xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ฯ ธรรมกายยึดโมเดลยานแม่บอกบุญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างจังหวัดเครือข่ายวัดพระธรรมกาย เน้นบอกบุญสิ่งปลูกสร้าง-ซื้อที่ดินขยายอาณาเขต ไม่พบเดือดร้อนเรื่องภัตตาหารหรือค่าใช้จ่ายในวัด ยึดสูตรเดียวกับวัดพระธรรมกายคลองหลวงเคยใช้ ศูนย์แก้วโก-ลก เลือกสร้างพระประจำตัว 2,222 บาท ศูนย์โพธารามเตรียมทอดผ้าป่าออนไลน์ เหมือนงานวันเกิดพระธัมมชโย ติดตั้งโคมไฟโซลาร์เซลล์ประหยัดไฟ 92 แห่ง 1,587 โคม โคมละ 1,000 บาท แจ้งได้อานิสงส์ร่วมบุญนานัปการ


มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือทั้งภาคประชาชน ภาคเกษตรกรและกลุ่มต่างๆ อีก และหนึ่งในนั้นคือกลุ่มของพระสงฆ์ที่ได้รับผลกระทบจากการที่พุทธศาสนิกชนไม่สามารถเดินทางไปทำบุญในวันสำคัญต่างๆ ทางศาสนาได้

การเยียวยาพระสงฆ์ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า มีเงินกองทุนวัดช่วยวัด ที่มาจากพระสงฆ์รวมเงินเพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือกันในช่วงเวลาเดือดร้อน พระสงฆ์ได้รับการเยียวยารูปละ 40 บาทต่อวัน 20,000 รูป เป็นเวลา 30 วัน

โดยรัฐบาลได้ช่วยเหลือเบื้องต้นในการมอบเงินเพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก เจลล้างมือ ถวายแด่พระภิกษุ สามเณร ด้วยการปรับงบประมาณปี 2563 จากแผนงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 22.62 ล้านบาท นำมาช่วยเหลือพระ โดยนำไปให้วัดศูนย์กลางระดับจังหวัด 92 วัด วัดละ 5 หมื่นบาท รวม 4.6 ล้านบาท และวัดศูนย์กลางระดับอำเภอ จำนวน 901 วัด วัดละ 2 หมื่นบาท รวมเป็นเงิน 18.02 ล้านบาท

พร้อมทั้งเสนอเรื่องต่อรัฐบาลให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์ทั่วประเทศ 2.5 แสนรูป จากวัด 42,000 แห่ง ตัวเลขเงินให้ความช่วยเหลืออยู่ที่ 60 บาทต่อวันต่อรูป เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ 91 วัน แต่อาจขยับขึ้นไปที่ 100 บาทต่อวันต่อรูป หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

เงินช่วยเหลือดังกล่าวหากได้รับการอนุมัติจะมีการโอนเงินเข้าไปที่วัด เพื่อให้ทางวัดได้บริหารจัดการกันเอง เนื่องจากบางแห่งไม่ได้เดือดร้อนเรื่องภัตตาหารแต่อาจเดือดร้อนเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของทางวัด

ธรรมกายพระเยอะ

วัดที่มีพระภิกษุและสามเณรมากก็จะได้รับการจัดสรรมากตามจำนวน ถือว่าเป็นสิทธิของทุกวัดที่จะได้รับความช่วยเหลือที่เท่าเทียมกัน อย่างวัดพระธรรมกาย ตามที่ทางวัดแจ้งต่อสาธารณะว่า มีพระ-เณร 2,200 รูป หากรัฐให้ความช่วยเหลือที่ 60 บาทต่อวันต่อรูปก็จะได้รับเงิน 132,000 บาทต่อวัน ระยะเวลา 91 วันเป็นเงิน 12.012 ล้านบาท

เนื่องจากปัญหาของแต่ละวัดไม่เหมือนกัน อย่างของวัดพระธรรมกายออกมาตรการป้องกัน COVID-19 งดบิณฑบาต งดรับกิจนิมนต์ ตรงนี้อาจมีปัญหาเรื่องภัตตาหารแต่ละมื้อ และยังมีเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟที่ต้องจ่ายอีก แต่ทางวัดก็ได้ปลูกผัก กินเจ และบอกบุญ ทอดผ้าป่าทางออนไลน์ เปิดรับบริจาคเข้ากองทุนบำรุงวัด

ส่วนวัดตามต่างจังหวัดพระยังบิณฑบาตได้ ก็นำไปใช้ในเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟต่างๆ แทน


สร้างพระประจำตัว


ในเรื่องของภัตตาหาร เรื่องที่พบส่วนใหญ่เป็นการบอกบุญเพื่อสิ่งปลูกสร้างที่ขาดแคลน ซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อขยายพื้นที่ของศูนย์ปฏิบัติธรรมออกไป และจัดซื้อโคมไฟโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า

อย่างศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก นราธิวาส ได้กำหนดทอดผ้าป่าสร้างกุฏิพระและหอฉัน มาตั้งแต่ 15 มีนาคม 2563 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดจึงทำให้ทางศูนย์ต้องมาบอกบุญกับทางผู้ศรัทธาอีกครั้งตามช่องทางสื่อออนไลน์ของศิษย์วัดพระธรรมกาย

ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมสร้างองค์พระประจำตัว ประจำวันเกิดหรือเดือนเกิด หรือสร้างอุทิศแด่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อนำไปประดิษฐานหลังองค์พระประธาน ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ร่วมบุญองค์ละ 2,222 บาท รวม 222 องค์ และบอกบุญสร้างกุฏิที่พักสงฆ์ จารึกชื่อ ชื่อละ 999 บาททั้งหมด 99 ชื่อ ปัจจัยหลังหักค่าใช้จ่ายนำไปจ่ายค่างวด งวดละ 350,000 บาท ที่ยังเหลืออยู่อีก 3 งวดสุดท้าย

ปัจจุบันยังไม่มีกุฏิที่พักสงฆ์และโรงครัว ตอนนี้กำลังก่อสร้างกุฏิที่พักสงฆ์และโรงครัว ติดกระเบื้องมุงหลังคาและจะแล้วเสร็จในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าที่จะถึงนี้

สูตรเดียวกับวัดพระธรรมกาย


สิ่งที่น่าสนใจของศูนย์ฯ ดังกล่าว คือ เชิญชวนร่วมสร้างพระประจำตัว เหมือนกับที่วัดพระธรรมกายเคยบอกบุญสร้างพระประจำตัว 1 ล้านองค์ ประดิษฐานที่มหาธรรมกายเจดีย์ แต่ที่นี่จะนำไปประดิษฐานหลังองค์พระประธาน

พระประจำตัวที่ใช้ประดิษฐานที่มหาธรรมกายเจดีย์ร่วมบุญที่องค์ละ 15,000 บาท ผู้บริจาคจะได้พระที่ระลึกที่ทำมาจากเรซิน เป็นพระธรรมกายรุ่นปิดเจดีย์ เหมือนกับที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วโก-ลก นำมาบอกบุญองค์ละ 2,222 บาท จำนวน 222 องค์ เป็นเงิน 493,284 บาท เนื่องจากเป็นเพียงศูนย์ปฏิบัติธรรม การปลูกสร้างต่างๆ จึงไม่ใหญ่โตนัก

พร้อมทั้งแจ้งอานิสงส์ของการสร้างพระประจำตัว ที่เป็นข้อความเดียวทางวัดพระธรรมกายดังนี้

1.ทำให้กำลังใจสูงส่ง และมีอานุภาพที่เกิดจากอำนาจพุทธคุณ แผ่คุ้มครองป้องกันภัย สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้โดยง่าย
2.ทำให้เกิดในตระกูลสูง เป็นตระกูลสัมมาทิฐิ เป็นที่เคารพกราบไหว้ของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
3.ทำให้เป็นผู้ที่มีรูปร่างงาม ผิวพรรณวรรณะผ่องใส ร่างกายได้สัดส่วน สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
4.ทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด รู้เหตุ รู้ผล สามารถประกอบกิจการงานต่างๆ สำเร็จได้โดยง่าย
5.ทำให้เป็นสัมมาทิฐิ มีความเห็นถูกต้อง มีความคิดดี คิดสร้างสรรค์ประโยชน์ และความสุขให้แก่ตนเองและเพื่อนร่วมโลก
6.ทำให้จิตใจหนักแน่นมั่นคงในธรรมะ ใจไม่ตกไปในอกุศลธรรม มีใจน้อมไปในสมาธิ ทำให้ปฏิบัติธรรมเข้าถึงพระธรรมกายได้โดยง่าย
7.ทำให้เข้าถึงฐานะอันเลิศจะเกิดในที่ใดก็สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ทั่วโลกกิยทรัพย์และอริยาทรัพย์ ติดตัวไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
8.ทำให้ไปตัดรอนวิบากกรรมเก่าที่ตนได้เคยผิดพลาดทำมาตั้งแต่ในอดีตชาติให้เบาบางลง
9.ทำให้ผลบุญนี้ติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ และดึงดูดให้มาสร้างบารมีร่วมกันตราบวันถึงที่สุดแห่งธรรม



ผ้าป่าออนไลน์

ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมโพธาราม ราชบุรี เรียนเชิญสาธุชนผู้มีบุญทุกท่าน ร่วมเป็นเจ้าภาพกองบุญผ้าป่าสามัคคีออนไลน์ ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมโพธาราม ราชบุรี 28 มิถุนายน 2563 เพื่อสร้างทุกสิ่งและเป็นการสนับสนุนการเผยแผ่งานพระพุทธศาสนา กัลยาณมิตรผู้มีบุญทุกท่านสามารถร่วมเป็นเจ้าภาพกองผ้าป่าสามัคคีออนไลน์ได้ กองละ 500 บาท

นับเป็นการใช้แนวทางทอดผ้าป่าออนไลน์ที่วัดพระธรรมกายเคยใช้มาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิดปีที่ 76 ของพระธัมมชโย เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่มีข้อจำกัดทั้งพระราชกำหนดฉุกเฉิน และคำสั่งของมหาเถรสมาคม

โคมไฟโซลาร์เซลล์


ศูนย์ปฏิบัติธรรมเพชรบูรณ์ แจ้งข่าวบุญ ถวายโคมไฟ โซลาร์เซลล์ 70 วัตต์ จำนวน 10 โคม ราคาโคมละ 1,000 บาท เพื่อเป็นไฟส่องสว่างในศูนย์ปฏิบัติธรรม เพื่อป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ตลอดจนเพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า โคมละ 100 บาทต่อเดือนหรือ 1,000 บาทต่อเดือน พร้อมทั้งแจ้งอานิสงส์การถวายโคมไว้ว่า การจุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชานั้น มีอานิสงส์มากมาย ทำให้เกิดทิพยวิมานที่สว่างไสว มีทิพยสมบัติที่สมบูรณ์ และได้เสวยทิพยสมบัติตลอดกาลนาน และเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้อานิสงส์ ดังนี้

1.ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เป็นผู้รู้คุณของพระรัตนตรัย มีศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย เป็นเหตุให้ได้สร้างบารมียิ่งๆ ขึ้นไป
2.เป็นคนมีความเคารพ มีสัมมาคาราวะต่อพระรัตนตรัย ต่อบิดามารดา อุปัชฌาย์ อาจารย์
3.เป็นผู้มีดวงตาสดใส สวยงาม มองเห็นได้ชัดเจน มองเห็นได้ไกล เห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
4.ทำให้ได้ทิพยจักษุ คือ มีตาทิพย์ เห็นภพภูมิอันเป็นทิพย์ ทำให้เกิดสัมมาทิฐิชัดเจนยิ่งขึ้น
5.มีผิวพรรณผ่องใส เป็นที่เลื่อมใสต่อมหาชนทั้งหลาย ใครเห็นแล้วก็สบายใจอยากเข้าใกล้คบหาพูดคุยด้วย
6.มีรัศมีกายสว่างไสว มีสติสัมปชัญญะที่มั่นคง ไม่ประมาทในชีวิต ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองตลอดไป
7.ทำให้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ปฏิภาณว่องไว แตกฉานในสรรพวิชาทั้งหลาย ทั้งทางโลกและทางธรรม
8.ไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือ ในกำเนิดสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน
9.ทำให้เมื่อปฏิบัติธรรมก็จะบรรลุธรรมได้เร็ว ไม่ลำบากนาน บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
สำหรับโครงการถวายโคมไฟโซลาร์เซลล์ให้แก่ศูนย์ปฏิบัติธรรมในสายของวัดพระธรรมกายตามพื้นที่ต่างๆ นั้น ได้ดำเนินการไปแล้ว 92 แห่ง จำนวน 1,587 โคม โคมละ 1,000 บาท ทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าไปได้ 158,700 บาทต่อเดือน



ซื้อที่ดิน

อีกรูปแบบหนึ่งคือการขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพซื้อที่ดินส่วนต่อขยาย อย่างเช่นที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จำนวน 9 ไร่ 2 งาน จากที่ดินปัจจุบันที่มีอยู่ 5 ไร่ 1 งาน หากสำเร็จทางศูนย์ฯ จะมีที่ดิน 14 ไร่ 3 งาน บอกบุญกองละ 750 บาท เช่นเดียวกับที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ของเชิญร่วมบุญซื้อที่ดิน 7 ไร่ ไร่ละ 7 แสนบาท

ส่วนวัดป่าอุบลแก้ว ได้บอกบุญงานปูพื้นอุโบสถ ใช้หินอ่อน คนละ 99 บาท จารึก 1 ชื่อ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยบอกบุญร่วมสร้างอุโบสถสไตล์ล้านช้าง โดยแจ้งความคืบหน้างานก่อสร้างฝ้าไม้สักมูลค่า 4 ล้านบาทใกล้เสร็จสิ้น

จะเห็นได้ว่าวัดหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมในสายของวัดพระธรรมกาย ไม่ได้ร้องขอในเรื่องของภัตตาหารหรือเรื่องค่าใช้จ่ายภายในวัด แต่ร้องขอส่วนของสิ่งปลูกสร้างเกือบทั้งสิ้น

บางศูนย์ฯ ใช้โมเดลเดียวกับวัดพระธรรมกายมาเป็นแนวทาง เช่น สร้างพระประจำตัวหรือทอดผ้าป่าออนไลน์ ไม่ว่าจะบอกบุญด้วยวัตถุประสงค์ใด มักจะมีการแจ้งถึงอานิสงส์ของการทำบุญควบคู่มาด้วยเสมอ แม้บางข้อความจะยากต่อการพิสูจน์




กำลังโหลดความคิดเห็น