xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปมธุรกิจ “ขายสิทธิ” จับลิขสิทธิ์เพลง ค่ายฟันรายได้อื้อ-ปล่อยบริษัทผีตบทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แฉค่ายเพลงน้อย-ใหญ่ ขาย “ใบมอบอำนาจ” จับลิขสิทธิ์เพลง กินเงินก้อน เปิดทางบริษัทตัวแทนตบทรัพย์-ฟันรายได้ แย้มเรตราคาหลักหมื่นถึงหลักแสน ขึ้นกับจำนวนเพลง ขอบเขตพื้นที่ และระยะเวลาครองสิทธิ “ทนายเจมส์” ชี้ผิดกฎหมาย เหตุขัดเจตนาของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ด้าน “เวสป้า” เผยเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนมีถึง 37 บริษัท ระบุบางรายตั้งตัวเป็นเอเยนต์ขายสิทธิต่อให้รายย่อย

กล่าวได้ว่า “การจับลิขสิทธิ์เพลง” ได้กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างค่ายเพลงกับผู้ประกอบการร้านอาหาร-ร้านคาราโอเกะมานานหลายปี และมีจำนวนไม่น้อยที่ตัวแทนในการจับลิขสิทธิ์ดำเนินการในลักษณะ “ตบทรัพย์” เพื่อเรียกเงิน มากกว่าจะจับลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของผลงาน แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ นอกจากจะตั้งตัวแทนไปจับลิขสิทธิ์เพลงแล้ว ปัจจุบันค่ายเพลงต่างๆ ยังเปิดธุรกิจใหม่ คือ “ธุรกิจขายใบมอบอำนาจในการจับลิขสิทธิ์เพลง” โดยทางค่ายมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายใบมอบอำนาจ ขณะที่ผู้ซื้อใบมอบอำนาจก็นำเอกสารดังกล่าวไปหากินจากการจับลิขสิทธิ์เพลง เรียกว่ารวยอู้ฟู่ไปตามๆ กัน

นายอิทธิพล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา หรือ “เวสป้า” โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง และกรรมการบริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย)
นายอิทธิพล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา หรือ “เวสป้า” โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง และกรรมการบริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจขาย “ใบมอบอำนาจจับลิขสิทธิ์” ของค่ายเพลงต่างๆ ว่า ทางค่ายจะขายใบมอบอำนาจเก็บลิขสิทธิ์ให้แก่ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลหรือบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ ซึ่งมีทั้งบริษัทที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมาย โดยเรตราคาจะมีตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน ขึ้นกับ (1) จำนวนเพลงที่มีสิทธิในการจับ (2) พื้นที่ในการจับลิขสิทธิ์ เช่น เมืองใหญ่ ต่างจังหวัด ขนาดของพื้นที่ที่มีสิทธิในการจับ และ (3) อายุของใบมอบอำนาจ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ที่ 6 เดือน - 1 ปี โดยการขายใบมอบอำนาจนั้นค่ายเพลงสามารถขายให้กับหลายๆ เจ้าพร้อมกัน แต่ละเจ้าก็ไปหารายได้จากการจับลิขสิทธิ์เอาเอง ซึ่งบริษัทที่ซื้อใบมอบอำนาจก็มีทั้งที่ไปจับเอง และเป็นเอเยนต์ขายใบมอบอำนาจต่อให้แก่รายย่อยอีกที

“ค่ายเพลงที่ทำธุรกิจขายใบมอบอำนาจจับลิขสิทธิ์นั้นมีทั้งค่ายเล็กและค่ายใหญ่ บางค่ายนอกจากตั้งบริษัทไปจับลิขสิทธิ์เองแล้วยังขายในมอบอำนาจจับลิขสิทธิ์ด้วย คิดดูว่าแต่ละค่ายมีเพลงอยู่ในมือเท่าไหร่ และบริษัทที่หากินกับการจับลิขสิทธิ์มีเท่าไหร่ ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย เป็นบริษัทผีก็มี เฉพาะบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็มีถึง 37 บริษัทแล้ว บางคนมีสำนักงานกฎหมายก็ไปซื้อใบมอบอำนาจมา คิดดูว่าแต่ละปีค่ายมีรายได้จากตรงนี้เท่าไหร่ คนที่ซื้อใบมอบอำนาจมาก็มาฟันกำไรต่อ สมมติคืนนี้ลงตรวจโซนร้านเหล้า 10 ร้าน เก็บร้านละ 4,000 บาท คืนเดียวก็ได้ 4 หมื่นแล้ว ทางค่ายไม่สนใจว่าคนที่ซื้อใบมอบอำนาจจะไปหาประโยชน์ยังไง เอาไปใช้ตบทรัพย์หรือเปล่า” นายอิทธิพลกล่าว

นายนิติธร แก้วโต หรือ “ทนายเจมส์” ทนายที่คร่ำหวอดในการทำคดีลิขสิทธิ์
จากกรณีดังกล่าวจึงมีคำถามตามมาว่า การที่ค่ายเพลงลุกขึ้นมาทำธุรกิจขายใบมอบอำนาจจับลิขสิทธิ์เพลงนั้น ในทางกฎหมายแล้วสามารถทำได้หรือไม่ นายนิติธร แก้วโต หรือ “ทนายเจมส์” ทนายที่คร่ำหวอดในการทำคดีลิขสิทธิ์ อธิบายเรื่องนี้ว่า หลักการในการดำเนินคดีลิขสิทธิ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของผู้สร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งในกรณีนี้ก็คือค่ายเพลง นักร้อง และนักแต่งเพลง การจับลิขสิทธิ์เพลงจะดำเนินการโดยค่ายเพลง โดยทางค่ายจะอ้างว่านักร้องและนักแต่งเพลงได้มอบลิขสิทธิ์ให้แก่ค่ายแล้ว ซึ่งในการจับลิขสิทธิ์เพลงนั้นกฎหมายไม่ได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจในการดำเนินการจับและดำเนินคดีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยทางค่ายสามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนไปดำเนินการการได้ แต่การมอบอำนาจนั้นต้องไม่ใช่การ “ขายสิทธิ์” ในการดำเนินการ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวไม่ได้มุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ผลิตและผู้สร้างสรรค์ผลงานดังนั้น หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการขายสิทธิ ก็ถือว่าผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ด้านนายอิทธิพลชี้ว่า การจะเอาผิดต่อค่ายเพลงในเรื่องดังกล่าวนั้นดูจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากทั้งบริษัทที่ซื้อใบมอบอำนาจและทางค่ายต่างก็ไม่ยอมรับว่ามีการซื้อขาย โดยอ้างว่าเป็นการว่าจ้างให้ตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ หากผู้ที่จับลิขสิทธิ์ไปจับเพื่อตบทรัพย์แล้วเรื่องแดงขึ้นมา ทางค่ายเพลงก็มักอ้างว่าบุคคลดังกล่าวเคยเป็นพนักงานของบริษัทที่ค่ายแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนดำเนินการแต่ปัจจุบันได้ลาออกไปแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบมาถึงค่าย


ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านคาราโอเกะจำนวนไม่น้อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากบริษัทตัวแทนลิขสิทธิ์ที่หากินโดยมิชอบ ในเรื่องนี้ ทนายเจมส์ ได้แนะช่องทางด้านกฎหมายไว้ว่า ในการจับลิขสิทธิ์เพลงนั้น มีสิทธิในลิขสิทธิ์อยู่ 2 ส่วน คือ

1)ลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข ถือเป็นสิทธิของค่ายเพลงเนื่องจากมีการทำสัญญาซื้อสิทธิจากผู้แต่งเพลงแล้ว อย่างไรก็ดี ในอดีตค่ายเพลงมักจะทำสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ในส่วนนี้เพียงส่วนเดียว

2)ลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน เนื่องจากในอดีตค่ายเพลงไม่ได้ทำสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ในส่วนนี้จากนักแต่งเพลง ดังนั้น เพลงเก่าตั้งแต่ยุค 90 ขึ้นไปส่วนใหญ่ค่ายเพลงจะมีแค่ลิขสิทธิ์เดิม คือ การทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข ไม่ได้มีลิขสิทธิ์การเผยแพร่ แต่หลังจากปี 2540 หากเป็นเพลงใหม่ค่ายเพลงส่วนใหญ่จะเพิ่มสัญญาลิขสิทธิ์การเผยแพร่เขาไปด้วย แต่ก็มีเหมือนกันที่ทางค่ายเรียกนักแต่งเพลงเก่าตั้งแต่ยุค 90 ขึ้นไป ไปทำสัญญาซื้อลิขสิทธิ์การเผยแพร่

ในแง่ของกฎหมายนั้น เนื่องจากการที่ร้านอาหาร-ร้านคาราโอเกะ ทำการร้องหรือเปิดเพลงเพื่อเอนเตอร์เทนลูกค้า ถือเป็นเรื่องของการเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างเดียว ไม่ใช่การทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข ดังนั้น หากมีการจับลิขสิทธิ์เพลง ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะต่างๆ ต้องขอดูเอกสารว่าค่ายเพลงมีลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน “ของเพลงนั้นๆ” ด้วยหรือไม่ หากไม่มี ผู้รับมอบอำนาจและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถดำเนินคดีต่อผู้ประกอบการได้

ทนายเจมส์กล่าวต่อว่า เนื่องจากการมอบอำนาจในการจับลิขสิทธิ์เพลงให้แก่บริษัทเก็บลิขสิทธิ์ไม่ใช่การมอบอำนาจแบบถาวร โดยค่ายเพลงจะระบุวันครบกำหนดไว้ชัดเจน ดังนั้น จุดสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องดูอีกจุด คือ ใบมอบอำนาจในการจับลิขสิทธิ์เพลงของผู้ที่เข้ามาตรวจสอบหมดอายุเมื่อไหร่ หากวันที่เข้ามาจับเลยวันที่ครบกำหนดไปแล้วก็ไม่มีอำนาจจับ

“หากร้านอาหารนำซีดีเพลงของแท้ที่ค่ายจำหน่ายมาเปิดให้ลูกค้าฟัง ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ถ้าค่ายไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์การเผยแพร่เพลงที่เรานำมาเปิด ลิขสิทธิ์นี้ก็ยังเป็นของครูเพลง ไม่ใช่ของค่าย ค่ายจึงไม่มีสิทธิมาเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์จากผู้ประกอบการ ตัวแทนค่ายต้องมีเอกสารมายืนยัน แต่ถ้าเป็นแผ่นก๊อปนี่เสร็จเลย ที่สำคัญต้องดูด้วยว่าใบมอบอำนาจหมดอายุหรือยัง” ทนายนิติธรกล่าว

สุดท้ายเมื่อการจับลิขสิทธิ์เพลงกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ก้อนใหญ่ให้แก่ค่ายเพลง และบริษัทตัวแทน สิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร-ร้านคาราโอเกะทำได้ก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงการเปิดเพลงที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ในการเปิดเพลงจากค่ายโดยตรงเพื่อป้องกันความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นตามมา


กำลังโหลดความคิดเห็น