ที่ใช้เวลาปลูกราว 100 วันเศษ นำไปใช้โปรยบนทางเดินให้กับพระและสามเณรที่จะเข้าร่วมโครงการธรรมยาตรา ที่จัดขึ้นในช่วงต้นปีใหม่ ซึ่งปี 2564 ยังไม่กำหนดวันออกมา

แต่ในระยะหลังจะเป็นการเดินธรรมยาตราภายในสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อสดตามพื้นที่ต่างๆ และในวัดพระธรรมกาย ไม่ได้ออกมาเดินตามท้องถนนเหมือนก่อนซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

แม้ว่าหลังจากเกิดคดีความกับพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส ที่ได้หลบหนีคดีจนไม่ออกมาปรากฏตัวต่อสาธารณอีกเลย อาจจะดูเหมือนจุดรวมศรัทธาของวัดพระธรรมกายหายไป แต่กิจกรรมที่ทีมบริหารของวัดได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นับได้ว่ายังสามารถตรึงผู้คนให้ศรัทธาในแนวทางของวัดพระธรรมกายได้อยู่มิใช่น้อย






กำลังโหลดความคิดเห็น