สภาอุตฯ ชี้หลังวิกฤตโควิด-19 ไทยมีโอกาสด้านการลงทุน เหตุหลากหลายปัจจัยหนุน ทั้งอินฟราสตรักเจอร์-โลจิสติกส์ทันสมัย สารพัดเมกะโปรเจกต์ เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า ค่าครองชีพต่ำ อีกทั้งหลายอุตสาหกรรมของไทยมีแนวโน้มเติบโตหลังโควิด-19 สอดคล้องต่อผลการจัดอันดับซึ่งไทยติดอันดับ 1 ของโลก เป็นประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ ด้าน “ผศ.ดร.สมชาย” ระบุ ค่าแรงและทักษะฝีมือยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุน
หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มดีขึ้น และรัฐบาลประกาศคลายล็อก หลายกิจการสามารถกลับมาดำเนินการได้ ทำให้เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้นอีกครั้ง ขณะที่มีเสียงชื่นชมจากทั่วโลกว่าไทยรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้ดีเยี่ยม ผลกระทบของโควิด-19 ต่อระบบเศรษฐกิจไทยจึงไม่รุนแรงเท่ากับประเทศยักษ์ใหญ่อีกหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่ไทยจะถูกจับตาว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าลงทุนหลังวิกฤตโควิด-19
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนหลังจากวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย อันได้แก่
1.ประเทศไทยมีการแพทย์และสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี
2.ไทยมีโครงการเมกะโปรเจกต์หลายโครงการที่เชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน
3.มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นเขตการลงทุนที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี โลจิสติกส์ สิทธิพิเศษ และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุน
4.ไทยมีความพร้อมด้านอินฟราสตรักเจอร์
5.มีโลจิสติกส์ที่สะดวกรวดเร็วและทันสมัย ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ
6.ไทยมีกฎระเบียบที่ทันสมัย
7.มีค่าครองชีพต่ำ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ดีในการอยู่อาศัยของนักลงทุนและพนักงาน
8.มีแรงงานที่มีทักษะฝีมือ
9.ไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าของภูมิภาคแถบนี้
“มีองค์ประกอบหลายอย่างที่สนับสนุนให้ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน เช่น เรามี EEC ที่มีระบบรองรับการผลิตและการส่งออก เราเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านก็มีโอกาสเติบโตและมีกำลังซื้อ ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนไทยจึงมีโอกาสในการขายสินค้าให้แก่ประเทศเหล่านี้” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว
ความเห็นดังลก่าวสอดคล้องกับ ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง อดีตคณบดี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับศักยภาพของประเทศไทย ผ่านบทความ "ประเทศไทยจะบูมหลังโควิด" ที่นำเสนอผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ประเทศไทยต้องชนะ” ว่า ในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติต่างเห็นพ้องว่า ประเทศไทยปลอดภัยที่สุด และเป็นทางเลือก “อันดับต้นๆ” ของโลกที่เศรษฐีต่างชาติกำลังตัดสินใจย้ายมาพำนัก เนื่องจากมีระบบการดูแลรักษา ระบบการแพทย์ และการพยาบาลที่ดีที่สุด
ขณะที่ U.S.News & World Report ได้เผยผลการจัดอันดับ “ประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก” ประจำปี 2563 หรือ Best Countries to Start a Business 2020 ให้ "ประเทศไทย" ติดอันดับที่ 1 ของโลก ในแง่ประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ จากทั้งหมด 73 ประเทศทั่วโลก โดยมีอันดับ 2-10 เรียงตามมาโดยลำดับ ดังนี้คือ มาเลเซีย จีน สิงคโปร์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ อินโดนีเซีย และแคนาดา (ข้อมูลอ้างอิง https://www.usnews.com/news/best-countries/best-start-a-business) โดยการจัดอันดับดังกล่าวเป็นผลจากการสำรวจความคิดเห็นของบุคคลระดับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจของธุรกิจจำนวนเกือบ 6,000 ราย พิจารณาจาก 5 ปัจจัยหลักๆ คือ ต้นทุนการดำเนินการ ระบบราชการ-กฎระเบียบต่างๆ ต้นทุนการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และการเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย
อีกทั้งหลายฝ่ายมองว่าไทยมีความได้เปรียบด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นปัจจัยหนุนที่สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน โดยจากการจัดอันดับ “ความมั่นคงทางสาธารณสุข” หรือ health security ranking โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ปรากฏว่า ไทยมีความมั่นคงด้านสุขภาพ อันดับที่ 6 จาก 195 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย (เผยแพร่ล่าสุดเดือน ต.ค.2562) อีกทั้งไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่เข้าอันดับ 1 ใน 10 ของโลกด้วย
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยยังได้รับการยกย่องให้เป็น “ประเทศที่มีการป้องกันโรคระบาดอย่างดีเยี่ยม มีความพร้อมในการรับมือต่อการระบาดของโรคมากที่สุด” ซึ่งมีเพียง 13 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น
นอกจากนั้น ประเทศไทยยังติดอันดับ 2 จาก 189 ประเทศที่ดีที่สุดใน “การฟื้นตัวจากโควิด-19” จากข้อมูลดัชนีโควิด-19 ระดับโลก (Global COVID-19 Index) ซึ่งจัดทำโดยองค์กรระดับต้นๆ ของมาเลเซียและองค์การอนามัยโลก
อีกทั้งแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมให้ไทยยังคงเป็นประเทศที่น่าลงทุน โดยจากข้อมูลพบว่า แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน แต่มีบางอุตสาหกรรมของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังยุคโควิด-19 ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาหาร และบรรจุภัณฑ์
ขณะที่ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ได้คาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจหลัง COVID-19 ว่ามีหลายธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็ว ได้แก่ ธุรกิจการขนส่งสินค้า ธุรกิจสื่อสาร คลังสินค้า ธุรกิจรับส่งของ ผลิตภัณฑ์อาหาร ธุรกิจสุขภาพ (การแพทย์และอนามัย) ธุรกิจขายปลีกสมัยใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจผลิตอุปกรณ์วิทยาศาสตร์/การแพทย์ ธุรกิจผลิตอะไหล่รถยนต์/รถจักรยานยนต์ ธุรกิจประกันสุขภาพ และการศึกษาออนไลน์
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่าปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยคือเรื่องแรงงาน ทั้งในด้านค่าแรงที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และคุณภาพฝีมือแรงงานที่ยังด้อยกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ทั้งนี้ผลกระทบจากโควิด-19 ก็ทำให้สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไป โดยจีนมุ่งส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จีนจะใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ
“จะเห็นได้ว่าสินค้าระดับไฮเอนด์จะมุ่งลงทุนในสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งมีทักษะฝีมือดีกว่าไทย ขณะที่การผลิตที่ไม่เน้นแรงงานฝีมือก็จะย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งมีค่าแรงถูกกว่าไทย นอกจากนั้น เวียดนามยังมีข้อตกลงกับสหภาพยุโรปว่าสินค้าที่ผลิตในเวียดนาม ถ้าส่งไปสหภาพยุโรปไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งถือเป็นจุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
สำหรับปัญหาเรื่องการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น ประธานสภาอุตสาหกรรมประเทศไทย ชี้ว่า จริงๆ แล้วมีทั้งย้ายฐานการผลิตออกไปและย้ายเข้ามา ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ ค่าแรง และซัปพลาย เชน โดยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า และผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้การขนส่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีปัญหา จึงมีการย้ายฐานการผลิตเพื่อเปลี่ยนจาก Global Supply Chain เป็น Local Supply Chain เพื่อป้องกันปัญหาในการขนส่งวัตถุดิบ
“ต้องยอมรับว่าไทยยังเสียเปรียบเรื่องค่าแรงที่สูงกว่า แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมหันมาใช้เครื่องจักรมากขึ้นจึงต้องใช้แรงงานฝีมือซึ่งก็เหมาะกับทักษะของแรงงานไทย ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีหลายบริษัที่ย้ายฐานการผลิตมาไทย เช่น บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์เปอเรชั่น หรือ WD ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์สัญชาติอเมริกัน ซึ่งย้ายฐานการผลิตจากมาเลเซียมายังประเทศไทย ขณะที่ธุรกิจยานยนต์ก็มีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตจากอินโดนีเซียมาไทยเพราะเรามีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่มาก ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาซัปพลายเชน” นายสุพันธุ์ ระบุ